อาการคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัดคลอดกับความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การผ่าตัดคลอดเป็นความเสี่ยงต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่มารดาหลังผ่าตัดคลอดเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ช้ากว่ามารดาที่คลอดบุตรทางช่องคลอด สำหรับสาเหตุของการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ช้าอาจเป็นจากการที่มารดาได้รับยาดมสลบทำให้การรู้ตัวของมารดาเปลี่ยนแปลงไป และกว่าจะรู้สึกตัวได้ดีก็ใช้เวลาทำให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า แต่สำหรับอาการคลื่นไส้อาเจียน และการปวดแผลที่เชื่อว่าอาจมีผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้านั้น อาจไม่ได้เป็นสาเหตุหลัก เนื่องจากมีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาการคลื่นไส้อาเจียนและการปวดแผลหลังการผ่าตัดกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ 4 สัปดาห์หลังคลอดพบว่า ไม่มีความสัมพันธ์กัน1 นั่นอาจแสดงถึงว่า หากมารดาหลังผ่าตัดคลอดสามารถเริ่มให้นมแม่ได้เร็ว ก็อาจจะไม่ส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรใส่ใจในการเริ่มให้มารดาได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วโดยเฉพาะมารดาที่ผ่าตัดคลอดเพื่อลดความเสี่ยงต่อผลเสียที่จะเกิดแก่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Abola R, Romeiser J, Grewal S, et al. Association of postoperative nausea/vomiting and pain with breastfeeding success. Perioper Med (Lond) 2017;6:18.

เสียงที่มีอิทธิพลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? มารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศทางทวีปแอฟริกา องค์การอนามัยโลกยังแนะนำให้ทารกกินนมแม่ได้ เนื่องจากประโยชน์ของการกินนมแม่ในด้านการป้องกันการเสียชีวิตของทารกนั้นสูงกว่าความเสี่ยงในการที่ทารกจะได้รับการติดเชื้อเอชไอวี? มีการศึกษาในประเทศกานา พบว่า บุคคลที่มีสิทธิมีเสียงที่จะทรงอิทธิพลต่อการตัดสินใจของมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีที่จะพิจารณาเลือกให้ลูกได้กินนมแม่ ได้แก่ ความคิดเห็นของสามี คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ ความคิดเห็นของญาติพี่น้อง และกระแสสังคม1 ดังนั้นจึงเป็นบทบาทของบุคลากรทางการแพทย์ที่ควรจะให้คำแนะนำทั้งต่อมารดา สามี ญาติพี่น้อง และคนในสังคมให้มีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย นโยบายสำหรับมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี แนะนำให้งดการให้นมลูก โดยในทางปฏิบัติในสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขจะมีการสนับสนุนนมผงดัดแปลงสำหรับทารกอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งครบ 2 ปี ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ต้องมีความเข้าใจและสามารถแนะนำมารดาและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Acheampong AK, Naab F, Kwashie A. The Voices That Influence HIV-Positive Mothers’ Breastfeeding Practices in an Urban, Ghanaian Society. J Hum Lact 2017:890334417740345.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่เป็นเอสแอลอี

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? โรคเอสแอลอี หรือโรคแพ้ภูมิตนเอง หรือโรคพุ่มพวง เป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันตนเองแทนที่จะมีหน้าที่ปกป้องร่างกายกลับทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อของตนเองในหลาย ๆ ระบบ เช่น ระบบผิวหนัง ระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบกล้ามเนื้อและข้อ ไต และระบบการหายใจ เป็นต้น สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากพันธุกรรม และถูกกระตุ้นโดยปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ป่วยเอสแอลอีมักเป็นในผู้หญิงและช่วงที่อาการเกิดกำเริบก็มักจะเป็นในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งแม่ได้รับการรักษาให้อาการของโรคเริ่มสงบลงแล้ว หากไม่ได้วางแผนเรื่องการคุมกำเนิด จะพบผู้ป่วยเอสแอลอีตั้งครรภ์ ซึ่งเมื่อมีการตั้งครรภ์ การดูแลระหว่างการตั้งครรภ์ต้องระวังภาวะแทรกซ้อนของโรค และผลเสียจากการใช้ยา อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการตั้งครรภ์ อาการของโรคมักไม่กำเริบรุนแรงและเมื่อเลือกใช้ยาที่มีความเสี่ยงต่ำที่จะมีผลต่อทารก การดูแลการตั้งครรภ์ก็ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เมื่อทารกคลอดออกมา พบว่าการให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกนั้นพบน้อยกว่า ระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สั้นกว่า และเหตุผลที่หยุดการให้นมนั้นคือ กระบวนการรักษา ซึ่งก็คือ ความวิตกเรื่องการใช้ยา ทั้ง ๆ ที่ความเสี่ยงจากการใช้ยามีอยู่ต่ำเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่มารดาและทารกจะได้รับจากการให้ลูกได้กินนมแม่1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความสนใจ และมีความเข้าใจว่ามารดาที่เป็นเอสแอลอีต้องถือว่าความเสี่ยงในการที่จะหยุดการเลี้ยงลูกก่อนเวลาที่เหมาะสม ดังนั้น การดูแลให้ความรู้เรื่องโรค การรักษา และการใช้ยาที่มีความเสี่ยงต่ำนั้น หากมารดามีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็สามารถทำได้ และเมื่อมารดาเข้าใจได้ดีแล้ว ระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาที่เป็นโรคเอสแอลอีนั้น น่าจะยาวนานขึ้นโดยปราศจากความวิตกกังวลในเรื่องของการใช้ยาเพื่อรักษาอาการของโรค

เอกสารอ้างอิง

  1. Acevedo M, Pretini J, Micelli M, Sequeira G, Kerzberg E. Breastfeeding initiation, duration, and reasons for weaning in patients with systemic lupus erythematosus. Rheumatol Int 2017;37:1183-6.

 

 

จะลดความเจ็บปวดจากการเจาะเลือดทารกได้อย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? หัตถการต่าง ๆ ที่ทำในทารกแรกเกิดที่พบได้บ่อย ได้แก่ การเจาะเลือดและการฉีดวัคซีน โดยทั่วไปมักไม่มีการใช้ยาแก้ปวดหรือให้ยาระงับความรู้สึกแก่ทารก ซึ่งผลเสียอาจเกิดในทารกที่มีความเจ็บป่วยอยู่แล้ว ร่างกายอ่อนแอ การร้องไห้หรือความเจ็บปวดอาจนำมาซึ่งการใช้หรือเผาพลาญพลังงานสูงขึ้น นอกจากนี้ยังอาจส่งผลทางด้านจิตใจหรือภาวะแทรกซ้อนต่อระบบประสาทได้ ได้มีการศึกษาวิธีที่จะลดความเจ็บปวดจากการทำหัตถการ การเจาะเลือด พบว่า การนวดทารก และการให้ทารกกินนมแม่ช่วยลดความเจ็บปวดของทารกระหว่างการทำหัตถการได้อย่างมีนัยสำคัญ1 ซึ่งการนวดทารกและการให้ทารกกินนมแม่เป็นวิธีที่ไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ใด ๆ เพิ่มเติม สามารถให้การดูแลรักษาได้ในทุกสถานพยาบาล ไม่มีผลข้างเคียง และไม่มีค่าใช้จ่ายใด ที่เพิ่มขึ้นจากกระบวนการการให้การดูแลรักษาเหล่านี้เลย ดังนั้น จึงควรที่จะให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการปฏิบัติในการลดความเจ็บปวดในการทำหัตถการของทารกด้วยการนวดหรือการให้ลูกได้กินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Zargham-Boroujeni A, Elsagh A, Mohammadizadeh M. The Effects of Massage and Breastfeeding on Response to Venipuncture Pain among Hospitalized Neonates. Iran J Nurs Midwifery Res 2017;22:308-12.

 

การผ่าตัดคลอด มีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จริงหรือ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การผ่าตัดคลอด โดยทั่วไปแล้ว หากพิจารณาตามความจำเป็นตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ควรจะมีการผ่าตัดคลอดราวร้อยละ 15 แต่ในปัจจุบัน หากติดตามข้อมูลของการผ่าตัดคลอดในโรงพยาบาลรัฐบาลพบว่ามีการผ่าตัดคลอดที่สูงขึ้นคือร้อยละ 40-50 ขณะที่การผ่าตัดคลอดในโรงพยาบาลเอกชนพบร้อยละ 80-90 ซึ่งจะเห็นว่า อัตราการผ่าตัดคลอดที่สูงเกินความจำเป็นนี้นอกจากจะส่งผลเสียต่อค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีผลเสียต่อสุขภาพมารดาและทารกด้วย กล่าวคือ มารดาที่ผ่าตัดคลอดจะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการที่ต้องใช้ยาระงับความรู้สึกหรือยาดมสลบเพิ่มขึ้น เสียเลือดจากการคลอดเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะตกเลือดหลังคลอดสูงขึ้น การพักฟื้นหลังผ่าตัดคลอดยาวนานกว่าการคลอดปกติ ทารกที่ผ่าตัดคลอดมีโอกาสหายใจเร็วผิดปกติสูงขึ้น และสำหรับในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักเริ่มต้นได้ช้า ส่งผลให้น้ำนมแม่มาช้า ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีแนวโน้มจะต่ำกว่ามารดาที่คลอดปกติ มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการผ่าตัดคลอดกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พบว่า การผ่าตัดคลอดลดอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกสูงถึงร้อยละ 47 และอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเดือนที่สี่ร้อยละ 391 หากมารดาและครอบครัวทราบและเข้าใจถึงข้อเสียและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นแล้ว ควรดูแลตนเองระหว่างการฝากครรภ์และปรึกษากับแพทย์ผู้ดูแลเพื่อลดความเสี่ยงในการผ่าตัดคลอด เพื่อผลที่ดีต่อสุขภาพของทั้งมารดาและทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Zhao J, Zhao Y, Du M, Binns CW, Lee AH. Does Caesarean Section Affect Breastfeeding Practices in China? A Systematic Review and Meta-Analysis. Matern Child Health J 2017;21:2008-24.

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)