คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

ประวัติของการปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตอนที่ 5

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

บันไดขั้นที่ 6: ไม่ให้อาหารหรือเครื่องดื่มอื่นใดแก่ทารก นอกเหนือจากนมแม่ โดยปราศจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์1

  • การเสริมอาหารทดแทนนมแม่ควรให้เฉพาะในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น* โดยหากจำเป็นต้องให้อาหารเพิ่มแก่ทารก การให้นมจากมารดาของทารกเองหรือนมจากผู้บริจาคผ่านธนาคารนมแม่จะดีที่สุด
  • ในกรณีที่มีความเสี่ยงในการเกิดการแพ้ การให้นมสูตรที่ผลิตจากถั่วเหลืองไม่ได้เกิดผลดีไปกว่านมสูตรที่ผลิตจากนมวัว โดยหากจำเป็นต้องให้อาหารเสริมที่ไม่ใช่นมแม่  การใช้นมสูตรที่ผลิตจากนมวัวที่ผ่านการไฮโดรไลซ์ (hydrolyzed) จะดีที่สุดที่จะลดความเสี่ยงในการเกิดการแพ้
  • แม้ในสภาพอากาศร้อนและแห้ง นมแม่ก็มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับความต้องการของทารก โดยไม่มีความจำเป็นต้องให้น้ำ เครื่องดื่มที่มีรสหวาน หรือชาเพิ่มเติม
  • หากมีการให้อาหารเสริมแก่ทารก จะทำให้ทารกพลาดโอกาสที่จะฝึกทักษะในการดูดนมแม่และจะทำให้ทารกกินนมแม่ได้น้อยลง
  • ยิ่งทารกกินนมแม่น้อย ภูมิคุ้มกันที่จะปกป้องทารกก็จะน้อยตามด้วยไปด้วย

* หมายเหตุ: ในช่วงต้นปี ค.ศ.2009 องค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติได้จัดการแถลงการณ์ถึงข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ในการใช้อาหารทดแทนนมแม่ที่ยอมรับได้ โดยสำเนารวมอยู่ในภาคผนวกของเครื่องมือที่ใช้ประกอบการศึกษาด้วยตนเองในภาคผนวก B  นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังทำการเผยแพร่ข้อมูลในส่วนงานส่งเสริมสุขภาพของเด็กเล็กและวัยรุ่น และงานส่งเสริมโภชนาการเพื่อสุขภาพและการพัฒนาการที่เว็บไซต์ www.who.int/child_adolescent_health และ www.who.int/nutrition

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

ประวัติของการปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตอนที่ 4

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

บันไดขั้นที่ 5: แสดงให้มารดาทราบถึงวิธีการให้นมลูกและวิธีรักษาการคงการสร้างและการให้นมแม่ แม้ว่ามารดาจำเป็นต้องแยกจากทารก1

  • มารดาควรได้รับการแสดงวิธีการจัดท่าให้นมลูก วิธีการเข้าเต้า และขณะที่มารดาให้นมลูกควรได้รับการสังเกตและประเมินการให้นมลูกโดยผู้ที่มีความรู้ที่จะช่วยมารดาในการให้นมลูกได้
  • มารดาทุกคนควรได้รับการแสดงวิธีการบีบน้ำนมด้วยมือ โดยหากมารดามีความจำเป็นต้องแยกจากทารก มารดาจะยังสามารถที่จะคงการสร้างน้ำนม และในหลาย ๆ กรณีมารดาอาจเก็บรักษาน้ำนมที่บีบไว้ และนำมาให้แก่ทารกได้

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

ประวัติของการปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตอนที่ 3

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

บันไดขั้นที่ 3:  แจ้งสตรีมีครรภ์ทุกคนเกี่ยวกับประโยชน์และการจัดการเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของโรงพยาบาล1

  • สตรีจำเป็นต้องมีความรู้ถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อที่จะได้มีข้อมูลในการตัดสินใจในการเลือกนมที่จะเป็นอาหารสำหรับทารกแรกเกิด
  • ประสบการณ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกคนก่อนของมารดาควรได้รับการซักถาม เพื่อแก้ไขในกรณีที่มารดามีความเข้าใจผิดในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือเพื่อวางแผนป้องกันปัญหาที่มารดาเคยประสบมาก่อน
  • สตรีตั้งครรภ์ทุกคนควรทราบถึงสิ่งที่คาดหวังเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอดและมีความเข้าใจพื้นฐานของให้นมลูกอย่างต่อเนื่อง

บันไดขั้นที่ 4: สนับสนุนให้มารดาให้นมลูกภายในหนึ่งชั่วโมงหลังคลอด1

  • ทารกควรได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อทันทีหลังคลอด เพื่อที่เปิดโอกาสให้ทารกสามารถขยับเข้าหาเต้านมและเริ่มดูดนมแม่หลังการคลอดปกติ ปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติของทารกในการดูดนมจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่แรกเกิด ขณะที่หัวน้ำนมหรือน้ำนมเหลืองในเต้านมของมารดาที่เต็มไปด้วยอิมมูโนโกลบูลิน (immunoglobulin) และวิตามินเอที่ให้กับทารก จะถือเป็น “การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ทารกครั้งแรก” ดังที่ได้มีการบรรยายไว้ก่อนหน้านี้ โดยการให้นมลูกในครั้งแรกควรมีลักษณะที่ส่งเสริมให้ “ผิวของทารกได้สัมผัสกับผิวของมารดา” ขณะทารกทำการดูดนมแม่
  • มารดาที่ได้รับการผ่าตัดคลอดควรเริ่มให้นมลูกภายในหนึ่งชั่วโมงเมื่อมารดารู้สึกตัว

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

ประวัติของการปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในระยะแรกของการดำเนินงานตามหลักบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น สองขั้นแรกของบันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นพื้นฐานของการดำเนินงาน โดยกำหนดให้มีนโยบายของโรงพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และมีบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมที่สามารถช่วยเหลือมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ซึ่งจะมีรายละเอียดของการปฏิบัติทางคลินิกดังนี้1

บันไดขั้นที่ 1: มีนโยบายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยที่มีการสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนเป็นประจำ1

สถาบันเวชศาสตร์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (The Academy of Breastfeeding Medicine) ได้เสนอต้นแบบของนโยบายโรงพยาบาล  ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจากเว็บไซต์ของหน่วยงานและปรับให้มีความเหมาะสมกับบริบทของโรงพยาบาลและการให้บริการดูแลมารดาและทารก

บันไดขั้นที่ 2: ฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนให้มีทักษะที่จำเป็นในการดำเนินการตามนโยบายนี้1

หลักสูตรฝึกอบรมขั้นพื้นฐานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ได้รับการออกแบบโดยองค์การอนามัยโลกและสามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจากเว็บไซต์องค์การอนามัยโลก

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

ประวัติของการปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

นโยบายและแนวปฏิบัติของโรงพยาบาลมีอิทธิพลต่อผลลัพธ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยอาจช่วยสนับสนุนหรือขัดขวางกระบวนการต่าง ๆ ที่จะช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น ในมารดาที่เลือกที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรได้รับการดูแลช่วยเหลือ เพื่อให้มั่นใจว่ามารดาจะสามารถเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดี

ในปี ค.ศ.1989 ได้มีการออกแถลงการณ์เรื่อง “การปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่: การให้การบริการมารดาในบทบาทพิเศษ” โดยเป็นการแถลงการณ์ร่วมขององค์การอนามัยโลก (WHO) และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติสำหรับโรงพยาบาลและศูนย์อนามัยแม่และเด็ก ซึ่งในการแถลงการณ์นี้ได้อธิบายถึง “บันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” ที่เป็นพื้นฐานการดำเนินการโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก (Baby-Friendly Hospital Initiative หรือใช้ตำย่อว่า BFHI)  กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกได้สนับสนุนการจัดโครงการฝึกอบรมบุคลากรและพัฒนานโยบายของโรงพยาบาลตามความสมัครใจ เพื่อเป็นศูนย์กลางของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาและทารก ซึ่งช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่มีการจัดทำหน่วยการเรียนรู้การศึกษาด้วยตนเองรุ่นที่ 3  โดยมีโรงพยาบาลเกือบ 20,000 แห่งทั่วโลกได้เข้าร่วมโครงการดำเนินการตามเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการเป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก นอกจากนี้ แม้ว่าโรงพยาบาลหลายแห่งจะยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้มีการดำเนินการตามนโยบายโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก1

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.