อาการคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัดคลอดกับความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การผ่าตัดคลอดเป็นความเสี่ยงต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่มารดาหลังผ่าตัดคลอดเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ช้ากว่ามารดาที่คลอดบุตรทางช่องคลอด สำหรับสาเหตุของการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ช้าอาจเป็นจากการที่มารดาได้รับยาดมสลบทำให้การรู้ตัวของมารดาเปลี่ยนแปลงไป และกว่าจะรู้สึกตัวได้ดีก็ใช้เวลาทำให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า แต่สำหรับอาการคลื่นไส้อาเจียน และการปวดแผลที่เชื่อว่าอาจมีผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้านั้น อาจไม่ได้เป็นสาเหตุหลัก เนื่องจากมีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาการคลื่นไส้อาเจียนและการปวดแผลหลังการผ่าตัดกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ 4 สัปดาห์หลังคลอดพบว่า ไม่มีความสัมพันธ์กัน1 นั่นอาจแสดงถึงว่า หากมารดาหลังผ่าตัดคลอดสามารถเริ่มให้นมแม่ได้เร็ว ก็อาจจะไม่ส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรใส่ใจในการเริ่มให้มารดาได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วโดยเฉพาะมารดาที่ผ่าตัดคลอดเพื่อลดความเสี่ยงต่อผลเสียที่จะเกิดแก่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Abola R, Romeiser J, Grewal S, et al. Association of postoperative nausea/vomiting and pain with breastfeeding success. Perioper Med (Lond) 2017;6:18.