คลังเก็บป้ายกำกับ: ผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีต่อภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูงของมารดา

ผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               ผลต่อมารดา การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2  กลุ่มอาการเมตาบอลิก ช่วยให้มารดาน้ำหนักลดลงได้ดี และช่วยลดการเกิดภาวะซึมเศร้าในระยะหลังคลอด ซึ่งจะเห็นว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเกิดผลดีต่อมารดาโดยช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญที่จะนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดที่จะทำให้เกิดการเสียชีวิตในระยะยาวได้

             ผลต่อทารก แม้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะไม่ได้ส่งผลในการลดการเกิดกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่โดยตรง แต่จะช่วยลดการเกิดโรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2  กลุ่มอาการเมตาบอลิก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อทารกที่มีมารดาเป็นเบาหวาน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกกินนมแม่ยิ่งนาน จะยิ่งลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น โดยหากทารกกินนมแม่เพิ่มขึ้นหนึ่งเดือน จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนลงร้อยละ 41  ซึ่งผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะลดการเกิดโรคอ้วนในวัยเด็กจนถึงวัยหนุ่มสาวของทารกที่มารดามีโรคเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ และยังเกิดผลเช่นเดียวกันในทารกที่มารดาไม่มีโรคเบาหวานด้วย2  ประโยชน์ของการลดการเกิดโรคอ้วนในทารกที่กินนมแม่คำอธิบายจากทารกที่กินนมแม่จะมีการฝึกการควบคุมการดูดนมแม่ได้ด้วยตนเอง โดยการดูดนมแม่นั้น ทารกต้องออกแรงดูด เมื่อทารกอิ่ม ทารกจะหยุดการดูดนมแม่ ซึ่งจะแตกต่างจากทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจากขวดนม เนื่องจากนมจากขวดจะไหลง่าย ทารกแทบไม่ได้ออกแรงดูดหรือออกแรงดูดเพียงเล็กน้อย นมจากขวดนมก็จะไหลแล้ว ทารกจึงไม่ได้ฝึกการควบคุมการกินนม ทารกจึงยังคงกินนมขวดแม้จะรู้สึกอิ่มแล้วทำให้ทารกขาดการควบคุมการกินอย่างเหมาะสมตามความอิ่มของตนเอง เมื่อเติบโตขึ้นจะส่งผลต่อพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน

  สำหรับการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานและกลุ่มอาการเมตาบอลิก การที่ทารกได้กินนมแม่จะช่วยลดการเกิดโรคเบาหวานและกลุ่มอาการเมตาบอลิกทั้งในกลุ่มทารกที่มีและไม่มีมารดาเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์  โดยทารกที่กินนมแม่ที่มีมารดาเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานลงร้อยละ 82 (OR = 0.18, 95% CI 0.04-0.82) และลดการเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิกลงร้อยละ 90 (OR = 0.10, 95% CI 0.02-0.55) เมื่อเทียบกับทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ที่มีมารดาเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์3 และจากงานวิจัยที่มีการทบทวนอย่างเป็นระบบพบว่า การให้ทารกได้กินนมแม่จะลดการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ร้อยละ 33 (OR =0.67, 95% CI 0.56-0.80)4 การที่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานและกลุ่มอาการเมตาบอลิกอธิบายจาก โรคเบาหวานและกลุ่มอาการเมตาบอลิกมีความสัมพันธ์กับโรคอ้วน การที่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดการเกิดโรคอ้วน จึงส่งผลในการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานและกลุ่มอาการเมตาบอลิกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Harder T, Bergmann R, Kallischnigg G, Plagemann A. Duration of breastfeeding and risk of overweight: a meta-analysis. Am J Epidemiol 2005;162:397-403.
  2. Mitanchez D, Yzydorczyk C, Siddeek B, Boubred F, Benahmed M, Simeoni U. The offspring of the diabetic mother–short- and long-term implications. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol 2015;29:256-69.
  3. Vandyousefi S, Goran MI, Gunderson EP, et al. Association of breastfeeding and gestational diabetes mellitus with the prevalence of prediabetes and the metabolic syndrome in offspring of Hispanic mothers. Pediatr Obes 2019;14:e12515.
  4. Horta BL, de Lima NP. Breastfeeding and Type 2 Diabetes: Systematic Review and Meta-Analysis. Curr Diab Rep 2019;19:1.

 

ผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีต่อโรคเบาหวานในมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การที่มารดาให้นมลูกจะมีผลดีต่อการเผาพลาญอาหารในร่างกายมารดา โดยช่วยลดระดับน้ำตาลหลังจากมารดางดอาหาร 8 ชั่วโมง (fasting glucose)  ลดความต้านทานต่ออินซูลินของเนื้อเยื่อ (insulin resistance)  ลดระดับไขมันในเลือดในมารดาที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ในช่วงหลังคลอด1,2 ซึ่งพบว่าจะมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในมารดาที่ให้และไม่ได้ให้นมลูกที่ 3 เดือนหลังคลอด3 สำหรับการช่วยลดการเกิดโรคเบาหวานในระยะยาวของมารดาที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์เมื่อมารดาอายุมากขึ้น ผลที่เกิดนี้อธิบายจากสมมติฐานการตั้งค่าใหม่ (reset hypothesis)4 ที่ร่างกายของมารดาจะมีการตั้งค่าการเผาพลาญอาหารใหม่ขณะที่มีการให้นมลูก ซึ่งการตั้งค่าใหม่นี้จะลดการสะสมไขมัน ลดการผลิตอินซูลิน ลดความต้านทานอินซูลิน (insulin resistance) และลดไขมันในกระแสเลือด ทำให้มารดาลดความเสี่ยงในการเกิดโรคทางเมตาบอลิกรวมทั้งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง  นอกจากนี้ ในมารดาที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีมาก่อนตั้งครรภ์ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังช่วยให้มารดาควบคุมระดับน้ำตาลในช่วงหลังคลอดได้ดีขึ้น5

เอกสารอ้างอิง

  1. Shub A, Miranda M, Georgiou HM, McCarthy EA, Lappas M. The effect of breastfeeding on postpartum glucose tolerance and lipid profiles in women with gestational diabetes mellitus. Int Breastfeed J 2019;14:46.
  2. Yasuhi I, Yamashita H, Maeda K, et al. High-intensity breastfeeding improves insulin sensitivity during early post-partum period in obese women with gestational diabetes. Diabetes Metab Res Rev 2019;35:e3127.
  3. Corrado F, Giunta L, Granese R, et al. Metabolic effects of breastfeeding in women with previous gestational diabetes diagnosed according to the IADPSG criteria. J Matern Fetal Neonatal Med 2019;32:225-8.
  4. Stuebe AM, Rich-Edwards JW. The reset hypothesis: lactation and maternal metabolism. Am J Perinatol 2009;26:81-8.
  5. Nam GE, Han K, Kim DH, et al. Associations between Breastfeeding and Type 2 Diabetes Mellitus and Glycemic Control in Parous Women: A Nationwide, Population-Based Study. Diabetes Metab J 2019;43:236-41.

ผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีต่อภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูงของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การที่ทารกได้กินนมแม่จะมีผลป้องกันการเกิดความดันโลหิตสูงเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น โดยการกินนมแม่จะช่วยป้องกันความดันโลหิตขึ้นสูงในเด็กอายุ 7 ปี1 ช่วยป้องกันการเกิดไขมันในเลือดสูงเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทารกกินนมแม่อย่างเดียว2 ช่วยป้องกันการเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิก3 โดยการป้องกันกลุ่มอาการนี้ อธิบายจากการตั้งโปรแกรมการเผาพลาญอาหารจากอาหารที่ทารกได้รับในระยะแรกหลังคลอด ซึ่งเป็นกลไกการควบคุมเหนือพันธุกรรม4 นอกจากนี้ ยังพบว่า การให้ทารกได้กินนมแม่ช่วยลดค่าความดันโลหิตและป้องกันโรคความดันโลหิตสูงที่สัมพันธ์กับอากาศที่เป็นพิษ (air pollution) ด้วย5

              สำหรับพัฒนาการทางด้านการเรียนรู้และการเคลื่อนไหว ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวนาน 4 เดือนพบว่ามีการสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์กับสังคมในช่วงขวบปีแรกดีกว่า6 มีความฉลาดสูงกว่า โดยเปรียบเทียบการวัดคะแนนการเรียนรู้ของทารกที่อายุ 8 ปีครึ่งและ 11 ปีครึ่งพบว่า ทารกที่คลอดครบกำหนดและคลอดก่อนกำหนดที่กินนมแม่นานกว่าจะมีคะแนนด้านการเรียนรู้สูงกว่า7 และทารกที่กินนมแม่จะมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวโดยทั่วไปในช่วงวัยเด็กตอนปลายและช่วงวัยรุ่นดีกว่า8,9

               จะเห็นว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะส่งผลช่วยลดปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวที่เป็นผลมาจากโรคความดันโลหิตสูงของมารดาทั้งโรคความดันโลหิตสูงที่ถูกชักนำโดยการตั้งครรภ์ และความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ดังนั้น นอกจากจะให้คำแนะนำในเรื่องการปฏิบัติตัวและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิต เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้เมื่อมารดามีอายุมากขึ้นแล้ว การแนะนำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น่าจะเป็นวิธีทางหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้10

เอกสารอ้างอิง

  1. Hosaka M, Asayama K, Staessen JA, et al. Breastfeeding leads to lower blood pressure in 7-year-old Japanese children: Tohoku Study of Child Development. Hypertens Res 2013;36:117-22.
  2. Owen CG, Whincup PH, Kaye SJ, et al. Does initial breastfeeding lead to lower blood cholesterol in adult life? A quantitative review of the evidence. Am J Clin Nutr 2008;88:305-14.
  3. Vandyousefi S, Goran MI, Gunderson EP, et al. Association of breastfeeding and gestational diabetes mellitus with the prevalence of prediabetes and the metabolic syndrome in offspring of Hispanic mothers. Pediatr Obes 2019;14:e12515.
  4. Pauwels S, Symons L, Vanautgaerden EL, et al. The Influence of the Duration of Breastfeeding on the Infant’s Metabolic Epigenome. Nutrients 2019;11.
  5. Dong GH, Qian ZM, Trevathan E, et al. Air pollution associated hypertension and increased blood pressure may be reduced by breastfeeding in Chinese children: the Seven Northeastern Cities Chinese Children’s Study. Int J Cardiol 2014;176:956-61.
  6. Choi HJ, Kang SK, Chung MR. The relationship between exclusive breastfeeding and infant development: A 6- and 12-month follow-up study. Early Hum Dev 2018;127:42-7.
  7. Daniels MC, Adair LS. Breast-feeding influences cognitive development in Filipino children. J Nutr 2005;135:2589-95.
  8. Grace T, Oddy W, Bulsara M, Hands B. Breastfeeding and motor development: A longitudinal cohort study. Hum Mov Sci 2017;51:9-16.
  9. Bouwstra H, Boersma ER, Boehm G, Dijck-Brouwer DA, Muskiet FA, Hadders-Algra M. Exclusive breastfeeding of healthy term infants for at least 6 weeks improves neurological condition. J Nutr 2003;133:4243-5.
  10. Demirci J, Schmella M, Glasser M, Bodnar L, Himes KP. Delayed Lactogenesis II and potential utility of antenatal milk expression in women developing late-onset preeclampsia: a case series. BMC Pregnancy Childbirth 2018;18:68.

 

 

ผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีต่อภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูงของมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                   มารดาที่ให้ลูกกินนมแม่จะมีผลดี ซึ่งพบว่าสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงถึงร้อยละ 10-25 ในช่วงระยะเวลา 7 ปีหลังการคลอด มารดาที่ให้ลูกกินนมแม่นานจะลดความเสี่ยงได้มากกว่ามารดาที่ให้ลูกกินนมแม่ในช่วงเวลาสั้น1 มารดาที่ให้ลูกกินนมแม่หนึ่งคนจะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 10 และมารดาที่มีระยะเวลาที่ลูกกินนมแม่นานหนึ่งปีจะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 4 เมื่อมารดาอยู่ในวัยหลังหมดประจำเดือน2 

เอกสารอ้างอิง

  1. Kirkegaard H, Bliddal M, Stovring H, et al. Breastfeeding and later maternal risk of hypertension and cardiovascular disease – The role of overall and abdominal obesity. Prev Med 2018;114:140-8.
  2. Park S, Choi NK. Breastfeeding and Maternal Hypertension. Am J Hypertens 2018;31:615-21.