ผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อทารกที่มีมารดาเป็นเบาหวาน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกกินนมแม่ยิ่งนาน จะยิ่งลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น โดยหากทารกกินนมแม่เพิ่มขึ้นหนึ่งเดือน จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนลงร้อยละ 41  ซึ่งผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะลดการเกิดโรคอ้วนในวัยเด็กจนถึงวัยหนุ่มสาวของทารกที่มารดามีโรคเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ และยังเกิดผลเช่นเดียวกันในทารกที่มารดาไม่มีโรคเบาหวานด้วย2  ประโยชน์ของการลดการเกิดโรคอ้วนในทารกที่กินนมแม่คำอธิบายจากทารกที่กินนมแม่จะมีการฝึกการควบคุมการดูดนมแม่ได้ด้วยตนเอง โดยการดูดนมแม่นั้น ทารกต้องออกแรงดูด เมื่อทารกอิ่ม ทารกจะหยุดการดูดนมแม่ ซึ่งจะแตกต่างจากทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจากขวดนม เนื่องจากนมจากขวดจะไหลง่าย ทารกแทบไม่ได้ออกแรงดูดหรือออกแรงดูดเพียงเล็กน้อย นมจากขวดนมก็จะไหลแล้ว ทารกจึงไม่ได้ฝึกการควบคุมการกินนม ทารกจึงยังคงกินนมขวดแม้จะรู้สึกอิ่มแล้วทำให้ทารกขาดการควบคุมการกินอย่างเหมาะสมตามความอิ่มของตนเอง เมื่อเติบโตขึ้นจะส่งผลต่อพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน

  สำหรับการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานและกลุ่มอาการเมตาบอลิก การที่ทารกได้กินนมแม่จะช่วยลดการเกิดโรคเบาหวานและกลุ่มอาการเมตาบอลิกทั้งในกลุ่มทารกที่มีและไม่มีมารดาเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์  โดยทารกที่กินนมแม่ที่มีมารดาเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานลงร้อยละ 82 (OR = 0.18, 95% CI 0.04-0.82) และลดการเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิกลงร้อยละ 90 (OR = 0.10, 95% CI 0.02-0.55) เมื่อเทียบกับทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ที่มีมารดาเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์3 และจากงานวิจัยที่มีการทบทวนอย่างเป็นระบบพบว่า การให้ทารกได้กินนมแม่จะลดการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ร้อยละ 33 (OR =0.67, 95% CI 0.56-0.80)4 การที่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานและกลุ่มอาการเมตาบอลิกอธิบายจาก โรคเบาหวานและกลุ่มอาการเมตาบอลิกมีความสัมพันธ์กับโรคอ้วน การที่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดการเกิดโรคอ้วน จึงส่งผลในการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานและกลุ่มอาการเมตาบอลิกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Harder T, Bergmann R, Kallischnigg G, Plagemann A. Duration of breastfeeding and risk of overweight: a meta-analysis. Am J Epidemiol 2005;162:397-403.
  2. Mitanchez D, Yzydorczyk C, Siddeek B, Boubred F, Benahmed M, Simeoni U. The offspring of the diabetic mother–short- and long-term implications. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol 2015;29:256-69.
  3. Vandyousefi S, Goran MI, Gunderson EP, et al. Association of breastfeeding and gestational diabetes mellitus with the prevalence of prediabetes and the metabolic syndrome in offspring of Hispanic mothers. Pediatr Obes 2019;14:e12515.
  4. Horta BL, de Lima NP. Breastfeeding and Type 2 Diabetes: Systematic Review and Meta-Analysis. Curr Diab Rep 2019;19:1.