เวลาในการหนีบตัดสายสะดือหลังคลอดกับพัฒนาการของระบบประสาท

PICT0100-2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ?ปัจจุบัน การหนีบตัดสายสะดือในทารกหลังคลอดปกติจะรอเวลานาน 30 วินาทีถึง 2 นาที ซึ่งจะช่วยให้เลือดที่อยู่ในรกได้โอนถ่ายมาสู่ทารกมากขึ้น โดยจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะซีดในทารกได้ และยังมีประโยชน์ในทารกที่คลอดก่อนกำหนดด้วย นอกจากนี้ มีการศึกษาเปรียบเทียบพัฒนาการทางระบบประสาทของทารกที่มีการชะลอการตัดสายสะดือทารกหลังคลอด (นาน 2 นาทีหรือมากกว่า) กับทารกที่มีการหนีบตัดสายสะดือเร็ว (น้อยกว่า 10 วินาที) พบว่าเมื่ออายุ 4 ปี เด็กที่มีการชะลอการหนีบตัดสายสะดือหลังคลอดมีคะแนนของพัฒนาการของกล้ามเนื้อขนาดเล็กและการเข้าสังคมได้ดีกว่าเด็กที่มีการหนีบตัดสายสะดือเร็ว1 ดังนั้น แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ควรชะลอการหนีบตัดสายสะดือ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ในมารดาและทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Andersson O, Lindquist B, Lindgren M, Stjernqvist K, Domellof M, Hellstrom-Westas L. Effect of Delayed Cord Clamping on Neurodevelopment at 4 Years of Age: A Randomized Clinical Trial. JAMA Pediatr 2015.

 

การใช้ยาชนิดรับประทาน metformin ในมารดาเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์

BUSIN109~1

 

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?ในมารดาที่ตรวจพบเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ เดิมการรักษาส่วนใหญ่แนะนำให้ใช้อินซูลินในการดูแลรักษา หากมารดาไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลโดยการควบคุมอาหาร แต่ในปัจจุบันมีการใช้ยาชนิดรับประทาน metformin ในมารดาที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ โดยมีการศึกษาพบว่า การใช้ยา metformin ช่วยลดระดับน้ำตาลของมารดาได้ดี มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นน้อยกว่า และพบทารกมีภาวะน้ำตาลต่ำน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการให้อินซูลิน สำหรับตัวทำนายการใช้อินซูลินเสริมเพิ่มจากการรับประทานยาได้แก่ อายุครรภ์ที่ได้รับการวินิจฉัยเบาหวาน และค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลของมารดาก่อนการรักษา1 ดังนั้น การใช้ยา metformin จึงเป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษามารดาที่เป็นเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์

? ? ? ? ? สำหรับความวิตกกังวลเรื่องการใช้ยา metformin กับความผิดปกติของทารกที่เกิดความผิดปกติของท่อระบบประสาท (neural tube defect) พบในการศึกษาในสัตว์ทดลอง ยังไม่มีรายงานในมนุษย์ แต่มีรายงานการพบการเกิดนิ้วเกิน (polydactyly)2 ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ไม่รุนแรงในมารดาที่ใช้ยาในไตรมาสแรก ยา metformin ผ่านรกโดยขึ้นอยู่กับขนาดการใช้ของยา ซึ่งทางทฤษฎีอาจส่งผลต่อภาวะน้ำตาลของทารกได้ การใช้ยานี้จึงควรติดตามด้วยความระมัดระวัง

เอกสารอ้างอิง

  1. Spaulonci CP, Bernardes LS, Trindade TC, Zugaib M, Francisco RP. Randomized trial of metformin vs insulin in the management of gestational diabetes. Am J Obstet Gynecol 2013;209:34 e1-7.
  2. Coetzee EJ, Jackson WP. Oral hypoglycaemics in the first trimester and fetal outcome. S Afr Med J 1984;65:635-7.

 

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)