ทารกที่น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์

IMG_0698

 

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?ในทารกที่กินนมแม่ มารดาบางคนมักมีความวิตกกังวลเรื่องความเพียงพอของปริมาณน้ำนมที่ให้แก่ทารก ซึ่งมารดาควรมีความรู้เกี่ยวกับการประเมินความเพียงพอของน้ำนม โดยทั่วไป มารดาจะให้นมตามความต้องการของทารก การสังเกตว่าทารกกินนมได้เพียงพอสามารถสังเกตได้จาก หลังกินนม ทารกดูรู้สึกอิ่มสบาย นอนหลับได้นาน ไม่กระสับกระส่าย ขับถ่ายได้ดี โดยหลังสัปดาห์แรกแล้วทารกควรปัสสาวะวันละ 6-8 ครั้ง อุจจาระวันละ 3 ครั้ง ไม่มีลักษณะอาการขาดน้ำ น้ำหนักทารกขึ้นได้ดีตามเกณฑ์ ซึ่งมารดาจำเป็นต้องมีการติดตามน้ำหนักทารกเทียบกับกราฟการเจริญเติบโตมาตรฐานของทารกที่กินนมแม่

? ? ? ? ? ? ?ในกรณีที่น้ำหนักทารกไม่ขึ้นตามเกณฑ์ ควรมีการประเมินความเพียงพอของการให้นม โดยการชั่งน้ำหนักทารกก่อนและหลังการกินนมและคำนวณปริมาณน้ำนมที่ทารกได้รับ อย่างไรก็ตาม ในแต่ละมื้อที่ทารกกินนมแม่ ปริมาณอาจแตกต่างกัน การประเมินเฉลี่ยต่อวันจะมีความแม่นยำมากกว่า ซึ่งหากทารกได้รับปริมาณน้ำนมที่เพียงพอแล้ว แต่การเจริญเติบโตหรือน้ำหนักไม่เพิ่ม จำเป็นต้องมีการปรึกษากุมารแพทย์เพื่อหาสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ทารกเจริญเติบโตช้า แต่หากทารกได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ การแนะนำมารดาให้สังเกตอาการหิวของทารก การกระตุ้นให้ทารกกินนมเพิ่มในบางคนที่กินนมช่วงระยะเวลาสั้นๆ แล้วหลับอาจมีความจำเป็น การบีบนวดเต้าเพื่อปรับให้ปริมาณน้ำนมไหลได้ดีขึ้น หรือการกระตุ้นบริเวณมุมปากทารกจะช่วยให้ทารกดูดนมได้มากขึ้น ซึ่งหากกระตุ้นแล้วทารกยังได้รับน้ำนมน้อย การบีบน้ำนมด้วยมือหรือปั๊มนมและป้อนนมเสริมให้กับทารกอาจมีความจำเป็น นอกจากนี้ ทารกควรอยู่ในการติดตามดูแลของแพทย์ เนื่องจากในช่วงแรกของชีวิต การเจริญเติบโตของทารกจะมีการพัฒนาในส่วนของสมองเป็นอย่างมาก การขาดหรือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจะส่งผลต่อพัฒนาการ ความเฉลียวฉลาดเมื่อทารกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd?ed. Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.

ทำไมทารกจึงร้องไห้ขณะให้กินนมแม่

breastfeeding_111

??????????????? รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? การร้องไห้ของทารก โดยทั่วไปมักเข้าใจว่าทารกหิวต้องการกินนม ส่วนใหญ่ก็มักเป็นเช่นนั้น แต่หากรอจนทารกมีอาการหิวมากจนร้องไห้แล้ว การอุ้มทารกมาให้นมทันที ทารกอาจหงุดหงิดหรือปฏิเสธเต้านมได้ มารดาควรอุ้มทารกไว้ที่อกให้เนื้อแนบเนื้อ รอจนทารกสงบแล้วจึงนำทารกเข้าเต้าอีกครั้ง โดยหลักของการให้นม ควรให้นมตามความต้องการของทารกและไม่จำเป็นต้องรอให้ทารกหิวมากจนร้องไห้ อย่างไรก็ตาม การร้องไห้ของทารกอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้ ได้แก่ การไม่สบายตัวจากการขับถ่าย ความต้องการการดูแลหรือความอบอุ่นและความรู้สึกปลอดภัยจากมารดา ซึ่งการเอาใจใส่สังเกตถึงระยะเวลาการให้นมลูก อาการที่บ่งบอกว่าทารกหิว หรืออาการที่ไม่สบายจากการขับถ่าย จะทำให้มารดาเข้าใจในภาษากายของทารกในแต่ละคนที่มีความจำเพาะที่แตกต่างกันได้ การที่มารดาได้อยู่ใกล้ชิดกับทารกตลอดเวลาจะสร้างการเรียนรู้และทำให้มารดาดูแลปัญหาการร้องไห้ของทารกได้อย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd?ed. Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.

เหตุใดทารกจึงหงุดหงิดไม่พอใจขณะที่อยู่ที่หน้าอกแม่เพื่อดูดนม

IMG_0692

 

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?ในการให้นมแม่แก่ทารก บางครั้งจะพบว่าทารกหงุดหงิดไม่พอใจขณะอยู่ที่หน้าอกมารดา ซึ่งทารกอาจจะแสดงออกโดยการกระสับกระส่าย ผละออกจากเต้านม หรือร้องไห้ ในกรณีเหล่านี้ มารดาหรือผู้ดูแลต้องสังเกตว่า ทารกได้กินนมแม่ครั้งสุดท้ายไปเมื่อไร การให้นมแม่ในครั้งนี้ทารกมีอาการที่บ่งบอกถึงความหิวแล้วหรือไม่ ทารกหงุดหงิดจากการที่ปล่อยให้ทารกหิวจนเกินไปไหม สังเกตการเข้าเต้าของทารกว่าเข้าเต้าได้อย่างเหมาะสมดีแล้วหรือยัง ขณะทารกดูดนมทารกมีการหายใจที่ติดขัดหรือลำบากไหม การเอาใจใส่และสามารถให้คำตอบกับคำถามเหล่านี้ได้ จะทำให้มารดาหรือบุคลากรทางการแพทย์ให้การดูแลหรือช่วยเหลือทารกได้อย่างเหมาะสม

? ? ? ? ? ? ?การช่วยเหลือทารกที่หงุดหงิดไม่พอใจขณะที่อยู่ที่หน้าอกของมารดา หากสาเหตุเป็นจากการที่ไม่ได้ให้นมตามความต้องการของทารก มารดาอาจต้องอุ้มทารกเนื้อแนบเนื้อไว้ที่หน้าอกก่อน รอให้ทารกสงบหรือมีอาการบ่งบอกถึงความหิวแล้วจึงให้นมอีกครั้ง หากเป็นจากท่าที่ให้นมไม่เหมาะสม มารดาอาจควรปรับเปลี่ยนท่าหรืออาจได้รับความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์ในการสังเกตดูมารดาขณะให้นมและแนะนำการปรับเปลี่ยนท่าที่เหมาะสมในการให้นมลูก หากทารกมีอาการหายใจติดขัดหรือไม่สะดวกขณะดูดนม ทารกอาจมีความเจ็บป่วยหรือไม่สบายได้ โดยเฉพาะหากขณะดูดนมทารกมีริมฝีปากซีดหรือม่วงคล้ำ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุที่ผิดปกติของทารก ดังนั้น ในเบื้องต้น การแก้ไขมักทำได้โดยการปรับเปลี่ยนระยะเวลาการให้นมและท่าในการให้นมของทารกให้เหมาะสม แต่หากไม่ได้ผลจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุและแนะนำแนวทางในการแก้ปัญหาและให้การติดตามดูแลทารกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทารกได้มีการเจริญเติบและพัฒนาการตามวัยที่ดีได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd?ed. Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.

 

การช่วยเหลือทารกที่เข้าเต้าแต่ไม่ประกบติดที่เต้านม(ตอนที่3)

00025-1-1-n-small

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?หากสาเหตุเป็นจากความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ หรือในทารกกลุ่มอาการดาวน์ การทำงานของกล้ามเนื้อจะอ่อนแรง แรงประกบติดเต้านมและดูดนมจะน้อย อาจต้องใช้สายยางต่อหลอดฉีดยาใส่นมช่วยหยดนมและฝึกทารกก่อนในช่วงแรก เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ทารกจะดูดได้ดีขึ้นและดูดได้เอง

? ? ? ? ? ? หากสาเหตุเป็นจากทารกที่ขาดอาหาร อ่อนแรง จำเป็นต้องป้อนให้ทารกได้อาหารและพลังงานที่เพียงพอเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและมีแรงที่จะใช้ในการเข้าเต้าและดูดนม สำหรับทารกที่เจ็บป่วย หายใจเร็ว หรือมีน้ำมูกในช่องทางเดินหายใจส่วนบน จำเป็นต้องให้การรักษาความเจ็บป่วยของทารกให้ดีขึ้น โดยบางกรณีอาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยในการรักษา พร้อมกันกับการฝึกให้ทารกคุ้นเคยกับการเข้าเต้าและการดูดนมที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ทารกเจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่ดีได้

? ? ? ? ? ?ดังนั้น ในแต่ละสาเหตุที่ทำให้ทารกเข้าเต้าแล้วไม่ประกบติดเต้านม มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจงที่แตกต่างกัน มารดาและบุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องหาสาเหตุและวางแผนการแก้ไขร่วมกัน จึงจะทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีโดยมีการคำนึงถึงปัจจัยหรือข้อจำกัดต่างๆ ของมารดา เพื่อให้มีการร่วมมือในช่วยเหลือให้ทารกได้กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อยหกเดือน

เอกสารอ้างอิง

  1. Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd?ed. Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.

การช่วยเหลือทารกที่เข้าเต้าแต่ไม่ประกบติดที่เต้านม(ตอนที่2)

00026-1-1-small

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? หากสาเหตุเป็นจากน้ำนมไหลเร็วเกินไป เต้านมตึงมาก การบีบน้ำนมออกก่อนให้เต้านมนิ่มลง แรงดันของน้ำนมที่ไหลออกมาจะลดลง ทารกจะอมหัวนมและลานนมได้ดีขึ้น แต่หากสาเหตุเป็นจากน้ำนมไหลน้อยหรือไหลช้า การกระตุ้นด้วยการบีบน้ำนมด้วยมือหรือการปั๊มนมเพิ่มจากการกระตุ้นของดูดของทารกจะช่วยให้น้ำนมมามากขึ้น ร่วมกับการหยดน้ำนมที่หัวนม กลิ่นของน้ำนมจะช่วยกระตุ้นทารกให้อมหัวนมและลานนมและดูดนมได้ดีขึ้นด้วย

? ? ? ? ? ?หากสาเหตุเป็นจากความผิดปกติในช่องปากของทารก ทารกมีภาวะลิ้นติด การผ่าตัดแก้ไขจะช่วยให้ทารกเข้าเต้าและดูดนมได้ดีขึ้น หากทารกมีเพดานสูงและไม่สามารถจะลดความดันในช่องปากให้น้ำนมไหลได้ดี การใช้สายยางต่อหลอดฉีดยาใส่น้ำนมและช่วยหยดน้ำนมขณะทารกดูดนมจะช่วยฝึกทารกให้คุ้นเคยกับการเข้าเต้า และมีทารกโตมากขึ้น ทารกจะมีแรงดูดมากขึ้น การเข้าเต้าและการประกบติดเต้านมจะดีขึ้น ในกรณีที่ทารกมีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ อาจต้องใช้การป้อนนมด้วยถ้วยช่วยก่อน หรืออาจพิจารณาการให้นมจากเต้านมในท่าจะน้ำนมจะไหลเข้าสู่กระเพาะทารกได้ง่าย ได้แก่ ท่าทารกนั่งหลังตรง ซึ่งจะลดการสำลักนมของทารกได้ เมื่อทารกโตขึ้น การปรับตัวกับการประกบติดเต้านมดีขึ้น มีแรงดูดที่ดีขึ้น การเข้าเต้าก็จะดีขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd?ed. Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)