การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับการวิจัย:จากงานประจำสู่งานวิจัยเพื่อรับใช้สังคม ตอนที่ 2

ศ.ดร.สุสัณหา ยิ้มแย้ม

แนวทางในการพัฒนาหัวข้องานวิจัยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

การพัฒนาหัวข้อ/โจทย์ในการวิจัย

? ? ? ? ? ?ในการพัฒนาโจทย์วิจัยอาจจะเริ่มจากปัญหา/คำถามวิจัยที่ได้จากงานประจำที่รับผิดชอบดำเนินการอยู่ และต้องการจะแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาต่อยอดหรือขยายผลงานที่ทำอยู่? โดยใช้กระบวนการหาคำตอบด้วยวิธีการที่น่าเชื่อถือ เพื่อใช้ตัดสินใจในการพัฒนาคนและพัฒนางานในระบบสุขภาพ? ทั้งนี้งานวิจัยนั้นจะต้องมีคุณลักษณะดังนี้

  • เป็นงานอิสระทางวิชาการและสามารถประยุกต์ใช้กับงานประจำ
  • เป็นเครื่องมือในการเปิดแนวคิดใหม่ๆ ในการทำงาน
  • ช่วยผู้ปฏิบัติงานในการสร้างความรู้และสามารถย้อนกลับมาช่วยงานประจำที่ทำอยู่
  • ไม่ควรยึดติดรูปแบบการวิจัย แต่ควรถูกต้องตามหลักวิชาการ
  • ไม่จำเป็นต้องได้องค์ความรู้ใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการค้นหาวิธีการพื่อประยุกต์ใช้ในบริบทของผู้วิจัย
  • เป็นเครื่องมือการพัฒนาคนให้รู้จักพัฒนาฐานข้อมูล ใช้ข้อมูล และสามารถคิดเชิงระบบ
  • เป็นเครื่องมือในการสร้างเสริมศักยภาพทำให้เข้าใจสภาพแวดล้อมที่รอบตัวมากขึ้น
  • ช่วยสร้างระบบพี่เลี้ยงในการทำวิจัย และเอื้อเฟื้อกันในการทำงานระหว่างนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานโดยตรง
  • สามารถนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานเพื่อทำให้ผู้อื่นร่วมเรียนรู้ได้

การพัฒนาหัวข้อวิจัยและทำให้ปัญหาการวิจัยมีความชัดเจนนั้น มีขั้นตอนดังนี้

  1. เลือกประเด็นที่สนใจ อาจจะใช้จินตนาการ และลองเขียนแผนผังความคิด ซึ่งอาจจะเป็นหัวข้อกว้างๆ(general idea) ที่ยังไม่ชัดเจน ไม่เป็นรูปธรรม โดยไม่ต้องวิพากษ์ วิจารณ์ใด ๆ ในครั้งแรก พยายามให้ความคิดพรั่งพรู หลั่งไหลออกมาก่อน หลังจากนั้นค่อยมาพิจารณาคัดเลือก โดยใช้หลักการดังนี้
  • ความสนใจของผู้วิจัยที่ส่งผลต่อแรงจูงใจที่จะทำ
  • ความแปลกใหม่ ไม่ซ้ำซ้อน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ /ต่อยอด
  • ปัญหามีความสำคัญ/ประโยชน์ต่อพัฒนางานด้านสุขภาพในหน่วยงาน ชุมชน สังคมและประเทศชาติ
  • เป็นคำถามที่สามารถหาคำตอบได้โดยใช้กระบวนการวิจัยได้
  • มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการทำวิจัย โดยคำนึงถึงระยะเวลาที่ศึกษา และกลุ่มเป้าหมาย อุปกรณ์ เครื่องมือ และสิ่งสนับสนุนต่าง ๆ ความร่วมมือจากบุคคลอื่นและหน่วยงาน งบประมาณ แหล่งสนับสนุน จริยธรรม คุณธรรม และค่านิยม ประสบการณ์และความชำนาญของผู้วิจัย
  1. ปรับหัวข้อที่กว้าง ให้แคบลง เป็นหัวข้อที่เฉพาะเจาะจง (specific topic) เพื่อนำไปสู่ปัญหาที่ทำวิจัยได้ โดยการตั้งถามว่า 5 W (Why, Who, What, Where, When) และ 1 H (How) ดังนี้
  • ทำไม (Why) ทำไมต้องศึกษาเรื่องนี้
  • ใคร (Who) ที่มีปัญหาหรือเป็นกลุ่มที่ต้องการการแก้ไขปัญหาหรือปรับปรุง
  • อะไร (What) เป็นปัจจัยที่เป็นสาเหตุหรือมีอิทธิพล หรืออะไรผลที่ตามมา
  • ที่ไหน (Where) ควรวิจัยหรือศึกษาเรื่องนี้ที่ไหน
  • เมื่อไหร่ (When) ควรวิจัยหรือศึกษาเรื่องนี้เมื่อไหร่
  • อย่างไร (How) วิธีการดำเนินงานวิจัยเป็นอย่างไร
  1. ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อที่สนใจ เพื่อให้ชัดเจนเกี่ยวกับความรู้ของหัวข้อนั้น เพื่อหาช่องว่างขององค์ความรู้ที่สนใจ และตั้งคำถามการวิจัยให้ชัดเจน
  2. เขียนปัญหาการวิจัยที่ชัดเจนรวมทั้งข้อมูลสนับสนุน โดยการเริ่มเขียนปัญหาการวิจัย อาจเป็นเพียง 2-3 ประโยคก่อน แล้วจึงขยายความเป็น ?ความสำคัญและความเป็นมาของปัญหา? ที่มีประกอบด้วยสาระสำคัญดังนี้ ความสำคัญของปัญหา (significant of problem) ภูมิหลัง (background) สถานการณ์ของปัญหาในปัจจุบัน และวิธีการดำเนินการศึกษาประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
  3. ประเมินปัญหาการวิจัย ตามหลักการกำหนดปัญหาการวิจัย เพื่อพิจารณาคัดเลือกประเด็นที่สนใจซึ่งอาจจะมีหลายประเด็น ให้เหลือประเด็นที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้ในการทำวิจัย โดยใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้ ประเมินเช่นเดียวกันกับการเลือกหัวข้อวิจัย

ที่มาจาก การบรรยายและหนังสือประกอบการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 6 ในวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์