คลังเก็บป้ายกำกับ: การดูแลและป้องกันปัญหาทารกตื่นบ่อยเวลากลางคืน

การดูแลและป้องกันปัญหาการถ่ายอุจจาระบ่อย ท้องเสียหรือท้องผูก

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               ในการดูแลและป้องกันปัญหานี้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการสอนให้มารดาสามารถสังเกตได้ว่าทารกมีอุจจาระที่ปกติ หรือมีอาการท้องเสีย หรือท้องผูก ส่วนใหญ่ในทารกที่กินนมแม่มักพบว่าทารกถ่ายอุจจาระบ่อยมากกว่าการถ่ายอุจจาระแข็ง สำหรับอาการท้องเสียสังเกตได้จากอุจจาระทารกจะมีมูกเลือด ทารกมีไข้หรือมีอาการซึมร่วมด้วย ซึ่งมารดาควรนำทารกไปรับการตรวจรักษาจากแพทย์  สำหรับการที่ทารกถ่ายอุจจาระบ่อย มีน้ำปนเนื้ออุจจาระ ลักษณะปกติ ส่วนมากเกิดจากการที่ทารกกินเฉพาะน้ำนมส่วนหน้าที่มีน้ำตาลแลกโตสมาก ซึ่งจะย่อยได้เร็ว ขับถ่ายบ่อย ทารกจะหิวและร้องกินนมบ่อย การที่ทารกได้รับเฉพาะน้ำนมส่วนหน้ามักเกิดจากมารดาไม่ได้ให้นมทารกกินจนเกลี้ยงเต้าจากเต้านมข้างที่กินนมอยู่ก่อน แต่จะได้รับการเปลี่ยนให้ทารกกินนมจากเต้านมอีกข้างหนึ่งก่อนที่ทารกจะกินน้ำนมส่วนหลังที่มีปริมาณไขมันสูง ซึ่งการที่ทารกได้กินน้ำนมส่วนหลังจะส่งผลทำให้ทารกถ่ายไม่บ่อย อิ่ม และหลับได้นาน ดังนั้น การป้องกันการถ่ายอุจจาระบ่อยจากทารกกินน้ำนมส่วนหน้าคือ การให้มารดาให้ทารกกินนมจนเกลี้ยงเต้าก่อนจะเปลี่ยนไปให้นมจากเต้านมอีกข้างหนึ่ง

            การพบทารกถ่ายอุจจาระแข็ง มักไม่พบในทารกที่กินนมแม่ แต่จะพบได้ในทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก โดยสาเหตุที่พบบ่อยคือ การชงนมผงดัดแปลงสำหรับทารกเข้มข้นน้อยกว่าที่ควรชงตามฉลากที่บ่งบอกไว้หรือจางเกินไป การแก้ไขคือ การปรับการชงนมให้ได้สัดส่วนตามฉลากที่บ่งบอกไว้และใช้ถ้วยตวงตามขนาดและชนิดของนมผงดัดแปลงสำหรับทารกที่มีไว้ให้ นอกจากนี้ หากทารกมีการกินอาหารเสริมอย่างอื่น ๆ นอกเหนือจากการกินนมแม่ในช่วงหกเดือนแรก ปัจจัยนี้จะเป็นสาเหตุของการเกิดอาการท้องผูกและท้องเสียในทารกได้เช่นกัน1

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

 

 

 

การดูแลและป้องกันปัญหาทารกแหวะนม

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            อาการแหวะนมหรืออาการสำรอก (regurgitation) พบได้บ่อยในทารก สาเหตุของการที่ทารกแรกเกิดมีการแหวะนมหรือสำรอกได้ง่ายเกิดจากการที่ทารกกินนมมากเกินไปในขณะที่กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารยังทำงานได้ไม่ดีหรือไม่สมบูรณ์ หรือบางครั้งการสำรอกอาจเกิดจากการที่ทารกกินนมและดูดอากาศเข้าไปในกระเพาะมาก เมื่ออากาศถูกไล่ออกมา จะมีน้ำนมไหลปนออกมาด้วย

          การดูแลและป้องกันทารกแหวะนมหรือสำรอก ทำได้โดยจัดท่าให้ทารกอยู่ในลักษณะนั่งลำตัวตั้งตรงหลังจากกินนม การให้ทารกกินนมครั้งหนึ่งน้อยลงและให้บ่อยครั้งขึ้นอาจจะช่วยได้ นอกจากนี้ ไม่ควรรอหรือปล่อยให้ทารกกินนมขณะที่หิวมาก เนื่องจากทารกอาจกลืนเร็วเกินไปและกลืนลมเข้าไปมากด้วยทำให้แหวะนมหรือสำรอกได้ ดังนั้น ควรจับทารกให้เรอเป็นช่วงๆ หากทารกกินและกลืนนมเร็ว โดยท่าที่ใช้อุ้มทารกให้เรออาจใช้ท่าอุ้มพาดบ่าให้หน้าท้องกดบริเวณหัวไหล่เพื่อไล่ลม หรืออาจใช้ท่าอุ้มนั่งบนตัก หันหน้าออก โดยมือข้างหนึ่งจับที่หน้าอกทารก มืออีกข้างหนึ่งลูบหลังทารกหรือเคาะเบาๆ พร้อมกับโน้มตัวทารกไปข้างหน้า1

             อย่างไรก็ตาม มารดาและครอบครัวควรได้รับการสอนให้แยกความแตกต่างระหว่างการแหวะนมหรือสำรอกกับอาการอาเจียน อาการแหวะนมหรือสำรอกมักไม่เป็นอันตราย แต่อาการอาเจียนเป็นอาการแสดงอย่างหนึ่งของความเจ็บป่วยหรือความผิดปกติของทารก การแหวะนมหรือสำลักปริมาณนมที่ไหลออกมามักไม่มากและไหลออกมาไม่แรง อาการอาเจียนปริมาณนมที่ออกมาจะมากหรือทั้งมื้อของการกินนมและไหลออกมาแรงเป็นลักษณะพุ่งออกมา หากอาเจียนไกลหรืออาเจียนพุ่งอาจพบในทารกที่มีการอุดตันของกระเพาะ (pyloric stenosis) ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

 

 

การดูแลและป้องกันปัญหาทารกตื่นบ่อยเวลากลางคืน

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

         หลังจากที่มารดาเข้าใจลักษณะการนอนของทารกแล้ว วิธีที่จะช่วยให้ทารกหลับ ไม่ตื่นบ่อยในเวลากลางคืน ทำได้โดยการปฏิบัติดังต่อไปนี้1

  • การจัดห้องนอนทารก ควรให้มีบรรยากาศที่เงียบสงบ และใช้แสงไฟที่สามารถปรับแสงได้โดยใช้แค่แสงเพียงพอที่มารดาจะให้นมลูกได้
  • การมีเสียงเพลงเบา ๆ อาจจะช่วยให้ทารกหลับได้ดีขึ้น หลีกเลี่ยงกิจกรรมอื่น ๆ นอกจากการให้นมลูก เพื่อลดความสับสนของทารกว่าอาจเป็นเวลาเล่น และพูดคุยกับทารกเท่าที่จำเป็น
  • การให้นมลูก ให้เท่าที่ทารกต้องการโดยไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเพิ่ม
  • การเปลี่ยนผ้าอ้อมก่อนให้นมลูก เพื่อลดการกระตุ้นให้ทารกตื่นหลังกินนม
  • การไกวเปลหรือโยกเยก หากจะใช้ ควรใช้ในขณะที่ทารกเริ่มง่วง

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.