คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

การเสริมกรดโฟลิกในสตรีตั้งครรภ์

IMG_9412

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? กรดโฟลิก เป็นรูปหนึ่งของวิตามินบี 9 ที่ละลายน้ำ พบมากในเนื้อสัตว์ ตับ กล้วยน้ำว้า และผักใบเขียว โดยจะช่วยในการป้องกันการเกิดความผิดปกติของท่อระบบประสาท (neural tube defect) ของทารกในครรภ์ หากมารดาได้รับการเสริมกรดโฟลิกขนาด 400 มิลลิกรัมก่อนและระหว่างการตั้งครรภ์ในระยะแรก1 นอกจากนี้ การเสริมกรดโฟลิกในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ยังลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะปากแหว่งและความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดของทารกในครรภ์2 และมีการศึกษาพบว่า ระดับกรดโฟลิกที่ต่ำในระยะแรกของการตั้งครรภ์สัมพันธ์กับภาวะทารกน้ำหนักตัวน้อยและครรภ์เป็นพิษด้วย3 จึงแนะนำให้รับประทานกรดโฟลิกเสริมก่อนเมื่อเตรียมตัวจะตั้งครรภ์และต่อเนื่องระหว่างการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก

เอกสารอ้างอิง

  1. Blencowe H, Cousens S, Modell B, Lawn J. Folic acid to reduce neonatal mortality from neural tube disorders. Int J Epidemiol 2010;39 Suppl 1:i110-21.
  2. Goh YI, Bollano E, Einarson TR, Koren G. Prenatal multivitamin supplementation and rates of congenital anomalies: a meta-analysis. J Obstet Gynaecol Can 2006;28:680-9.
  3. Bergen NE, Jaddoe VW, Timmermans S, et al. Homocysteine and folate concentrations in early pregnancy and the risk of adverse pregnancy outcomes: the Generation R Study. BJOG 2012;119:739-51.

?

?

การจัดการสอนแพทย์ประจำบ้านเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_9411

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? โดยทั่วไป ในสถาบันที่มีแพทย์ประจำบ้าน บทบาทสำคัญคือการให้การรักษาแก่ผู้ป่วยและให้คำปรึกษาแก่ผู้รับบริการการ ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนให้แก่แพทย์ประจำบ้านเพื่อให้แพทย์ประจำบ้านมีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสมมีความจำเป็น ในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็เช่นกัน แพทย์ประจำบ้านจำเป็นต้องมีความรู้และทักษะในการให้บริการและคำปรึกษากับมารดาที่เพียงพอและเหมาะสม แต่จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกา พบว่า การจัดการฝึกอบรมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระหว่าง 3 ปีของการจัดอบรมแพทย์ประจำบ้านมีจำนวนการฝึกอบรมเฉลี่ย 9 ชั่วโมง และจากการสำรวจสถาบันฝึกอบรม 132 แห่ง พบว่ามีเพียง 10 สถาบันฝึกอบรมที่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของแพทย์ประจำบ้าน1 นอกจากนี้ ยังไม่มีการกำหนดแนวทางการจัดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งทำให้มีความแตกต่างกันในแต่ละสถาบันในพื้นฐานหรือความจำเป็นเบื้องต้นในการฝึกอบรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รูปแบบการศึกษายังมีการใช้รูปแบบการสอนแบบบรรยาย ในขณะที่เวลาที่ให้กับการได้รับประสบการณ์จากการร่วมหรือดูแลมารดาและทารกโดยตรงมีจำกัด

? ? ? ? ? ? ? ในประเทศไทย คณะกรรมการพัฒนาการจัดการเรียนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถาบันผลิตแพทย์ได้กำหนดแนวทางในการจัดการเรียนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับนักศึกษาแพทย์แล้ว แต่ในการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านยังไม่มีแนวทางที่กำหนดชัดเจน ดังนั้น การที่จะพัฒนาทักษะและความรู้ของแพทย์ประจำบ้านซึ่งมีความสำคัญในระบบการให้บริการทางการแพทย์และยังเป็นพี่เลี้ยงในการให้ความรู้แก่นักศึกษาแพทย์จึงมีความจำเป็น เพื่อการพัฒนาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เป็นการลงทุนพัฒนามนุษย์ที่คุ้มค่าและมีประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อสุขภาวะของมนุษย์

เอกสารอ้างอิง

  1. Osband YB, Altman RL, Patrick PA, Edwards KS. Breastfeeding education and support services offered to pediatric residents in the US. Acad Pediatr 2011;11:75-9.

?

?

ปัจจัยเสี่ยงของการบาดเจ็บของหัวนมในการให้ลูกกินนมแม่

image

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? การบาดเจ็บของหัวนมพบได้บ่อยในมารดาที่ให้นมบุตร โดยมีรายงานการพบการบาดเจ็บหัวนมถึงร้อยละ 62.9 เมื่อมารดากลับไปให้นมที่บ้าน และปัจจัยเสี่ยงของการบาดเจ็บหัวนมที่พบ ได้แก่ การจัดท่าทารกเข้าเต้าเพื่อดูดนมไม่เหมาะสม ทำให้การวางตำแหน่งของหัวนมในช่องปากทารกไม่ได้ตำแหน่งที่ดี และตำแหน่งของหน้าและขากรรไกรทารกในระหว่างการดูดนมไม่สมดุลกัน ซึ่งพบในเทคนิคของการจัดท่าอุ้มขวางตักประยุกต์ (cross cradle) ที่ไม่ถูกต้อง โดยการที่ตำแหน่งของหัวนมอยู่ในช่องปากทารกไม่เหมาะสมจะมีความเสี่ยงในการบาดเจ็บหัวนมเพิ่มขึ้น 2.51 เท่า (95% CI 1.13-5.55) การที่ตำแหน่งของหน้าและขากรรไกรทารกขณะดูดนมอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สมดุลจะมีความเสี่ยงในการบาดเจ็บหัวนมเพิ่มขึ้น 4.21 เท่า (95% CI 1.25-14.20) และเทคนิคในการให้ทารกกินนมในท่าขวางตักประยุกต์ที่ไม่เหมาะสมจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 1.90 เท่า (95% CI 1.03-3.50)1 ดังนั้น การที่บุคลากรทางการแพทย์เอาใจใส่ สังเกตขณะที่มารดาให้นมลูก โดยดูว่าทารกสามารถเข้าเต้าและดูดนมได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ก่อนที่มารดาจะได้รับการอนุญาตให้กลับบ้าน จะช่วยป้องกันปัญหาและปัจจัยเสี่ยงในการบาดเจ็บหัวนมของมารดาได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Thompson R, Kruske S, Barclay L, Linden K, Gao Y, Kildea S. Potential predictors of nipple trauma from an in-home breastfeeding programme: A cross-sectional study. Women Birth 2016.

?

?

มารดาที่ให้นมลูกดื่มเครื่องดื่มชูกำลังได้ไหม

S__46162102

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ในช่วงหลังคลอด มารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจจะต้องตื่นบ่อยเพื่อให้นมลูก และบางคนอาจรู้สึกอ่อนเพลีย จึงอาจมีคำถามว่า สามารถดื่มเครื่องดื่มชูกำลังได้หรือไม่ โดยทั่วไปเครื่องดื่มชูกำลังที่มีขายตามท้องตลาดมักมีส่วนประกอบของคาเฟอีน วิตามิน น้ำตาลเพื่อให้พลังงานและสมุนไพรบางชนิด1 ซึ่งมารดาอาจสามารถตรวจสอบส่วนผสมของสารที่มีอยู่ในเครื่องดื่มชูกำลังได้จากฉลากที่ติดอยู่ข้างขวด โดยคาเฟอีนที่มีอยู่ในเครื่องดื่มชูกำลังจะผ่านไปสู่น้ำนมได้ดีและอาจทำให้ทารกร้องกวน หงุดหงิด ไม่ยอมนอนได้ เนื่องจากคาเฟอีนที่ผ่านไปยังทารกจะถูกกำจัดได้ช้ากว่าและอยู่ในร่างกายทารกนาน สำหรับวิตามินและน้ำตาลสามารถรับประทานได้ในขนาดที่ไม่เกินความต้องการของร่างกาย ส่วนสมุนไพรบางชนิดอาจมีข้อจำกัดในเรื่องการใช้ในระหว่างการให้นมลูก ดังนั้น ทางเลือกแรกที่เหมาะสมสำหรับมารดาที่ให้นมบุตร ควรเลือกการพักผ่อนไปพร้อมกับทารกมากกว่า คือ ?ลูกหลับแม่หลับด้วยเพื่อให้มารดาได้พักผ่อนได้ดีขึ้น? สำหรับการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังควรหลีกเลี่ยงเนื่องจากมักมีส่วนประกอบของคาเฟอีนและสารประกอบอื่นๆ ซึ่งมารดาจำเป็นต้องศึกษาจากฉลากที่ชี้แจงส่วนผสมก่อนการเลือกใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง

  1. Thorlton J, Ahmed A, Colby DA. Energy Drinks: Implications for the Breastfeeding Mother. MCN Am J Matern Child Nurs 2016.

?

 

เด็กจะแข็งแรงกว่าหากกินนมแม่นาน

image

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? นมแม่มีภูมิคุ้นกันโรคที่ส่งผ่านจากมารดาไปให้แก่ทารก นอกเหนือจากการป้องกันโรคแล้ว ยังมีการศึกษาในนักเรียนอายุเฉลี่ย 7 ปีถึงสมรรถนะของระบบการหายใจและการเต้นของหัวใจ (cardiorespiratory fitness) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความแข็งแรงของร่างกาย พบว่า เด็กที่กินนมแม่นานกว่าหกเดือนสัมพันธ์กับการมีสมรรถนะของระบบการหายใจและการเต้นของหัวใจที่ดีกว่า และเด็กที่กินนมแม่น้อยมีความเสี่ยง 3.2 เท่าที่จะไม่ผ่านการทดสอบสมรรถนะของระบบการหายใจและการเต้นของหัวใจเมื่อเทียบกับเด็กที่กินนมแม่นานกว่าหกเดือน1 ซึ่งสิ่งนี้อาจแสดงถึงหลักฐานเบื้องต้นที่ยืนยันว่า ?ทารกที่กินนมแม่ เมื่อเจริญเติบโตขึ้นจะมีสมรรถภาพของร่างกายที่แข็งแรงกว่า? ที่จะนำไปสู่การศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Vafa M, Heshmati J, Sadeghi H, et al. Is exclusive breastfeeding and its duration related to cardio respiratory fitness in childhood? J Matern Fetal Neonatal Med 2016;29:461-5.

?

?