การใช้ยาควบคุมอารมณ์ในระหว่างการให้นมบุตร

IMG_1638

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เรื่องความเครียด อาการหงุดหงิด หรือการมีอารมณ์โกรธ เริ่มพบเป็นปัญหามากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งสังคมมีการแข่งขันสูง เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ทำให้คนในสังคมเกิดภาวะเครียด ทั้งนี้รวมถึงมารดาที่อาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อควบคุมหรือปรับอารมณ์ (mood stabilizer) ความสงสัยที่ตามมาคือ การใช้ยาควบคุมอารมณ์นั้นมีผลเสียต่อทารกหรือไม่ มีการศึกษาโดยเก็บข้อมูลในมารดาที่ใช้ยาควบคุมอารมณ์และให้นมบุตร พบว่า ไม่พบผลเสียใดๆ ในมารดาที่ได้รับยาควบคุมอารมณ์และให้นมบุตร1 อย่างไรก็ตาม การป้องกัน ดูแลสุขภาพและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ น่าจะช่วยเรื่องสุขภาพกายให้สมบูรณ์แข็งแรง อันจะส่งผลช่วยในสุขภาพจิตที่ดี ทำให้มารดาสามารถหลีกเลี่ยงความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาเหล่านี้ระหว่างการให้นมบุตรจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Uguz F, Sharma V. Mood stabilizers during breastfeeding: a systematic review of the recent literature. Bipolar Disord 2016;18:325-33.

นมแม่น่าจะช่วยเรื่องการทำงานของปอด

IMG_1712

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การกินนมแม่จะประโยชน์ในเรื่องภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจและโรคภูมิแพ้ นอกจากนี้ยังอาจช่วยเรื่องการทำงานของปอดด้วย โดยมีการศึกษาในทารกที่มีประวัติครอบครัวเป็นภูมิแพ้ เมื่อติดตามการทำงานของปอดเมื่อทารกเติบโตขึ้นและย่างเข้าสู่วัยรุ่นพบว่า ผลการทดสอบบางอย่างบ่งชี้ว่า ทารกที่กินนมแม่จะมีการทำงานของปอดที่ดีกว่า1 ซึ่งยิ่งช่วยยืนยันประโยชน์ของนมแม่ที่กล่าวไว้ในตอนต้นและจะได้ประโยชน์มากขึ้นในทารกที่มีประวัติที่เสี่ยงที่จะเป็นโรคภูมิแพ้

เอกสารอ้างอิง

  1. Waidyatillake NT, Simpson JA, Allen KJ, et al. The effect of breastfeeding on lung function at 12 and 18 years: a prospective cohort study. Eur Respir J 2016;48:125-32.

ตัวอย่างนมกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว

IMG_1677

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในการรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องใส่ใจคือ การตลาดของอาหารทารกและเด็กเล็ก โดยเฉพาะนมผงดัดแปลงสำหรับทารก ซึ่งมีการโฆษณาผ่านสื่อทั้งในโทรทัศน์และ internet โดยหากมารดาและครอบครัวขาดความรู้ที่เท่าทันและครบถ้วน สื่อเหล่านี้จะเป็นช่องทางที่จูงใจและทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวลดลงได้ นอกจากนี้ การแจกตัวอย่างนมผงยังมีผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวด้วย มีการศึกษาพบว่า การแจกตัวอย่างนมผงส่งทางไปรษณีย์ถึงบ้านนั้นลดอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วงหกเดือนลง1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ที่ควรเป็นแกนนำในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จำเป็นต้องมีหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ช่วยสื่อสารทางการตลาดสำหรับนมแม่และอาหารทารกและเด็กเล็กให้ครบถ้วนและรอบด้านในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อีกทางหนึ่ง

เอกสารอ้างอิง

  1. Waite WM, Christakis D. The Impact of Mailed Samples of Infant Formula on Breastfeeding Rates. Breastfeed Med 2016;11:21-5.

อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงในทารกที่ส่องไฟ

IMG_1467

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ทารกตัวเหลืองเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยของทารกแรกเกิดในระยะหลังเกิด สาเหตุของการเกิดทารกตัวเหลืองมีหลายสาเหตุ ได้แก่ การที่หมู่เลือดมารดาและทารกไม่เข้ากัน ภาวะ G6PD การติดเชื้อ และการกินนมแม่ที่ไม่เพียงพอ วิธีการดูแลรักษาที่นิยมใช้ในการรักษาทารกตัวเหลือง คือ การส่องไฟ ซึ่งความถี่ของแสงที่พอเหมาะจะช่วยในการเปลี่ยนแปลงบิลลิรูบินที่เป็นสารเหลือง ทำให้ร่างกายทารกสามารถกำจัดสารเหลืองออกจากร่างกายได้ดีขึ้น แต่มีการศึกษาพบว่า การที่ทารกส่องไฟในการรักษาภาวะตัวเหลืองมีความสัมพันธ์กับอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วง 4 เดือนแรก1 โดยสาเหตุของการที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ลดลง อาจเป็นจากทารกจำเป็นต้องแยกไปส่องไฟรักษาภาวะตัวเหลืองหรือความวิตกกังวลของมารดาจากการที่ทารกตัวเหลือง ซึ่งหากบุคลากรทางการแพทย์ทราบถึงความเสี่ยงนี้ เอาใจใส่ ให้ความเข้าใจ และย้ำเตือนให้ทราบถึงประโยชน์ของนมแม่ อาจช่วยให้มารดาคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Waite WM, Taylor JA. Phototherapy for the Treatment of Neonatal Jaundice and Breastfeeding Duration and Exclusivity. Breastfeed Med 2016;11:180-5.

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)