คลังเก็บป้ายกำกับ: น้ำนมมารดาในระยะแรกหลังคลอด ตอนที่ 2

น้ำนมมารดาในระยะแรกหลังคลอด ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ทุก ๆ ครั้งที่ทารกดูดนมจากเต้าจะมีกระตุ้นการหลั่งโปรแลกติน (ฮอร์โมนที่สร้างน้ำนม) จากต่อมใต้สมองส่วนหน้าและออกซิโตซิน (ฮอร์โมนที่ขับน้ำนมพุ่ง) จากต่อมใต้สมองส่วนหลัง  ฮอร์โมนออกซิโตซินจะกระตุ้นให้เซลล์เยื่อบุกล้ามเนื้อที่อยู่รอบ ๆ ต่อมน้ำนมหดตัว ส่งให้น้ำนมไหลผ่านท่อน้ำนมไปยังหัวนม โดยเรียกกลไกนี้ว่า กลไกน้ำนมพุ่ง (milk ejection reflex) หรือกลไกการไหลของน้ำนม (let-down reflex) ซึ่งมารดาอาจสังเกตได้จากการที่มีความรู้สึกคล้ายมีเข็มหมุดหรือเข็มมาสัมผัสที่ในเต้านม หรือมีระลอกคลื่นของความร้อนผ่านมาจากในเต้านม ขณะที่มารดาบางคนอาจไม่รู้สึกอะไรเลย แต่จะสังเกตเห็นน้ำนมหยดออกมาจากหัวนม เมื่อน้ำนมเริ่มไหล ทารกจะเปลี่ยนวิธีที่ขยับปากในรูปแบบที่มีการเคลื่อนของขากรรไกรที่กว้างขึ้น และมีการขยับของลิ้นลง ซึ่งจะส่งผลให้ความดันในช่องปากของทารกลดลง และเกิดการไหลของน้ำนมเพิ่มขึ้น เมื่อมีการไหลของน้ำนม จะส่งผลให้ทารกเกิดการกลืนเป็นจังหวะอย่างช้า ๆ และอาจได้ยินเสียง “โกวะฮ์ (cuh)” ที่เป็นเสียงจากการกลืนเบา ๆ  โดยที่การกลืนน้ำนมของทารก จะเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีว่าทารกดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ1

เอกสารอ้างอิง

1.        Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.