รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อสามารถทำได้ทันทีเมื่อพร้อมหลังการคลอดและเช็ดตัวทารกให้แห้งแล้ว ทารกไม่จำเป็นต้องอาบน้ำหลังการคลอด1 ควรชะลอการชั่งน้ำหนัก วัดขนาดตัวทารก การให้ยาฆ่าเชื้อป้ายตาทารก การฉีดวิตามินเคและวัคซีนให้กับทารกจนกระทั่งทารกเริ่มการดูดนมครั้งแรกเรียบร้อยแล้ว การอุ้มทารกมาไว้ที่หน้าอกมารดาทำโดยต้องไม่ห่อตัวทารกและมารดาต้องเปิดเสื้อผ้าในบริเวณที่สัมผัสให้เพียงพอ สำหรับการที่จะคลุมผ้าเพื่อความอบอุ่น จะคลุมทั้งทารกและมารดาไปพร้อมกัน ให้สัมผัสมารดาและทารกเนื้อแนบเนื้อ ซึ่งคลุมผ้านี้จะคล้ายกับการให้ลูกอย่างในถุงหน้าท้องของจิงโจ้ที่เรียก Kangaroo care ซึ่งหากสามารถให้การสัมผัสเนื้อแนบเนื้ออย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมงจะช่วยในการเจริญเติบโตและการกินนมแม่ของทารกที่คลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักตัวน้อย2 ,3 การที่ทารกได้สัมผัสผิวของมารดาจะช่วยในการพัฒนาการของระบบประสาทสัมผัสและช่วยกลไกออกซิโตซินได้ ขั้นตอนนี้ให้ความสำคัญของการให้ทารกได้สัมผัสกับหน้าอกของมารดาพร้อมกับการสังเกตความพร้อมของทารกในการกินนมแม่ โดยให้ “ วางทารกให้ผิวสัมผัสแนบชิดกับมารดาทันทีหลังคลอดนานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง” หรือนานกว่านั้น และกระตุ้นให้มารดาสังเกตความพร้อมในการกินนมแม่ของลูก สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ควรสังเกตมารดาและทารก และดูแลให้ช่วงเวลานี้ทารกได้ใช้เวลาอยู่บนหน้าอกมารดาอย่างสงบ ปราศจากการรบกวน ร่วมกับอาจเสนอความช่วยเหลือในบางกรณีหากมีความจำเป็น
เอกสารอ้างอิง
Morton J, Hall JY, Pessl M. Five steps to improve bedside breastfeeding care. Nurs Womens Health 2013;17:478-88.
Gathwala G, Singh B, Singh J. Effect of Kangaroo Mother Care on physical growth, breastfeeding and its acceptability. Trop Doct 2010;40:199-202.
Flacking R, Ewald U, Wallin L. Positive effect of kangaroo mother care on long-term breastfeeding in very preterm infants. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2011;40:190-7.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กระบวนการจัดการสนับสนุนให้มารดามีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญ เนื่องจากมีการทบทวนอย่างเป็นระบบแล้วพบว่า การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อนั้น ทำให้มารดาที่ให้นมลูกเป็นครั้งแรกประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้นถึง 2.7 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม 1 การที่จะสนับสนุนให้มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดนั้นจำเป็นจะต้องมีการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่มารดาและครอบครัวตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ เพื่อที่จะเตรียมตัวและมีความกระตือรือล้นที่จะให้ทารกได้มีการโอบกอดอยู่บนอ้อมอกของมารดาทันทีเมื่อพร้อมในระยะแรกหลังคลอด ซึ่งในระหว่างการเริ่มการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อควรให้เวลาแก่ทารกให้มีการสัมผัสกับอกของมารดา ปรับตัว และเริ่มเข้าหาเต้านมของมารดาเพื่อการเริ่มการดูดนมแม่เป็นครั้งแรก ช่วงเวลาที่มีการปรับตัวที่จะทำให้ทารกมีความพร้อมในการกินนมแม่นั้น โดยทั่วไปจะใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง บุคลากรทางการแพทย์ มารดาและครอบครัวควรปล่อยให้ทารกได้อยู่บนอกของมารดาโดยปราศจากการรบกวน เพื่อจะช่วยในการพัฒนาการของระบบประสาทสัมผัสของทารกจากการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อมีความสมบูรณ์ และช่วยในความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย
เอกสารอ้างอิง
Karimi FZ, Sadeghi R, Maleki-Saghooni N, Khadivzadeh T. The effect of mother-infant skin to skin contact on success and duration of first breastfeeding: A systematic review and meta-analysis. Taiwan J Obstet Gynecol 2019;58:1-9.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? เป็นที่ทราบกันแล้วว่า การโอบกอดเนื้อแนบเนื้อมีประโยชน์หลายอย่าง ได้แก่ กระตุ้นการพัฒนาการของทารกผ่านระบบสัมผัสของมารดา ช่วยให้ทารกรู้สึกสงบ ปลอดภัย อบอุ่น ป้องกันอาการตัวเย็นของทารก ช่วยป้องกันการเกิดอาการน้ำตาลต่ำจากการตื่นตระหนกของทารก ทำให้มีการใช้พลังงานมากส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ นอกจากนี้ การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อบนอกมารดาหลังคลอดทันทียังช่วยในกระบวนการการปรับตัวของทารกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกและมีความพร้อมที่จะคืบคลานเข้าหาเต้านมมารดา เพื่อการเริ่มต้นการดูดกินนมแม่1 ซึ่งการเริ่มต้นการกินนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดนั้น ส่งผลต่ออัตราการลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย ดังนั้น สถานพยาบาลควรมีการดำเนินการเพื่อส่งเสริมหรือทำให้เกิดการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อหลังคลอดทันทีและควรให้เวลากับกระบวนการนี้อย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงเพื่อการกระตุ้นกระบวนการดังกล่าวเหล่านี้จะกระทำได้สมบูรณ์และได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่
เอกสารอ้างอิง
Lau Y, Tha PH, Ho-Lim SST, et al. An analysis of the effects of intrapartum factors, neonatal characteristics, and skin-to-skin contact on early breastfeeding initiation. Matern Child Nutr 2018;14.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? การให้มารดาโอบกอดทารกสัมผัสเนื้อแนบเนื้อช่วยในการพัฒนาสมองของทารกโดยการกระตุ้นสมองส่วน Amygdala และ Limbic ผ่าน prefontal-orbital pathway ซึ่งบทบาทของสมองในส่วน Amygdala และ Limbic จะทำหน้าที่การเรียนรู้ทางด้านอารมณ์ ควบคุมความจำ และระบบประสาทอัตโนมัติ โดยสมองส่วน Amygdala และ Limbic กว่าจะมีการพัฒนาการจนสมบูรณ์จะเกิดขึ้นช่วงสองเดือนแรกหลังการเกิด การสัมผัสผิวของทารกเนื้อแนบเนื้อกับมารดาจะมีสัญญาณประสาทที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของสมองส่วนนี้ 1 ดังนั้น การกระตุ้นด้วยการสัมผัสผิวจึงมีความสำคัญในการพัฒนาความสมบูรณ์ของสมองในช่วงแรก ๆ หลังการเกิด นอกจากนี้ ความผูกพันระหว่างมารดาและทารกยังมีส่วนในการกระตุ้นการเชื่อมต่อและระบบควบคุมการทำงานของระบบประสาทด้วย ซึ่งหากศึกษาถึงประวัติศาสตร์ของชนชาติต่าง ๆ ส่วนใหญ่มักจะมีกระบวนการโอบอุ้มทารกให้ทารกได้สัมผัสผิวกับมารดาตั้งแต่แรกคลอดจนถึง 1-2 ปีขึ้นอยู่กับแต่ละวัฒนธรรม ประโยชน์ในการพัฒนาสมองอาจเป็นคำอธิบายในการสั่งสอนการดูแลทารกที่บอกต่อกันมาตั้งแต่โบราณก็เป็นได้
เอกสารอ้างอิง
Ovtscharoff W, Jr., Braun K. Maternal separation and social isolation modulate the postnatal development of synaptic composition in the infralimbic cortex of Octodon degus. Neuroscience 2001;104:33-40.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)