ประวัติของการปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตอนที่ 3

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

บันไดขั้นที่ 3:  แจ้งสตรีมีครรภ์ทุกคนเกี่ยวกับประโยชน์และการจัดการเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของโรงพยาบาล1

  • สตรีจำเป็นต้องมีความรู้ถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อที่จะได้มีข้อมูลในการตัดสินใจในการเลือกนมที่จะเป็นอาหารสำหรับทารกแรกเกิด
  • ประสบการณ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกคนก่อนของมารดาควรได้รับการซักถาม เพื่อแก้ไขในกรณีที่มารดามีความเข้าใจผิดในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือเพื่อวางแผนป้องกันปัญหาที่มารดาเคยประสบมาก่อน
  • สตรีตั้งครรภ์ทุกคนควรทราบถึงสิ่งที่คาดหวังเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอดและมีความเข้าใจพื้นฐานของให้นมลูกอย่างต่อเนื่อง

บันไดขั้นที่ 4: สนับสนุนให้มารดาให้นมลูกภายในหนึ่งชั่วโมงหลังคลอด1

  • ทารกควรได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อทันทีหลังคลอด เพื่อที่เปิดโอกาสให้ทารกสามารถขยับเข้าหาเต้านมและเริ่มดูดนมแม่หลังการคลอดปกติ ปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติของทารกในการดูดนมจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่แรกเกิด ขณะที่หัวน้ำนมหรือน้ำนมเหลืองในเต้านมของมารดาที่เต็มไปด้วยอิมมูโนโกลบูลิน (immunoglobulin) และวิตามินเอที่ให้กับทารก จะถือเป็น “การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ทารกครั้งแรก” ดังที่ได้มีการบรรยายไว้ก่อนหน้านี้ โดยการให้นมลูกในครั้งแรกควรมีลักษณะที่ส่งเสริมให้ “ผิวของทารกได้สัมผัสกับผิวของมารดา” ขณะทารกทำการดูดนมแม่
  • มารดาที่ได้รับการผ่าตัดคลอดควรเริ่มให้นมลูกภายในหนึ่งชั่วโมงเมื่อมารดารู้สึกตัว

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.