คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

ความสำคัญของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในระยะแรกคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มีการพบหลักฐานเพิ่มขึ้นที่บ่งชี้ว่า คู่มารดาและทารกที่มีโอกาสจัดวางให้ทารกแรกเกิดที่ไม่ได้ห่อผ้าให้ผิวทารกสัมผัสกับผิวของมารดาทันทีหลังคลอด (skin to skin contact) จะพบปัญหาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยลง (รูปที่ 2.5) การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อจะกระตุ้นการสร้างน้ำนมและเพิ่มความพึงพอใจของทารก สำหรับทารกแรกเกิดที่ไม่ได้รับผลกระทบยาที่ใช้ในระยะคลอด การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อจะช่วยให้ทารกสามารถแสดงพฤติกรรมการคืบคลานเข้าไปหาเต้านมของมารดา โดยที่บางคนจะสามารถเริ่มดูดนมแม่ได้ภายในชั่วโมงแรก นอกจากนี้ยังพบว่า การคงการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อต่อเนื่องไปจากในระยะคลอดช่วงแรกจะช่วยสนับสนุนความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยแม้แต่ทารกที่คลอดโดยการผ่าตัดคลอด การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อก็สามารถทำได้โดยการวางทารกไว้ที่บริเวณหน้าอกมารดาทันทีที่มารดาตื่นตัว และยังพบอีกด้วยว่าทารกที่ได้รับการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อหลังคลอดจะพบปัญหาในการเข้าเต้ายากได้น้อยกว่า1

เอกสารอ้างอิง

1.        Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

น้ำนมมารดาในระยะแรกหลังคลอด ตอนที่ 3

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในระหว่างที่ทารกกินนมแม่ ทารกอาจมีการกระตุ้นกลไกน้ำนมพุ่งได้หลายครั้ง โดยที่ในแต่ละครั้งที่ทารกดูดนมออกมาจะพบว่าน้ำนมมีไขมันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยน้ำนมส่วนหน้าที่มีอยู่ในเต้านมในช่วงเริ่มต้นของการกินนมแม่ จะมีไขมันประมาณร้อยละ 1.5-2  ในขณะที่น้ำนมส่วนหลังที่อยู่ในตอนท้ายของการกินนม จะมีไขมันประมาณร้อยละ 5-6  การให้ทารกกินนมตามความต้องการโดยไม่จำกัดเวลาจะช่วยให้ทารกได้รับ “น้ำนมส่วนหลัง” ที่มีปริมาณไขมันสูงมากขึ้นรวมทั้งได้รับวิตามินที่ละลายในไขมัน และได้รับพลังงานเพียงพอที่เพิ่มน้ำหนักให้แก่ทารก และช่วยให้ทารกสามารถรอคอย 2-3 ชั่วโมงจากการให้นมครั้งแรกจนถึงการเริ่มให้นมครั้งต่อไป

ความถี่ในการให้นมเป็นตัวควบคุมปริมาณน้ำนม ยิ่งทารกดูดระบายน้ำนมออกบ่อยเท่าไหร่ ยิ่งมีการสร้างปริมาณน้ำนมเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม หากทารกที่หลับนานครั้งละหลายชั่วโมงในช่วงสัปดาห์แรก ๆ หรือกินนมเฉลี่ยน้อยกว่า 8 ครั้งใน 24 ชั่วโมง ความถี่ในการให้นมจะไม่เพียงพอในการกระตุ้นการสร้างน้ำนม จะทำให้ปริมาณน้ำนมลดลง การควบคุมลักษณะนี้ เรียกว่า “กฎแห่งอุปสงค์และอุปทาน” และเนื่องจากเต้านมแต่ละข้างจะตอบสนองต่อการดูดระบายน้ำนมและสร้างน้ำนมตามที่ทารกต้องการ จึงเป็นไปได้ที่จะให้นมแม่อย่างเดียวมากกว่าหนึ่งคนต่อครั้งหรือใช้เพียงเต้าเดียวในการเลี้ยงลูกหนึ่งคน แต่หากในระยะแรกน้ำนมแม่ไม่ได้มีการระบายออกจากเต้า น้ำนมจะเต็มเต้าและมีอาการคัดตึงในที่สุด และเมื่อถึงจุดนั้นสารในน้ำนมเองจะตอบสนองโดยการยับยั้งการสร้างน้ำนม (feedback inhibitor of lactation) ทำให้น้ำนมลดลง1

เอกสารอ้างอิง

1.        Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

น้ำนมมารดาในระยะแรกหลังคลอด ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ทุก ๆ ครั้งที่ทารกดูดนมจากเต้าจะมีกระตุ้นการหลั่งโปรแลกติน (ฮอร์โมนที่สร้างน้ำนม) จากต่อมใต้สมองส่วนหน้าและออกซิโตซิน (ฮอร์โมนที่ขับน้ำนมพุ่ง) จากต่อมใต้สมองส่วนหลัง  ฮอร์โมนออกซิโตซินจะกระตุ้นให้เซลล์เยื่อบุกล้ามเนื้อที่อยู่รอบ ๆ ต่อมน้ำนมหดตัว ส่งให้น้ำนมไหลผ่านท่อน้ำนมไปยังหัวนม โดยเรียกกลไกนี้ว่า กลไกน้ำนมพุ่ง (milk ejection reflex) หรือกลไกการไหลของน้ำนม (let-down reflex) ซึ่งมารดาอาจสังเกตได้จากการที่มีความรู้สึกคล้ายมีเข็มหมุดหรือเข็มมาสัมผัสที่ในเต้านม หรือมีระลอกคลื่นของความร้อนผ่านมาจากในเต้านม ขณะที่มารดาบางคนอาจไม่รู้สึกอะไรเลย แต่จะสังเกตเห็นน้ำนมหยดออกมาจากหัวนม เมื่อน้ำนมเริ่มไหล ทารกจะเปลี่ยนวิธีที่ขยับปากในรูปแบบที่มีการเคลื่อนของขากรรไกรที่กว้างขึ้น และมีการขยับของลิ้นลง ซึ่งจะส่งผลให้ความดันในช่องปากของทารกลดลง และเกิดการไหลของน้ำนมเพิ่มขึ้น เมื่อมีการไหลของน้ำนม จะส่งผลให้ทารกเกิดการกลืนเป็นจังหวะอย่างช้า ๆ และอาจได้ยินเสียง “โกวะฮ์ (cuh)” ที่เป็นเสียงจากการกลืนเบา ๆ  โดยที่การกลืนน้ำนมของทารก จะเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีว่าทารกดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ1

เอกสารอ้างอิง

1.        Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

น้ำนมมารดาในระยะแรกหลังคลอด ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

หลังคลอดบุตร มารดาจะมีหัวน้ำนมหรือน้ำนมเหลือง โดยปริมาณน้ำนมเหลืองทั้งหมดที่มีในวันแรกแม้จะมีปริมาณน้อย (40-50 มล.) แต่จะพอดีกับความจุกระเพาะอาหารของทารกแรกเกิดซึ่งมีขนาดเล็กประมาณ 20 มล. (ประมาณ 4 ช้อนชา) หรือ 5 มล. / กก.

น้ำนมปกติจะเริ่มปรากฎในสองสามวันหลังคลอด (การสร้างน้ำนมระยะที่ 2) ไม่ว่ามารดาจะให้ทารกกินนมแม่หรือไม่ แต่การกระตุ้นโดยการดูดนมจากเต้านมของทารกจะช่วยในการสร้างและคงหรือรักษาการสร้างน้ำนม การสร้างนมแม่จะถูกกำหนดโดย “การกินนมของทารก” ซึ่งก็คือ หากทารกหิวจะกระตุ้นโดยการดูดนมนานและทารกจะหยุดการกระตุ้นเมื่อทารกอิ่ม นมแม่จะย่อยง่าย ดังนั้นทารกจึงส่งสัญญาณว่าต้องดูดหรือกินทุก 2-3 ชั่วโมง (บางครั้งบ่อยกว่านั้น) หรืออย่างน้อย 8 ครั้งในทุก 24 ชั่วโมงในช่วงสัปดาห์แรก ๆ   แต่ในทารกบางคนอาจมีลักษณะการกินนมถี่หรือกระจุกตัวอยู่ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก และจะกินนมน้อยลงในช่วง 24 ชั่วโมงที่ถัดไป

ขณะที่มารดาให้นมแม่จะมีปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติและฮอร์โมนที่เป็นตัวกำหนดปริมาณน้ำนม การสร้างน้ำนมได้รับอิทธิพลในเชิงบวกจากการดูดนมตั้งแต่ในระยะแรก ดูดนมบ่อย และดูดนมอย่างมีประสิทธิภาพ  สำหรับอิทธิพลเชิงลบจะเป็นผลจากการเริ่มทารกดูดนมช้าและดูดนมไม่บ่อยพอ หรือการให้ทารกกินของเหลวหรืออาหารอื่น ๆ นอกเหนือจากนมแม่ก่อนทารกอายุหกเดือน1

เอกสารอ้างอิง

1.        Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

ความรู้สรีรวิทยาพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการให้นมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

สรีรวิทยาพื้นฐานที่มารดาควรเข้าใจคือ เรื่องของกลไกการหลั่งน้ำนม โดยในระหว่างการตั้งครรภ์มีฮอร์โมนหลายชนิดที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ฮอร์โมนที่มีความสำคัญ ได้แก่ เอสโตรเจน โปรเจสเตอโรนและโปรแลกติน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์จะป้องกันไม่ให้โปรแลกตินกระตุ้นให้เกิดการหลั่งน้ำนม แต่หลังการคลอดของรก ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะลดลงอย่างมาก ในขณะที่ระดับโปรแลกตินยังคงสูงขึ้น นี่คือสัญญาณให้เต้านมเริ่มสร้างและหลั่งน้ำนม ซึ่งการที่ร่างกายมารดารับรู้ว่าโปรแลกตินสูงขึ้นเกิดจากตัวรับที่จะตอบสนองการทำงานฮอร์โมนโปรแลกตินในเต้านมจะเพิ่มขึ้นในระยะหลังคลอด สำหรับหัวน้ำนม (colostrum) จะมีการสร้างและมีอยู่ในเต้านมตั้งแต่ช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ (การสร้างน้ำนมระยะที่ 1) โดยหัวน้ำนมจะพร้อมที่จะให้ทารกแรกเกิดในช่วงสองสามวันแรกของชีวิตจนกว่าจะมีการสร้างน้ำนมในระยะเปลี่ยนแปลง และสร้างน้ำสมสมบูรณ์ที่จะมีปริมาณที่มากขึ้น ทารกปกติที่คลอดกำหนดจะเกิดมาพร้อมกับปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติและพฤติกรรมหลายอย่างที่จะช่วยให้มั่นใจว่าทารกแรกเกิดจะมีชีวิตรอดจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในมดลูกสู่ชีวิตนอกมดลูก โดยปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติเหล่านี้ทำให้ทารกแรกเกิดสามารถเริ่มดูดและกินนมได้ทันทีหลังคลอด1

เอกสารอ้างอิง

1.        Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.