ทำไมท่าในการให้นมของมารดาและทารกจึงมีผลต่อการเจ็บหัวนม

latching2-1-o

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? การเจ็บหัวนมส่วนใหญ่ร้อยละ 95 เป็นจากท่าของมารดาและทารกขณะให้นมไม่เหมาะสม คำถามที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องตอบ คือ ทำไมท่าในการให้นมจึงมีผลต่อการเจ็บหัวนม ขณะที่ให้นมท่าของทารก ศีรษะ ลำตัวจะอยู่ในแนวเดียวกัน ลำตัวทารกแนบชิดติดลำตัวมารดา มีการประคองรองรับศีรษะ หัวไหล่ หรือลำตัวทารกอย่างมั่นคง และหน้าของทารกหันเข้าหาเต้านมโดยจมูกทารกจะตรงกับหัวนม ในลักษณะนี้ศีรษะทารกจะเงยเล็กน้อย หากมีการประคองออกแรงกดบริเวณหลังทารกมาก หน้าและศีรษะทารกจะเงยมากเกินไป การอมหัวนมและลานนมจะทำได้น้อย ทารกจะออกแรงในการดูดหรืองับหัวนมมาก มารดาจึงเจ็บหัวนม กลไกนี้ยังเกิดในกรณีอื่นด้วย ได้แก่ มารดาอุ้มทารกอยู่ห่างเกินไป ทารกอมเฉพาะหัวนมขณะดูดนม หรือมารดาเคลื่อนตัวเอาเต้านมเข้าหาทารกและต้องก้มตัวมาก ซึ่งทำให้การอมหัวนมและลานนมได้ไม่ลึกพอ ทารกก็ต้องออกแรงดูดหรืองับหัวนมมากเช่นกัน อีกกรณีหนึ่ง คือ ศีรษะและลำตัวทารกไม่อยู่ในแนวเดียวกัน ทำให้หน้าของทารกต้องเอียงคอขณะเข้าหาเต้านมเพื่ออมหัวนมและลานนม การกลืนของทารกจะทำไม่ได้ดี ทารกจะหงุดหงิดและออกแรงดูดหรืองับหัวนม ทำให้มารดาเจ็บหัวนม นอกจากนี้ การที่นิ้วมือของมารดาอยู่ใกล้หัวนม หรือกดเต้านมแรงเกินไป อาจขัดขวางการอมหัวนมและลานนม หรือขัดขวางการไหลของน้ำนมได้ ซึ่งผลจะทำให้ทารกดูดหรืองับหัวนมแรง ทำให้มารดาเจ็บหัวนมเช่นกัน

? ? ? ? ? ? จะเห็นว่า ลักษณะต่างๆ ที่ทำให้ทารกอมหัวนมและลานนมได้ไม่เหมาะสมสามารถเกิดจากท่าที่ไม่เหมาะสมได้หลายกรณี แล้วจะรู้หรือสังเกตได้อย่างไรว่า การเจ็บหัวนมเป็นจากท่าให้นมที่ไม่เหมาะสม มารดาหรือบุคลากรทางการแพทย์อาจสังเกตหรือสอบถามอาการของมารดาได้จาก

? ? ? ? ? -อาการเจ็บหัวนมมักเจ็บมากขณะเริ่มดูดนมใหม่ และยังคงเจ็บอยู่แต่น้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป

? ? ? ? ? -หากขยับศีรษะทารก หรือเปลี่ยนท่า อาการเจ็บหัวนมเป็นอย่างไร ดีขึ้นไหม

? ? ? ? ? -ขณะให้นม มารดาวางนิ้วมือใกล้หัวนมเกินไปหรือไม่ หรือกดลานนมหรือเต้านมทำให้ขัดขวางการไหลของน้ำนมไหม

?? ? ? ? ? ? หากเปลี่ยนท่าที่เหมาะสมแล้ว อาการเจ็บหัวนมดีขึ้น ส่วนหนึ่งของปัญหาน่าจะมาจากท่าที่ไม่เหมาะสม แต่หากอาการเจ็บหัวนมน้อยลง แต่ไม่หาย และยังคงต่อเนื่องอยู่นาน อาจต้องหาสาเหตุอื่นที่อาจมีร่วมด้วย ได้แก่ หัวนมแตก มีการอักเสบหรือมีการติดเชื้อราหรือแบคทีเรียร่วมด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.