การดูแลและป้องกันปัญหาการถ่ายอุจจาระบ่อย ท้องเสียหรือท้องผูก

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               ในการดูแลและป้องกันปัญหานี้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการสอนให้มารดาสามารถสังเกตได้ว่าทารกมีอุจจาระที่ปกติ หรือมีอาการท้องเสีย หรือท้องผูก ส่วนใหญ่ในทารกที่กินนมแม่มักพบว่าทารกถ่ายอุจจาระบ่อยมากกว่าการถ่ายอุจจาระแข็ง สำหรับอาการท้องเสียสังเกตได้จากอุจจาระทารกจะมีมูกเลือด ทารกมีไข้หรือมีอาการซึมร่วมด้วย ซึ่งมารดาควรนำทารกไปรับการตรวจรักษาจากแพทย์  สำหรับการที่ทารกถ่ายอุจจาระบ่อย มีน้ำปนเนื้ออุจจาระ ลักษณะปกติ ส่วนมากเกิดจากการที่ทารกกินเฉพาะน้ำนมส่วนหน้าที่มีน้ำตาลแลกโตสมาก ซึ่งจะย่อยได้เร็ว ขับถ่ายบ่อย ทารกจะหิวและร้องกินนมบ่อย การที่ทารกได้รับเฉพาะน้ำนมส่วนหน้ามักเกิดจากมารดาไม่ได้ให้นมทารกกินจนเกลี้ยงเต้าจากเต้านมข้างที่กินนมอยู่ก่อน แต่จะได้รับการเปลี่ยนให้ทารกกินนมจากเต้านมอีกข้างหนึ่งก่อนที่ทารกจะกินน้ำนมส่วนหลังที่มีปริมาณไขมันสูง ซึ่งการที่ทารกได้กินน้ำนมส่วนหลังจะส่งผลทำให้ทารกถ่ายไม่บ่อย อิ่ม และหลับได้นาน ดังนั้น การป้องกันการถ่ายอุจจาระบ่อยจากทารกกินน้ำนมส่วนหน้าคือ การให้มารดาให้ทารกกินนมจนเกลี้ยงเต้าก่อนจะเปลี่ยนไปให้นมจากเต้านมอีกข้างหนึ่ง

            การพบทารกถ่ายอุจจาระแข็ง มักไม่พบในทารกที่กินนมแม่ แต่จะพบได้ในทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก โดยสาเหตุที่พบบ่อยคือ การชงนมผงดัดแปลงสำหรับทารกเข้มข้นน้อยกว่าที่ควรชงตามฉลากที่บ่งบอกไว้หรือจางเกินไป การแก้ไขคือ การปรับการชงนมให้ได้สัดส่วนตามฉลากที่บ่งบอกไว้และใช้ถ้วยตวงตามขนาดและชนิดของนมผงดัดแปลงสำหรับทารกที่มีไว้ให้ นอกจากนี้ หากทารกมีการกินอาหารเสริมอย่างอื่น ๆ นอกเหนือจากการกินนมแม่ในช่วงหกเดือนแรก ปัจจัยนี้จะเป็นสาเหตุของการเกิดอาการท้องผูกและท้องเสียในทารกได้เช่นกัน1

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.