คลังเก็บป้ายกำกับ: นมแม่

การสร้างความสำเร็จในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

การสร้างความสำเร็จในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

? ? ? ? ? ? ? ??ในสังคมไทยปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังมีมาก จากข้อมูลการสำรวจการเลี้ยงลูกของ UNICEF ในปี 2550 พบว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนเท่ากับร้อยละ 5.41 ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำมาก การสร้างความสำเร็จในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต้องสร้างความตะหนักแก่สังคมโดยความร่วมมือของหลายฝ่าย โดยฝ่ายรัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างชัดเจนพร้อมการสื่อสารลงมาในองค์กรต่างๆ ที่มีหน้าที่ในการดูแลส่งเสริมในด้านปฏิบัติ มีการติดตามข้อมูลอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการดำเนินการซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มการอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อยหกเดือน ในฝ่ายเอกชนและผู้ประกอบการจะมีส่วนในด้านการสนับสนุนการลาหลังคลอดบุตรเพื่อให้แม่ให้นมลูกร่วมกับหลังแม่กลับมาทำงาน การจัดสถานที่ให้แม่สามารถมีสถานที่ในการเก็บน้ำนมระหว่างการทำงานหรือจัดสถานเลี้ยงเด็กเล็กให้แม่สามารถมาให้นมลูกระหว่างการทำงานได้ นอกจากนี้ การจัดมุมนมแม่ในสถานที่สาธารณะหรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ เพื่อให้แม่ได้ให้นมลูกระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างวันได้อย่างสะดวก

ครอบครัว เป็นส่วนที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง ด้วยครอบครัวไทยเป็นครอบครัวใหญ่ มีพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายอยู่ร่วมกัน หรือแม้ไม่ได้อยู่ร่วมกันก็มีอิทธิพลอย่างมากในวิธีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้ความรู้ให้ผู้ใหญ่ในครอบครัวเข้าใจ และให้เขาเหล่านั้นมีบทบาทในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยจะเป็นส่วนผลักดันกลไกการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครอบครัวได้

สำหรับหน่วยงานที่ให้บริการทางการแพทย์ ถือเป็นหน่วยงานหลักที่จะให้ความรู้ คำปรึกษา คอยติดตาม ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในหน่วยงานนี้มีข้อแนะนำ 10 ขั้นตอนในการสร้างความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่2 คือ

  1. เขียนนโยบายการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสื่อสารให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทราบ
  2. ฝึกบุคลากรให้มีทักษะในการนำนโยบายมาปฏิบัติ
  3. แจ้งสตรีที่ตั้งครรภ์เกี่ยวกับประโยชน์และการดำเนินการเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  4. ช่วยให้แม่เริ่มการให้นมภายในครึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด
  5. สอนคุณแม่ให้รู้วิธีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และรู้วิธีทำให้นมแม่ยังคงมีอย่างต่อเนื่องเมื่อจำเป็นต้องแยกจากลูก
  6. ไม่ให้น้ำหรืออาหารเสริมอื่นๆ นอกจากนมแม่ ยกเว้นมีความจำเป็นทางการแพทย์
  7. ให้แม่ได้อยู่กับลูกตลอด 24 ชั่วโมง
  8. สนับสนุนให้ลูกได้ดูดนมตามความต้องการ
  9. ไม่ให้ทารกดูดหัวนมหลอกหรือดูดนมจากขวดนม
  10. สร้างทีมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อรับส่งต่อการดูแลหลังจากแม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน

ข้อแนะนำ 10 ขั้นตอนนี้ หากหน่วยงานปฏิบัติด้วยความเข้มงวดและสม่ำเสมอ ร่วมกับความร่วมมือในภาคส่วนอื่นๆ อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยก็น่าจะสูงขึ้น

หนังสืออ้างอิง

  1. Largest-ever survey on situation of children and women in Thailandshows progress and challenges. UNICEF. [Cited August 25, 2009] Available from : http://www.unicef.org/infobycountry/media_39098.html
  2. Eglash A, Montgomery A, Wood J. Breastfeeding. Dis Mon 2008; 54:343-411.

 

 

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

 

 

นมแม่ มีประโยชน์สุด…สุด

นมแม่

 

? ? ? ? ? เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ คำถามที่มักจะถูกถามว่า วางแผนจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไหม? คุณแม่บางคนอาจตอบโดยไม่ต้องใช้เวลาคิดว่า ?ตั้งใจ? กระบวนการการตัดสินใจนี้ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่คุณแม่มีเกี่ยวกับประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เรามาเรียนรู้ในสิ่งนี้กันเถอะ

? ? ? ? ? ประโยชน์ของนมแม่ นอกจากการมีสารอาหารที่ครบถ้วนและมีภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ แล้ว ในเด็กที่กินนมแม่จะพบภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้น้อยกว่าเด็กที่กินนมผง1 ได้แก่

– การอักเสบของหูชั้นกลาง

– การอับเสบของกระเพาะและลำไส้

– การอับเสบของลำไส้ชนิดเนื้อตาย (necrotizing enterocolitis)

– การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่างที่รุนแรง

– หอบหืด

– การตายของทารกเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ (sudden infant death syndrome)

– โรคผื่นแพ้ที่ผิวหนัง

? ? ? ? ?จะเห็นว่า เมื่อการเจ็บป่วยในทารกที่กินนมแม่พบน้อยกว่าในช่วงขวบปีแรก ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพทารกจึงใช้น้อยกว่า ทำให้นอกจากประหยัดค่านมผงแล้ว ยังประหยัดค่ารักษาพยาบาลของทารกด้วย ส่วนผลในระยะยาวช่วยลดโอกาสการเกิด โรคอ้วน โรคเบาหวาน2และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในวัยเด็ก

? ? ? ? ?สำหรับผลดีที่พบในคุณแม่ที่ให้นมบุตร จะลดความเสี่ยงในการเกิดเบาหวาน มะเร็งรังไข่ และมะเร็งเต้านม3 แถมในระหว่างให้นมบุตรช่วงหกเดือนแรก หากให้นมแม่อย่างเดียว จะมีผลช่วยคุมกำเนิดได้ด้วย โดยโอกาสที่จะตั้งครรภ์มีน้อยเพียงร้อยละ 1-2

? ? ? ? ?เมื่อคุณแม่เห็นข้อดีต่างๆ มากมายเหล่านี้แล้ว น่าจะช่วยให้สามารถตอบคำถามว่า ตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่ด้วยความมั่นใจ และจูงใจให้คุณแม่และครอบครัวมีความมุ่งมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

หนังสืออ้างอิง

  1. Eglash A, Montgomery A, Wood J. Breastfeeding. Dis Mon 2008; 54:343-411.
  2. Stuebe AM, Rich-Edwards JW, Willett WC, Manson JE, Michels KB. Duration of lactation and incidence of type 2 diabetes. JAMA 2005;294:2601-10
  3. Bernier MO, Plu-Bureau G, Bossard N, Ayzac L, Thalabard JC. Breastfeeding and risk of breast cancer: a metaanalysis of published studies. Hum Reprod Update 2000;6:374-86.

 

 

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

 

 

ดูอย่างไรว่า นมแม่มีพอ?

ดูอย่างไรว่า นมแม่มีพอ?

 

? ? ? ? ? ปัญหาสำหรับคุณแม่มือใหม่ที่พบเจอในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การที่น้ำนมมาช้า มาน้อยและมาไม่เพียงพอ ปกติน้ำนมแม่จะเริ่มมาภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังคลอด ซึ่งกลไกสำคัญที่ทำให้น้ำนมมาเร็วคือ การเข้าเต้าได้ถูกต้องและให้ลูกกระตุ้นดูดนมทุก 2-3 ชั่วโมง เมื่อน้ำนมมาแล้ว คุณแม่ก็มักจะวิตกกังวลว่าน้ำนมจะเพียงพอหรือไม่ จะมีวิธีในการสังเกตอย่างไร สิ่งนี้ไม่ยากเลย หากคุณแม่สังเกตลักษณะต่างๆ ที่บ่งบอกว่านมแม่มีพอ1 ดังนี้

– เต้านมคุณแม่ตึงก่อนให้นม และนิ่มหลังจากให้นมเรียบร้อยแล้ว

– ขณะที่ลูกดูดนมข้างหนึ่ง น้ำนมจะไหลออกจากเต้านมอีกข้าง

– ได้ยินเสียงกลืนน้ำนมขณะลูกดูดนม

– ลูกรู้สึกผ่อนคลายขณะดูดนมและพึงพอใจหลังดูดนม

– ระหว่างลูกดูดนม มีเวลาที่ลูกตื่น รู้สึกตัวแต่สงบ

– ให้นมได้ 8-12 ครั้งใน 24 ชั่วโมง

– ลูกปัสสาวะเกือบทุกครั้งหลังดูดนมและถ่ายหลายครั้งต่อวัน

– น้ำหนักลูกเพิ่มขึ้น 20-30 กรัมต่อวันหลังจาก 3-5 วันหลังคลอด

? ? ? ? ? ลักษณะหลายอย่างข้างต้นบ่งบอกถึงว่า น้ำนมที่ให้ลูกน่าจะเพียงพอ เมื่อคุณแม่สังเกตพบอาการต่างๆ แล้ว อยากให้มีความมั่นใจ เนื่องจากเด็กที่กินนมแม่มักจะไม่อ้วน แต่น้ำหนักขึ้นและพัฒนาการตามเกณฑ์ปกติ คุณแม่บางคนอยากให้ลูกอ้วน น่ารัก แต่การที่ลูกน้ำหนักเกินเกณฑ์ จะมีผลต่างความเจ็บป่วยในระยะยาวของลูกได้ ดังนั้น ความต้องการหรือค่านิยมผิดๆ คุณแม่และครอบครัวควรทำความเข้าใจและนึกถึงประโยชน์ของลูกเป็นหลักก่อนเสมอ

? ? ? ? ? การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น เมื่อมีน้ำนมมาแล้วและมาเพียงพอ การยิ่งกระตุ้นให้บ่อยน้ำนมยิ่งมามาก การให้ลูกดูดนมแนะนำให้ลูกดูดนมจนเกลี้ยงเต้าข้างหนึ่ง แล้วสลับมาให้อีกข้างให้เกลี้ยงเต้าเช่นกัน การให้นมจนเกลี้ยงเต้าข้างหนึ่งแล้วสลับมาให้อีกข้างจะให้เวลาการสร้างน้ำนมในข้างที่หมด และจะทำให้การสร้างน้ำนมยิ่งสร้างเร็วขึ้น การให้นมโดยมีเทคนิคถูกต้องนี้จะสร้างให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อยหกเดือนได้ตามความตั้งใจ

 

หนังสืออ้างอิง

  1. Eglash A, Montgomery A, Wood J. Breastfeeding. Dis Mon 2008; 54:343-411.

 

 

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

 

 

อะไรคือการเข้าเต้า?

การเข้าเต้า

 

? ? ? ? ?คุณแม่และครอบครัวอาจจะเคยได้ยินบุคลากรทางการแพทย์เอ่ยถึงการเข้าเต้าในการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คุณแม่อาจฟังไปเพลินๆ ไม่ได้ติดใจอะไร แต่เมื่อสอบถามว่า อะไรคือการเข้าเต้า คุณแม่มักอ้ำอึ้ง ไม่แน่ใจในความหมาย

? ? ? ? ?การเข้าเต้า หมายถึง การนำทารกเข้าสู่เต้านมแม่ เพื่อให้ดูดนม ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า ?Latch on? โดยกลไกการเข้าเต้านั้น เริ่มตั้งแต่การนำทารกเข้าสู่เต้านมแม่ ให้การกระตุ้นด้วยสัมผัสของเต้านมกับริมฝีปากล่างก่อนซึ่งจะกระตุ้นให้ทารกอ้าปาก จากนั้นประกบเต้านมเข้ากับริมฝีปากบนเพื่อให้ทารกงับกลุ่มของหัวนมและลานหัวนมเข้าไปในปาก1 กระบวนนี้จะนำไปสู่การกระตุ้นดูดนมจากเต้านมแม่ การเข้าเต้าได้อย่างเหมาะสมจะทำให้ทารกดูดนมได้ดี อาจกล่าวได้ว่า ?การเข้าเต้าเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่? เมื่อเข้าเต้าได้แล้ว จะดูอย่างไรว่าเข้าเต้าได้อย่างเหมาะสม มีการคิดคะแนนประเมินการเข้าเต้าจากข้อมูล ลักษณะการเข้าเต้า การได้ยินเสียงกลืนน้ำนม ลักษณะหัวนม การสะดวกสบายและการอุ้มประคองทารก ดังตารางที่ 1 หรือเรียกว่า Latch score โดยใช้ตัวย่อของ LATCH มาใช้เป็นหัวข้อในการช่วยจำและให้คะแนน เพื่อทำนายความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

? ? ? ? ?การให้คะแนนประเมินการเข้าเต้า หากพบว่าคะแนนที่ประเมินมากกว่า 8 จะทำนายโอกาสของความสำเร็จของระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อครบหกสัปดาห์หลังได้สูงกว่า 1.7 เท่าของคุณแม่ที่ได้คะแนนต่ำกว่า2 ดังนั้น การรับรู้ข้อมูลเหล่านี้ คงจะทำให้คุณแม่เข้าใจและเตรียมตัวได้ดีในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

 

ตารางที่ 1 แสดงคะแนนการประเมินการเข้าเต้าหรือ Latch score

ตารางที่ 1 แสดงคะแนนการประเมินการเข้าเต้าหรือ Latch score

 

 

หนังสืออ้างอิง

  1. Eglash A, Montgomery A, Wood J. Breastfeeding. Dis Mon 2008; 54:343-411.
  2. Kumar SP, Mooney R, Wieser LJ, Havstad S. The LATCH scoring system and prediction of breastfeeding duration. J Hum Lact 2006; 22:391-7.

 

การเข้าเต้า

 

 

 

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

 

 

 

เมื่อเต้านมคัด…จะทำอย่างไรดี?

 

? ? ? ? ?เต้านมคัดเป็นปัญหาที่คุณแม่ทุกคนต้องประสบพบเจอหลังคลอด ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวด ไม่สบายตัว มีไข้ และให้นมได้ไม่ดี การแนะนำการปฏิบัติจากบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ใหญ่ในครอบครัวและเพื่อนผู้มีประสบการณ์มีความเห็นที่แตกต่างและหลากหลายทำให้คุณแม่ยากที่จะตัดสินใจว่าจะปฏิบัติตัวที่เหมาะสมอย่างไรเพื่อจะทำให้รู้สึกสบายตัวและให้นมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาดูข้อมูลเรื่องเต้านมกันดีกว่า

? ? ? ? ?เต้านมคัด เกิดจากการคั่งของเลือดและน้ำเหลืองที่มาเลี้ยงเต้านมเพื่อสนับสนุนการสร้างน้ำนมให้มากขึ้นร่วมกับน้ำนมที่เพิ่มมากขึ้นด้วย จะเกิดขึ้นในช่วง 2-5 วันหลังคลอด เมื่อมีอาการตึงคัดเต้านมแล้ว คุณแม่จะมีอาการตึงปวด ร้อนบริเวณเต้านม อาจพบมีไข้ต่ำๆ มักไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส การที่เต้านมคัดตึงจะทำให้ลานหัวนมตึงแข็ง การเข้าเต้าจะทำได้ไม่ดี และเป็นปัญหาทำให้เจ็บหัวนม หัวนมแตกและส่งผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1

? ? ? ? ?การป้องกันการคัดเต้านม ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการให้น้ำเกลือและยาออกซีโตซินซึ่งกระตุ้นการหดรัดตัวมดลูกระหว่างระยะคลอดมากเกินไป การให้นมบ่อยๆ ให้นมจนเกลี้ยงเต้าและให้นมแม่ต่อเนื่องในระยะหลังคลอดใหม่2

? ? ? ? ? สำหรับการแก้ปัญหาเต้านมคัดนั้น ใช้การประคบเย็นที่เต้านม ให้ยาลดไข้หรือแก้ปวดและคุณแม่ควรบีบไล่น้ำนมออกจากเต้านมก่อนการเข้าเต้าเพื่อให้ลานหัวนมนุ่มขึ้น3ร่วมกับการให้ลูกดูดนมเพื่อลดปริมาณน้ำนมในเต้านมวันละ 8-12 ครั้ง การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องอย่างเข้มงวด จะลดปัญหาอาการเต้านมคัดลงภายใน 1-2 วัน หลังจากนั้นการกระตุ้นน้ำนมทุก 2-3 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้น้ำนมมามากขึ้น มีน้ำนมเพียงพอและหากคุณแม่ตั้งใจการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อยหกเดือนก็จะประสบความสำเร็จได้ สำหรับการประคบเย็นเต้านมด้วยใบกระหล่ำปลีแช่แข็งนั้น ข้อมูลเรื่องนี้ประโยชน์ในการลดการเต้านมคัดยังไม่ชัดเจน1 ในส่วนโรงพยาบาลการสนับสนุนให้ลูกดูดนมแม่ ควรจัดให้ลูกได้ดูดนมแม่ภายในครึ่งชั่วโมงหลังคลอด เมื่อเต้านมตึงคัดอาจช่วยโดยบุคลากรทางการแพทย์เป็นพี่เลี้ยงสอนการบีบนมออกจากเต้า ช่วยจัดท่าที่ให้นมที่เหมาะสม ให้คุณแม่รู้สึกสบาย ไม่ปวดเมื่อย เปิดโอกาสให้คุณแม่ได้อย่างกับลูกตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อช่วยสัมผัสที่ดีระหว่างแม่กับลูกและคุณแม่สามารถให้นมลูกได้ตามต้องการ การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากจะช่วยในส่วนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของคุณแม่แล้ว ยังส่งเสริมอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทยให้สูงขึ้นได้

หนังสืออ้างอิง

  1. Eglash A, Montgomery A, Wood J. Breastfeeding. Dis Mon 2008; 54:343-411.
  2. LawrenceRA, LawrenceRM. Breastfeeding: A Guide for the Medical Profession.Philadelphia,PA: Elsevier Mosby, 2005.
  3. CottermanKJ. Reverse pressure softening: a simple tool to prepare areola for easier latching during engorgement. J Hum Lact 2004;20:227-37.

?รูปที่ 1 แสดงเต้านมคัด

 

เต้านมคัด?เต้านมคัด

 

 

 

?รูปที่ 2 แสดงการบีบน้ำนมออกจากเต้านม

แสดงการบีบน้ำนมออกจากเต้านม

 

 

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์