โรคอีสุกอีใสกับนมแม่

img_2099

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? โรคอีสุกอีใสเกิดจากการติดเชื้อไวรัส การติดเชื้อหากติดเชื้อในระหว่างการตั้งครรภ์ มารดาจะมีอาการปอดบวม และเกิดภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ ได้แก่ การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด เชื้อไวรัสสามารถผ่านรกและทำให้เกิดการติดเชื้อในทารกได้ โดยทารกจะมีผื่นที่ผิวหนัง เป็นแผลเป็น เกิดความพิการผิดรูปของแขนขา และอาจพบความผิดปกติของระบบประสาทและสมอง เมื่อมีติดเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์ มารดาจะสร้างภูมิคุ้มกันและส่งผ่านรกไปยังทารก พร้อมกันนั้นในระยะหลังคลอดภูมิคุ้มกันจากมารดาจะผ่านน้ำนมแม่ไปให้ทารก ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงในการติดเชื้อในทารกได้ แต่จะมีช่วงระยะ 5 วันก่อนคลอดและ 2 วันหลังคลอดซึ่งหากมีการติดเชื้อมารดาจะยังไม่ทันที่จะสร้างภูมิคุ้มกัน จึงอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อในทารกและมีอาการรุนแรงได้ การให้ภูมิคุ้มกัน (varicella-zoster immunoglobulin หรือ VZIG) แก่ทารกในกรณีนี้จึงมีความจำเป็น สำหรับการแยกทารกนั้นอาจไม่มีประโยชน์ในกรณีที่ทารกสัมผัสกับเชื้อแล้ว การให้นมแม่สามารถให้ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงในกรณีที่ทารกยังไม่สัมผัสเชื้อ ซึ่งควรแยกมารดาและทารกจนกระทั่งแผลแห้งตกสะเก็ดก็สามารถให้นมแม่ต่อได้1

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

โรคหัดเยอรมันกับนมแม่

img_2116

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? โรคหัดเยอรมันเกิดจากการติดเชื้อไวรัส การติดเชื้อโดยทั่วไปจะมีอาการไม่รุนแรง อาจพบมีไข้ มีผื่นแดง แต่การติดเชื้อจะมีอันตรายระหว่างการตั้งครรภ์เฉพาะในช่วงไตรมาสแรก ที่อาจทำให้ทารกในครรภ์หูหนวก สมองฝ่อ เกิดต้อกระจก และโรคหัวใจได้ ซึ่งมีความจำเป็นต้องให้ข้อมูลแก่มารดาเพื่อพิจารณาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ แต่หากเป็นการติดเชื้อในช่วงอื่นหรือหลังคลอด ไม่พบเป็นอันตรายที่รุนแรงแก่ทารก ดังนั้น การให้ทารกกินนมแม่จึงไม่ได้เป็นข้อห้าม1 ซึ่งทารกจะได้รับภูมิคุ้มกันหัดเยอรมันผ่านน้ำนมจากการกินแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

การติดเชื้อพาร์โวไวรัสกับนมแม่

img_2190

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?การติดเชื้อพาร์โวไวรัส (parvovirus) จะมีอันตรายระหว่างการตั้งครรภ์ โดยอาจทำให้ทารกในครรภ์ซีด บวมน้ำ และเสียชีวิตได้หากมีอาการที่รุนแรง การวินิจฉัยหากทราบว่าสาเหตุเป็นการจากติดเชื้อพาร์โวไวรัส การให้เลือดแก่ทารกในครรภ์จะช่วยรักษาอาการได้ สำหรับมารดาหลังคลอด ยังขาดข้อมูลว่าพบไวรัสหรือการกินนมแม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพาร์โวไวรัสเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่เนื่องจากไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและไม่เกิดการติดเชื้อที่เรื้อรังในทารกหลังคลอดแล้ว การให้ทารกกินนมแม่จึงไม่ได้เป็นข้อห้าม1 ซึ่งทารกจะได้รับภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อพาร์โวไวรัสที่มารดาสร้างด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

โรคโปลิโอกับนมแม่

img_2201

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? โรคโปลิโอเกิดจากเชื้อไวรัส แม้ปัจจุบันในประเทศไทยมีการให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอแก่ทารกแรกเกิดทุกราย ร่วมกับการรณรงค์ให้วัคซีนแก่เด็กในวันสำคัญต่างๆ ทำให้มีโอกาสในการเกิดโรคนี้น้อย แต่ในยุคที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากกลุ่มประเทศอาเซียน ความครอบคลุมการฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน จึงอาจกลับมาพบเจอโรคโปลิโอได้ ซึ่งโรคนี้หากมีอาการจะทำให้เกิดการอ่อนแรงและพิการ การติดเชื้อในระหว่างการตั้งครรภ์จะเสี่ยงต่อการแท้งและการคลอดก่อนกำหนด และมีโอกาสติดต่อไปยังทารกในครรภ์ผ่านรก หากมารดามีอาการทันทีหลังคลอด การแยกทารกจากมารดาไม่มีประโยชน์ เนื่องจากทารกอยู่ในช่วงที่สัมผัสเชื้อแล้ว การให้นมแม่สามารถให้ได้1 ซึ่งทารกจะได้รับประโยชน์จากภูมิคุ้มกันโรคโปลิโอที่มารดาสร้างด้วย โดยยังแนะนำให้ให้วัคซีนป้องกันโปลิโอตามแนวทางปฏิบัติปกติหลังคลอดด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

โรคคางทูมกับนมแม่

img_2133

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? โรคคางทูมเกิดจากเชื้อไวรัส โดยจะมีอาการอักเสบ บวม และเจ็บของต่อมน้ำลาย อาการของผู้ป่วยจะมีอาการของต่อมน้ำลายอักเสบ บวม เจ็บ ซึ่งต่อมน้ำลายบริเวณด้านข้างใกล้หู หากบวม จะมีลักษณะที่เห็นแก้มบวม ต่อมน้ำลายใต้ลิ้นบวม จะเห็นลักษณะของคางบวม ทำให้ดูลักษณะผู้ป่วยจะมีอาการบวมบริเวณแก้มและใต้คาง จึงมีชื่อว่า ?คางทูม? อาการผู้ป่วยที่เป็นคางทูมมักไม่รุนแรง หากมีการติดเชื้อในระหว่างการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก จะมีความเสี่ยงในการเกิดการแท้งของทารกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่ามารดาที่ติดเชื้อคางทูมระหว่างการตั้งครรภ์ยังมีความเสี่ยงในการเกิดการคลอดก่อนกำหนดด้วย ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคคางทูมสามารถผ่านรกและทำให้เกิดการติดเชื้อในทารกได้ ขณะเดียวกันภูมิคุ้มกันที่มารดาสร้างขึ้นก็สามารถผ่านรกได้เช่นกัน อาการของการติดเชื้อคางทูมไม่รุนแรง ระยะของการแพร่เชื้อจะเป็นช่วงก่อนการบวมอักเสบของต่อมน้ำลาย 7 วันและหลังจากการบวมแล้วราว 7-9 วัน หากในระหว่างการคลอด เมื่อมารดาคลอดทารกมาแล้วมีอาการคางทูม ทารกจะอยู่ในช่วงที่สัมผัสกับโรคไปแล้ว จึงไม่มีประโยชน์ในการแยกมารดาและทารก การให้นมแม่สามารถให้ได้ เนื่องจากไม่พบความเสี่ยงของการติดเชื้อคางทูมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับให้ทารกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก แม้ว่าจะมีรายงานการพบเชื้อคางทูมในนมแม่ ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งในการที่ลูกได้กินนมแม่ ลูกจะได้รับภูมิคุ้มกันต่อโรคที่แม่สร้างผ่านนมแม่ไปด้วย1 ?เช่นเดียวกัน วัคซีนป้องกันโรคคางทูมเป็นวัคซีนมาตรฐานที่ให้แก่เด็กทุกคนในปัจจุบัน ซึ่งมารดาควรดูแลให้ทารกได้รับวัคซีนตามมาตรฐานอย่างครบถ้วน เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อเมื่อเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)