รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? การเจ็บหัวนมขณะที่ทารกดูดนม อาจเกิดจากน้ำนมไหลมากหรือเร็วเกินไปได้ โดยทารกจะพยายามควบคุมให้น้ำนมไหลช้าลงด้วยการออกแรงในการงับหัวนมมากขึ้นเพื่อชะลอการไหลของน้ำนม ซึ่งจะทำให้มารดาเจ็บหัวนม อาการนี้มักเกิดเมื่อมีน้ำนมมาดีหรือมากแล้ว โดยทั่วไปจะอยู่ในช่วง 3-4 วันหลังคลอด อาการเจ็บหัวนมมักเป็นมากในช่วงเริ่มกินนมที่น้ำนมในเต้ายังมีมาก ผู้ดูแลหรือมารดาจะสังเกตได้จาก มารดามีน้ำนมมามาก ทารกอาจมีอาการของการกินนมที่มากเกินไป ได้แก่ สำรอกหรือแหวะนม ขับถ่ายบ่อย และน้ำหนักขึ้นเร็ว
??????????????? การช่วยเหลือสำหรับปัญหานี้ เริ่มต้นด้วยการจัดท่าให้นมที่เหมาะสม โดยให้ศีรษะทารกสามารถขยับได้อย่างเหมาะสมเพื่อช่วยควบคุมปริมาณน้ำนมที่ไหลเร็วเกินไป การจัดท่าที่มารดาเอนหลัง นอนเอนหลังหรือนอนราบขณะให้นมจะช่วยไม่ให้น้ำนมไหลเข้าปากทารกเร็วเกินไป หรือการบีบน้ำนมออกก่อนการให้นมและเก็บน้ำนมไว้ก็ช่วยลดความเร็วในการไหลของน้ำนมได้ โดยน้ำนมที่เก็บไว้ อาจนำมาให้ทารกกินได้ เมื่อมารดาไม่สะดวกจะให้นม ซึ่งมารดาสามารถเลือกใช้การแก้ปัญหาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือใช้ร่วมกันหลายวิธีก็ได้ เมื่อควบคุมให้น้ำนมไม่ไหลเร็วเกินไปแล้ว การเจ็บหัวนมขณะทารกดูดนมควรหายไป
เอกสารอ้างอิง
- Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? การเจ็บหัวนมส่วนใหญ่ร้อยละ 95 เป็นจากท่าของมารดาและทารกขณะให้นมไม่เหมาะสม คำถามที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องตอบ คือ ทำไมท่าในการให้นมจึงมีผลต่อการเจ็บหัวนม ขณะที่ให้นมท่าของทารก ศีรษะ ลำตัวจะอยู่ในแนวเดียวกัน ลำตัวทารกแนบชิดติดลำตัวมารดา มีการประคองรองรับศีรษะ หัวไหล่ หรือลำตัวทารกอย่างมั่นคง และหน้าของทารกหันเข้าหาเต้านมโดยจมูกทารกจะตรงกับหัวนม ในลักษณะนี้ศีรษะทารกจะเงยเล็กน้อย หากมีการประคองออกแรงกดบริเวณหลังทารกมาก หน้าและศีรษะทารกจะเงยมากเกินไป การอมหัวนมและลานนมจะทำได้น้อย ทารกจะออกแรงในการดูดหรืองับหัวนมมาก มารดาจึงเจ็บหัวนม กลไกนี้ยังเกิดในกรณีอื่นด้วย ได้แก่ มารดาอุ้มทารกอยู่ห่างเกินไป ทารกอมเฉพาะหัวนมขณะดูดนม หรือมารดาเคลื่อนตัวเอาเต้านมเข้าหาทารกและต้องก้มตัวมาก ซึ่งทำให้การอมหัวนมและลานนมได้ไม่ลึกพอ ทารกก็ต้องออกแรงดูดหรืองับหัวนมมากเช่นกัน อีกกรณีหนึ่ง คือ ศีรษะและลำตัวทารกไม่อยู่ในแนวเดียวกัน ทำให้หน้าของทารกต้องเอียงคอขณะเข้าหาเต้านมเพื่ออมหัวนมและลานนม การกลืนของทารกจะทำไม่ได้ดี ทารกจะหงุดหงิดและออกแรงดูดหรืองับหัวนม ทำให้มารดาเจ็บหัวนม นอกจากนี้ การที่นิ้วมือของมารดาอยู่ใกล้หัวนม หรือกดเต้านมแรงเกินไป อาจขัดขวางการอมหัวนมและลานนม หรือขัดขวางการไหลของน้ำนมได้ ซึ่งผลจะทำให้ทารกดูดหรืองับหัวนมแรง ทำให้มารดาเจ็บหัวนมเช่นกัน
? ? ? ? ? ? จะเห็นว่า ลักษณะต่างๆ ที่ทำให้ทารกอมหัวนมและลานนมได้ไม่เหมาะสมสามารถเกิดจากท่าที่ไม่เหมาะสมได้หลายกรณี แล้วจะรู้หรือสังเกตได้อย่างไรว่า การเจ็บหัวนมเป็นจากท่าให้นมที่ไม่เหมาะสม มารดาหรือบุคลากรทางการแพทย์อาจสังเกตหรือสอบถามอาการของมารดาได้จาก
? ? ? ? ? -อาการเจ็บหัวนมมักเจ็บมากขณะเริ่มดูดนมใหม่ และยังคงเจ็บอยู่แต่น้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป
? ? ? ? ? -หากขยับศีรษะทารก หรือเปลี่ยนท่า อาการเจ็บหัวนมเป็นอย่างไร ดีขึ้นไหม
? ? ? ? ? -ขณะให้นม มารดาวางนิ้วมือใกล้หัวนมเกินไปหรือไม่ หรือกดลานนมหรือเต้านมทำให้ขัดขวางการไหลของน้ำนมไหม
?? ? ? ? ? ? หากเปลี่ยนท่าที่เหมาะสมแล้ว อาการเจ็บหัวนมดีขึ้น ส่วนหนึ่งของปัญหาน่าจะมาจากท่าที่ไม่เหมาะสม แต่หากอาการเจ็บหัวนมน้อยลง แต่ไม่หาย และยังคงต่อเนื่องอยู่นาน อาจต้องหาสาเหตุอื่นที่อาจมีร่วมด้วย ได้แก่ หัวนมแตก มีการอักเสบหรือมีการติดเชื้อราหรือแบคทีเรียร่วมด้วย
เอกสารอ้างอิง
- Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? การเจ็บหัวนมพบได้บ่อย แต่ไม่ใช่เรื่องปกติของมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สาเหตุของการเจ็บหัวนมขณะที่ให้ลูกกินนมแม่มีหลายสาเหตุ ได้แก่
??????????????? -ท่าการให้นมของมารดาและทารกไม่เหมาะสม พบส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 95
??????????????? -น้ำนมมากหรือไหลเร็วเกินไป
??????????????? -ทารกมีภาวะลิ้นติดหรือเพดานสูง
??????????????? -น้ำนมไหลไม่ดี มีการอุดตัน จากไขของน้ำนมอุดท่อน้ำนมบริเวณหัวนม (white dot หรือ bleb)
??????????????? -ติดเชื้อรา หรือร่วมกับเชื้อแบคทีเรีย
??????????????? -การหดรัดตัวของเส้นเลือดที่หัวนม ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงน้อย (Raynuad?s phenomenon)
??????????????? การวิเคราะห์ให้ทราบถึงสาเหตุมีความจำเป็น เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาการเจ็บหัวนมได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่พบได้บ่อยและอาจพบร่วมกับสาเหตุอื่นๆ ด้วย คือ การจัดท่าให้นมที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น การเริ่มต้นในการแก้ปัญหาเรื่องการเจ็บหัวนม จึงควรเริ่มต้นด้วยการสังเกตการให้นมของมารดาว่ามีท่าให้ที่ถูกต้องหรือไม่ หากยังไม่ถูกต้อง ควรแก้ไขเรื่องท่าในการให้นมก่อนเป็นอันดับแรก
เอกสารอ้างอิง
- Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? มารดาที่มีหัวนมบอดจะสังเกตได้ว่า หัวนมจะบุ๋มลึกลงไปในเต้านม ซึ่งได้มีการแบ่งลักษณะของหัวนมบอดเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
? ? ? ? ? ?1.หัวนมบอดจะสามารถจะกระตุ้นให้หัวนมโผล่ออกมาได้ง่ายโดยการให้ทารกดูดนมหรือใช้การปั๊มนม
? ? ? ? ? ?2.หัวนมบอดที่สามารถกระตุ้นให้หัวนมให้หัวนมโผล่ออกมาได้ง่ายโดยการให้ทารกดูดนมหรือจากการปั๊มนม แต่หลังจากหยุดดูดนมหรือปั๊มนม หัวนมจะกลับบุ๋มลงไปเหมือนเดิม
? ? ? ? ? ?3.หัวนมบอดที่การกระตุ้นให้หัวนมโผล่ออกมาทำไม่ได้หรือทำได้ยาก
? ? ? ? ? ? ?ลักษณะของหัวนมในลักษณะที่ 1 และที่ 2 การจัดให้ทารกเข้าเต้าโดยการให้ทารกอมหัวนมและลานนมในลักษณะที่อมหัวนมและลานนมด้านล่างมากกว่าด้านบนจะสามารถช่วยในการให้นมทารกได้ แต่ลักษณะหัวนมบอดในลักษณะที่ 3 การดูดนมของทารกอาจทำไม่ได้ดี การบีบน้ำนมหรือการปั๊มนมอาจมีความจำเป็น ร่วมกับควรมีการประเมินการเจริญเติบโตของทารกร่วมด้วย เพื่อประเมินว่าทารกได้รับน้ำนมเพียงพอหรือไม่ จะเห็นว่าลักษณะหัวนมบอดในลักษณะที่ 1และที่ 2 มารดายังสามารถให้นมทารกได้โดยต้องฝึกทักษะการเข้าเต้าที่เหมาะสม ขณะที่หัวนมบอดในลักษณะที่ 3 เป็นลักษณะที่มีความเสี่ยงในการที่ทารกจะได้รับนมไม่เพียงพอและมีเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์ควรใส่ใจว่ามารดาให้นมได้หรือไม่และให้นมได้เพียงพอไหม การติดตามน้ำหนักของทารกเทียบกับกราฟการเจริญเติบโตจะทำให้สามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มและการวางแผนการแก้ไขปัญหาจะทำได้ง่ายกว่า เมื่อทารกเกิดภาวะที่มีการเจริญเติบโตช้ากว่าเกณฑ์ขั้นรุนแรง
เอกสารอ้างอิง
- Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? การตรวจเต้านมในมารดาระหว่างการตั้งครรภ์ อาจพบว่ามารดาบางคนมีหัวนมแบนราบไปกับเต้านม ซึ่งมารดาและบุคลากรทางการแพทย์อาจวิตกกังวลว่าจะให้นมลูกได้หรือไม่ แม้ว่าความยาวของหัวนมจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นได้บ้างในระหว่างตั้งครรภ์จนถึงระยะคลอดและหลังคลอด และความยาวหัวนมที่ 7 มิลลิเมตรในระยะหลังคลอดอาจมีความสัมพันธ์กับการเข้าเต้าได้ง่ายกว่า1 แต่หากมารดาเข้าใจถึงลักษณะการเข้าเต้าที่เหมาะ เรียนรู้ และปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เรื่องของหัวนมที่แบนราบจะไม่เป็นอุปสรรคในการให้นมแม่
? ? ? ? ? ? ? เริ่มต้นด้วย มารดาลองสังเกตว่าหัวนมที่แบนราบนั้น จะยืดออกอากาศเย็นหรือมีการกระตุ้นหรือไม่ หากยืดออกได้บ้างและความยาวหัวนมเพิ่มได้ถึง 3 มิลลิเมตร ทางเลือกหนึ่งในการช่วยให้ความยาวหัวนมเพิ่มขึ้นคือ การใช้อุปกรณ์ช่วยดึงหัวนม (nipple puller) โดยอุปกรณ์นี้หากมารดาใช้กระตุ้นหัวนมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสอง เมื่อถึงหลังคลอด ความยาวหัวนมจะเพิ่มขึ้นได้ราว 4 มิลลิเมตร
? ? ? ? ? ? ? แต่หากมารดาไม่ได้ทำการช่วยกระตุ้นความยาวหัวนม การจัดลักษณะการเข้าเต้าที่เหมาะสมก็สามารถช่วยได้เช่นกัน เนื่องจากในขณะที่ทารกดูดนมแม่ ทารกจะไม่ได้ดูดนมเฉพาะหัวนม แต่จะงับทั้งส่วนของลานนมเข้าไปในปากด้วย การนำที่ทารกเข้าเต้าจากด้านล่างของเต้านมในลักษณะที่ส่งเสริมให้การอมส่วนของลานนมด้านล่างมากกว่าด้านบน (asymmetrical latch) เหงือกและเพดานปากของทารกจะรีดส่วนของหัวนมและลานนมให้ยาวออก ทารกจะงับลานนมและหัวนมได้ติด และทำให้การดูดนมเกิดขึ้นได้2 อีกส่วนหนึ่งคือหากลานนมมีน้ำนมคัดตึง ทารกจะงับส่วนของลานนมได้ยาก การที่มารดาบีบน้ำนมออกก่อนบางส่วนและทำให้ลานนมนุ่มขึ้น การอมหัวนมและลานนมก็จะเกิดได้ดีขึ้น
? ? ? ? ? ? ?ดังนั้น ในมารดาที่มีหัวนมแบนราบสามารถให้นมแม่ได้ หากมีการเตรียมตัวที่ดีและฝึกทักษะปฏิบัติเรื่องการเข้าเต้าที่เหมาะสม
?
เอกสารอ้างอิง
1. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Paritakul P, Ketsuwan S, Wongin S. Nipple length and its relation to success in breastfeeding. J Med Assoc Thai 2013;96 Suppl 1:S1-4.
2. Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd ed. Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)