วิธีการให้อินซูลินกับผลของการตั้งครรภ์

BUSIN194

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? วิธีการให้อินซูลินในมารดาที่เป็นเบาหวานที่ตั้งครรภ์มีความสำคัญ โดยมีการศึกษาเปรียบเทียบการให้อินซูลินเป็นครั้งวันละหลายครั้งเทียบกับการให้อินซูลินทีละน้อยอย่างต่อเนื่องพบว่า การให้อินซูลินทีละน้อยอย่างต่อเนื่องมีการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากน้ำตาลต่ำน้อยกว่าและใช้ปริมาณอินซูลินน้อยกว่า แต่ผลลัพธ์ของมารดาและทารกไม่แตกต่างกัน1 อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้เป็นการสังเกตโดยเก็บข้อมูลแบบย้อนหลัง จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Wender-Ozegowska E, Zawiejska A, Ozegowska K, et al. Multiple daily injections of insulin versus continuous subcutaneous insulin infusion for pregnant women with type 1 diabetes. Aust N Z J Obstet Gynaecol 2013;53:130-5.

 

การใช้อินซูลินออกฤทธิ์นานระยะยาวในมารดาที่เป็นเบาหวาน

BUSIN201

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?มารดาที่เป็นเบาหวานที่ตั้งครรภ์ หากเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 มักได้รับการรักษาด้วยอินซูลินที่เป็นฮอร์โมนที่ช่วยลดระดับน้ำตาลชนิดที่ออกฤทธิ์เร็ว (Rapid acting insulin) และอินซูลินชนิดออกฤทธิ์นานระยะปานกลาง (Intermediate acting insulin) สำหรับอินซูลินที่ออกฤทธิ์นานระยะยาว ได้แก่ insulin detemir ที่ออกฤทธิ์ควบคุมระดับน้ำตาลได้ถึง 24 ชั่วโมง เริ่มมีการนำมาใช้ในมารดาที่ตั้งครรภ์ โดยมีการศึกษาเปรียบเทียบการใช้ insulin detemir กับ NPH (neutral protamine Hagedorn) ในการควบคุมระดับน้ำตาลในมารดาระหว่างตั้งครรภ์พบว่าไม่แตกต่างกัน และภาวะแทรกซ้อนจากภาวะน้ำตาลต่ำที่พบใกล้เคียงกัน1 ดังนั้น การใช้อินซูลินที่ออกฤทธิ์นานระยะยาวอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการใช้รักษามารดาที่เป็นเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์

เอกสารอ้างอิง

  1. Mathiesen ER, Hod M, Ivanisevic M, et al. Maternal efficacy and safety outcomes in a randomized, controlled trial comparing insulin detemir with NPH insulin in 310 pregnant women with type 1 diabetes. Diabetes Care 2012;35:2012-7.

 

 

การใช้ insulin pump ในมารดาที่เป็นเบาหวาน

BUSIN253

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?มารดาที่เป็นเบาหวาน หากมีอายุน้อยมักเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งจำเป็นต้องรักษาด้วยอินซูลินที่เป็นฮอร์โมนที่ช่วยลดระดับน้ำตาล ปัจจุบันเริ่มมีการใช้อินซูลินชนิดที่ฉีดเข้าใต้ผิวหนังขนาดทีละน้อยให้ใกล้เคียงกับการทำงานของตับอ่อน โดยผู้ป่วยจะมีเข็มขนาดเล็กฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และมีสายต่อมาที่เครื่องควบคุมการฉีดอินซุลิน เรียกเครื่องมือนี้ว่า insulin pump มีการศึกษาถึงการใช้ insulin pump ระหว่างการตั้งครรภ์พบว่า การใช้ insulin pump ควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกายในช่วงระยะเวลาที่นาน (Hb A1c) ได้ดีและไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากภาวะน้ำตาลต่ำรุนแรง อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่าผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ดีขึ้นจากการใช้ insulin pump1 นอกจากนี้ การใช้ insulin pump ยังมีค่าใช้จ่ายสูง การเลือกใช้จึงไม่ควรใช้เป็นทางเลือกแรกในการรักษา

เอกสารอ้างอิง

  1. Kallas-Koeman MM, Kong JM, Klinke JA, et al. Insulin pump use in pregnancy is associated with lower HbA1c without increasing the rate of severe hypoglycaemia or diabetic ketoacidosis in women with type 1 diabetes. Diabetologia 2014;57:681-9.

 

การวางแผนการตั้งครรภ์สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

m1157

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน หากต้องการจะตั้งครรภ์ ควรมีการเตรียมตัวหรือเตรียมความพร้อมโดยการควบคุมน้ำตาลให้ใกล้เคียงกับค่าปกติ ซึ่งมีการศึกษาถึงการวางแผนในการตั้งครรภ์สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การเข้ารับการอบรมในการควบคุมระดับน้ำตาลก่อนการตั้งครรภ์และในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์จะช่วยให้ผลดีต่อมารดาและทารก รวมทั้งอาจช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้1 ดังนั้น หากจะให้ดี จะเห็นว่าในสตรีที่มีโรคประจำตัวควรมีการปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์เสมอ

เอกสารอ้างอิง

  1. Mustafa E, Khalil S, Kirwan B, et al. A regional pre-pregnancy care (PPC) programme for women with type 1 and type 2 diabetes. Ir Med J 2012;105:11-3.

 

การวินิจฉัยเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์

ANIM394

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? แนวโน้มของเกณฑ์การวินิจฉัยเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ลดต่ำลงและแนะนำให้ตรวจคัดกรองในมารดาที่ตั้งครรภ์ทุกราย เนื่องจากการที่มีภาวะน้ำตาลสูงอาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์และทารกได้มาก เกณฑ์การวินิจฉัยที่ได้จาก HAPO study ใช้เกณฑ์การทดสอบเจาะเลือดตอนเช้าหลังงดน้ำงดอาหาร 6-8 ชั่วโมง จากนั้นกินน้ำตาล 75 กรัมแล้วเจาะเลือดที่หนึ่งและสองชั่วโมงหลังกินน้ำตาล หากระดับน้ำตาลในน้ำเลือดมากกว่า 92 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรก่อนกินน้ำตาล หรือมากกว่า 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรที่ชั่วโมงที่หนึ่งหรือ 153 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรที่ชั่วโมงที่สองหลังกินน้ำตาลถือว่าเป็นเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์1 ซึ่งจะแตกต่างจากเกณฑ์ที่คุ้นเคยในการใช้การกินน้ำตาล 100 กรัมในการวินิจฉัยของ O?Sullivan และ Mahan หรือ Carpenter และ Coustan

? ? ? ? ? ? ?ความคาดหวังในการลดเกณฑ์การวินิจฉัยเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์เพื่อลดความเจ็บป่วยหรือภาวะแทรกซ้อนและค่าใช้จ่ายทางสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวได้ แต่ก็พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของอัตราการผ่าตัดคลอดควบคู่กันไปด้วย2 ดังนั้น การพิจารณาที่จะเลือกใช้เกณฑ์ในการวินิจฉัยเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ในประเทศไทย หากจะนำมาใช้จำเป็นต้องมีการศึกษาถึงความชุก ภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นจากการมีเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ และความพร้อมในการรองรับการผ่าตัดคลอดที่จะมีเพิ่มขึ้นรวมถึงระบบการส่งต่อมารดาและทารก เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการใช้งบประมาณของประเทศเป็นไปด้วยความประหยัดและมีประสิทธิภาพ

เอกสารอ้างอิง

  1. Lowe LP, Metzger BE, Dyer AR, et al. Hyperglycemia and Adverse Pregnancy Outcome (HAPO) Study: associations of maternal A1C and glucose with pregnancy outcomes. Diabetes Care 2012;35:574-80.
  2. Reece EA, Moore T. The diagnostic criteria for gestational diabetes: to change or not to change? Am J Obstet Gynecol 2013;208:255-9.

 

 

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)