สัปดาห์นมแม่โลก

IMG_1680

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในเดือนกันยายนปี ค.ศ. 2015 ผู้นำด้านสุขภาพทั่วโลกมาประชุมกันและวางเป้าหมายการทำงาน ในการร่วมกันรณรงค์เพื่อพิชิตความยากจน สร้างความเจริญก้าวหน้าและปกป้องโลก ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการที่ยั่งยืนในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งทุกคนต่างเห็นร่วมกันว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเสมือนกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่พัฒนาการที่ยั่งยืนตามเป้าหมายที่กำหนดในปี ค.ศ. 2030 ได้ สมาพันธ์เครือข่ายนมแม่โลก (World Alliances for Breastfeeding Action หรือ WABA) จึงได้กำหนด theme ของสัปดาห์นมแม่โลกในปี ค.ศ.2016 ว่า ?Breastfeeding: a key to sustainable development?1 สัปดาห์นมแม่โลกนั้นถือว่าสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมเป็นสัปดาห์นมแม่โลกของทุกปี ซึ่งจะสอดคล้องกับวันแม่ของไทยที่จะจัดในช่วงถัดมาคือในวันที่ 12 สิงหาคม โดยตั้งวัตถุประสงค์ของการรณรงค์เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาการที่ยั้งยืนนั้น ต้องสร้างให้เกิดความรู้ความเข้าใจโดยฝังเข้าไปในจิตใจในเรื่องประโยชน์ความสำคัญและความสัมพันธ์ของนมแม่กับการพัฒนาการที่ยั่งยืนด้วยการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนทุกระดับร่วมกันทำงาน และเกิดวัฒนธรรมในการปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่2 สิ่งนี้ชัดเจนในการที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนที่ต้องสร้างค่านิยมหรือวัฒนธรรมสุขภาพที่ดี เพื่อให้เกิดการพัฒนาการที่ยั่งยืนในปี ค.ศ. 2030 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

เอกสารอ้างอิง

  1. Taylor J. World Breastfeeding Week 2016: The Academy of Breastfeeding Medicine’s Important Role in Sustainable Development. Breastfeed Med 2016.
  2. Taylor J. The Academy of Breastfeeding Medicine’s New 5-Year Strategic Plan (2016-2020). Breastfeed Med 2016.

ทารกที่กินนมแม่นานเสี่ยงต่อโรคอ้วนน้อยกว่า

IMG_1594

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในปัจจุบัน พบแนวโน้มของความเสี่ยงการเกิดโรคอ้วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายแม้เป็นสิ่งสำคัญ แต่ลักษณะของการกินในวัยทารกก็เป็นสิ่งที่ทำนายเรื่องน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนได้เช่นกัน โดยองค์การอนามัยโลกพบว่า ทารกที่กินนมแม่ในระยะเวลาที่สั้นกว่า จะเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นมากกว่า นอกจากนี้ มีการศึกษาในทารกแฝดที่กินนมแม่ในระยะเวลาที่ต่างกัน พบว่า ทารกแฝดที่กินนมแม่น้อยกว่า 4 เดือนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนสูงกว่าทารกแฝดที่กินนมแม่นาน 4-6 เดือน1 ดังนั้น การสร้างสุขภาพที่ดีและลดโรคอ้วนอาจต้องเริ่มต้นที่การสนับสนุนให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียวหกเดือนเพิ่มขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Temples HS, Willoughby D, Holaday B, et al. Breastfeeding and Growth of Children in the Peri/postnatal Epigenetic Twins Study (PETS): Theoretical Epigenetic Mechanisms. J Hum Lact 2016;32:481-8.

ทฤษฎีพฤติกรรมจากการวางแผนกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

S__38208166

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงหลังคลอดนั้น มีการอธิบายถึงพฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่สามารถจะทำนายได้ด้วยทฤษฎีพฤติกรรมจากการวางแผน (Theory of planned behavior) โดยมารดาที่วางแผนตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะมีทัศนคติที่ดีและพฤติกรรมที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ความตั้งใจนั้นทำนายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้ถูกต้องได้เพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนมารดาทั้งหมด (ร้อยละ 51) การจะเพิ่มผลของการทำนายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว อาจต้องเพิ่มเติมปัจจัยด้านการสนับสนุนของบุคลากรทางการแพทย์และคนรอบข้างร่วมกับความสามารถทางด้านทักษะในการแก้ปัญหาเมื่อพบอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะช่วยผลการทำนายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 161 ดังนั้น สิ่งนี้แสดงถึงผลของการให้การสนับสนุน การสอนทักษะการแก้ปัญหาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องของบุคลากรทางการแพทย์มีความสำคัญในการช่วยให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนสำเร็จ ซึ่งการดูแลยังคงต้องมีความต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนให้ทารกมีโอกาสได้กินนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งสองปีหรือนานกว่านั้นด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Tengku Ismail TA, Wan Muda WA, Bakar MI. The extended Theory of Planned Behavior in explaining exclusive breastfeeding intention and behavior among women in Kelantan, Malaysia. Nutr Res Pract 2016;10:49-55.

ท่าอุ้มทารกให้นมแม่แบบขวางตักประยุกต์อาจทำให้หัวนมแม่บาดเจ็บ

IMG_1597

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? โดยปกติหลังคลอด มารดาจะได้รับการสอนท่าในการให้นมลูกที่มักใช้กันบ่อยๆ ได้แก่ ท่าอุ้มขวางตัก ท่าอุ้มขวางตักประยุกต์ ท่าอุ้มฟุตบอล และท่านอนตะแคง นอกจากนี้ ยังมีท่าอุ้มเอนหลัง (laid back) ที่เริ่มมีการใช้กันมากขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลว่าน่าจะช่วยในการพัฒนาการของทารกได้ดี แต่มีการศึกษาที่พบว่า การอุ้มทารกให้นมท่าขวางตักประยุกต์สัมพันธ์กับการทำให้เกิดการบาดเจ็บของหัวนมแม่เพิ่มขึ้น 1.9 เท่า (95%CI 1.03-3.50)1 ซึ่งในการปฏิบัติท่าอุ้มขวางตักประยุกต์ มารดาจะใช้มือข้างหนึ่งประคองศีรษะทารก ควบคุม และขยับเข้าเต้าได้ดี แต่หากการเข้าเต้านั้นทำโดยไม่เหมาะสม ทารกเอียงคอ หรือมารดาใช้มือกดศีรษะทารกมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของหัวนมได้ ดังนั้น นอกจากการสังเกตการใช้ท่าต่างๆ ในการให้นมแล้ว มารดาหรือบุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องดูลักษณะสำคัญสี่ประการ ได้แก่ ศีรษะและลำตัวทารกอยู่ในแนวเดียวกัน ลำตัวทารกแนบชิดกับมารดา ทารกหันหน้าเข้าหาเต้านม โดยตำแหน่งของจมูกอยู่ที่เต้านม และเมื่อทารกเข้าเต้าทารกจะอมทั้งหัวนมและลานนม โดยจะสังเกตเห็นลานนมด้านบนมากกว่าด้านล่าง นอกจากนี้ การสอนให้มารดาให้นมบุตรได้มากกว่าสองท่าก่อนกลับบ้านจะสัมพันธ์กับระยะเวลาการเลี้ยงลูกที่ยาวนานขึ้นด้วย2

เอกสารอ้างอิง

  1. Thompson R, Kruske S, Barclay L, Linden K, Gao Y, Kildea S. Potential predictors of nipple trauma from an in-home breastfeeding programme: A cross-sectional study. Women Birth 2016.
  2. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Manolerdtewan W, Ketsuwan S, Sinutchanan W. The Number of Infant Feeding Positions and the 6-Month Exclusive Breastfeeding Rates. J Med Assoc Thai 2015;98:1075-81.

การดื่มเครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มให้พลังงานในระหว่างการให้นมบุตร

IMG_1732

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในยุคเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูง สภาวะของสังคมกดดันให้มารดาต้องออกไปทำงานมากขึ้น ไม่ได้อยู่เป็นแม่บ้านอย่างเดียวเหมือนในยุคก่อน เมื่อมารดาต้องทำงาน อาจมีความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ความเคยชินหรืออาจได้รับผลจากการตลาดสื่อโฆษณา เรื่องเครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มให้พลังงานที่จะทำให้ร่างกายสดชื่น มีเรี่ยวแรงในการทำงาน รวมทั้งสามารถดูแลงานบ้านและให้นมบุตรได้ การใช้เครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มให้พลังงานในระหว่างการให้นมบุตรนั้น ก่อนอื่นต้องทราบว่าส่วนประกอบของเครื่องดื่มเหล่านี้ประกอบด้วยสารใดๆ บ้าง โดยทั่วไป จะมีคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาล วิตามินและเกลือแร่ในส่วนผสมที่สูง อาจมีคาเฟอีนหรือสารสกัดจากสมุนไพรต่างๆ บางตัวที่ไม่ทราบรายละเอียดของสารประกอบที่ออกฤทธิ์ในสมุนไพรเหล่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ารใช้เครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มที่ให้พลังงานอาจมีผลเสียต่อทารกได้จากการได้รับคาเฟอีน ที่จะทำให้ทารกกระสับกระส่าย หงุดหงิด ไม่ยอมนอน หรือมีผลเสียจากการได้รับวิตามินหรือเกลือแร่ในขนาดที่สูงเกินไป หรืออาจได้รับผลเสียจากสมุนไพรที่ไม่ทราบส่วนประกอบที่แน่ชัด1 จึงมีความจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มให้พลังงานในระหว่างการให้นมบุตร นอกจากนี้ การจัดสรรแบ่งบันงานบ้านในครอบครัวในยุคคุณแม่ทำงาน อาจช่วยลดความเครียดและความเหนื่อยล้า ทำให้มารดาสามารถให้นมลูกด้วยความผ่อนคลาย ปราศจากความกังวลที่ส่งผลต่อการไหลและความเพียงพอของน้ำนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Thorlton J, Ahmed A, Colby DA. Energy Drinks: Implications for the Breastfeeding Mother. MCN Am J Matern Child Nurs 2016;41:179-85.

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)