คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

ประวัติของหลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในปี ค.ศ.1992 กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกได้จัดทำโครงการระดับนานาชาติเพื่อพัฒนา ประเมิน และรับรองโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกตามความสมัครใจ โดยใช้ “บันไดสิบขั้น” เป็นแกนหลักในการดำเนินงาน  ซึ่งหลักฐานของ “การเป็นแบบอย่างของผู้เรียกร้อง (Code Compliant)” หลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้รวมอยู่ในเกณฑ์การประเมิน ทำให้หลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเป็นเสมือนบันไดขั้นที่สิบเอ็ด เกณฑ์ของการเป็น“ Code Compliant” คือโรงพยาบาลต้องไม่รับการให้ฟรีหรือรับบริจาคนมผงดัดแปลงสำหรับทารก แต่ต้องทำการจัดซื้อเพื่อใช้ในโรงพยาบาล นอกจากนี้ โรงพยาบาลต้องไม่อนุญาตให้มีการใช้การส่งเสริมทางการตลาดโดยการแจกนมผงดัดแปลงสำหรับทารกในชุด“ ของขวัญ” ที่มอบให้ฟรีกับคุณแม่คนใหม่ที่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน1

หมายเหตุ  คู่มือโดยละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความรับผิดชอบเฉพาะของบุคลากรทางการแพทย์ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่มีการเผยแพร่โดยศูนย์เอกสารข้อกำหนดระหว่างประเทศ (International Code Documentation Center หรือคำย่อคือ ICDC) สำหรับสำเนาเอกสารนี้สามารถติดต่อขอได้จากสำนักงานเครือข่ายปฏิบัติการด้านอาหารทารกระหว่างประเทศ (International Baby Food Action Network หรือคำย่อคือ IBFAN) ที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย

ข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องสามารถค้นได้จากเว็บไซต์ต่อไปนี้:

International Baby Food Action Network: www.ibfan.org

World Alliance for Breast feeding Action (WABA): www. waba.org.my

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

ประวัติของหลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 มีการใช้กลไกทางด้านการตลาดของอาหารทดแทนนมแม่เพิ่มขึ้นเพื่อที่จะแข่งขันกับการให้นมแม่ในทารกแรกเกิด โดยเริ่มพบในพื้นที่บางส่วนของแอฟริกาและภูมิภาคอื่น ๆ ในช่วงยุคแรกที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในพื้นที่เหล่านี้ได้สังเกตพบว่า ทารกที่ได้รับอาหารทดแทนนมแม่จะสัมพันธ์กับการเพิ่มการพบภาวะทุพโภชนาการ อาการท้องร่วง และการเสียชีวิตของทารกในพื้นที่เฝ้าระวัง มีผลทำให้หน่วยงานที่ดูแลสุขภาพระหว่างประเทศและประชาชนทั่วไปเกิดความวิตกกังวลอย่างมาก จนกระทั่งในปี ค.ศ.1981 หลังจากที่มีการประชุมระหว่างประเทศหลายครั้งและมีการศึกษาทางข้อกฎหมาย เหล่าประเทศสมาชิกของสมาคมสุขอนามัยโลก (World Health Assembly หรือคำย่อคือ WHA) ยกเว้นสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยมีมติกำหนด หลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (The International Code of Marketing of Breastmilk Substitutes หรือใช้คำย่อว่า code นมแม่) ซึ่งหลักเกณฑ์นี้จะได้รับการปรับปรุงทุก 2 ปีผ่านการเห็นชอบของ WHA โดยจะมีการกำหนดแนวทางสำหรับบริษัทที่ผลิตและทำการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ ขวดนมและจุกนม และแนวทางสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่จะให้คำแนะนำในการใช้อาหารทดแทนนมแม่สำหรับทารกป่วย และบทบาทของรัฐบาลที่มีหน้าที่รับผิดชอบสุขภาพของประชาชน1

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

ประวัติของการปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตอนที่ 7

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

บันไดขั้นที่ 9: ห้ามใช้หัวนมเทียมหรือจุกนมหลอกในทารกที่กินนมแม่1 *

  • การใช้อุปกรณ์เหล่านี้มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ทารกมีเทคนิคการดูดนมที่ไม่เหมาะสม และอาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
  • การให้ทารกกินนมจากเต้าจะช่วยให้ทารกได้ทั้งสารอาหารที่ครบถ้วนและยังช่วยในการปลอบประโลมทารกอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เหล่านี้

* หมายเหตุ: ข้อมูลจากส่วนงานกุมารเวชศาสตร์ปริกำเนิดของสมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Pediatrics) เชื่อว่ามีหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงข้อบ่งชี้ทางการแพทย์สำหรับการใช้จุกนมหลอกซึ่งได้แก่ การช่วยลดอาการปวดและช่วยให้ทารกที่ได้รับยาที่ทำให้ทารกตื่นตัวสงบ

บันไดขั้นที่ 10: ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และส่งต่อมารดาให้แก่กลุ่มสนับสนุนเมื่อมารดาได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล1

  • กลุ่มสนับสนุนจะช่วยให้ข้อมูลความรู้และให้สังคมของมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  • ช่วยชี้และจัดหาพี่เลี้ยงในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกับมารดา (เช่น สมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือกลุ่มสนับสนุนที่อยู่ในชุมชนใกล้กับมารดา)
  • สนับสนุนให้มารดาได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัวและเพื่อนในช่วงระยะแรกหลังคลอด ซึ่งการที่มารดาได้พักผ่อนและรู้สึกผ่อนคลาย จะมีประโยชน์ต่อทั้งการช่วยการฟื้นตัวของมารดาจากการคลอดและการช่วยให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกได้มีการเผยแพร่โดยกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

ประวัติของการปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตอนที่ 6

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

บันไดขั้นที่ 7: จัดให้มารดาและทารกได้ฝึกอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง1

  • ช่วยลดการทอดทิ้งทารก
  • ช่วยให้มารดาได้มีการฝึกทักษะการให้นมลูก
  • ช่วยให้มารดาสามารถตอบสนองความต้องการของทารกได้ทันทีและมีการสร้างน้ำนมตามความต้องการของทารก
  • เป็นข้อจำเป็นเบื้องต้นที่ต้องมีสำหรับการดำเนินการในลักษณะของการให้นมตามความต้องการของทารก

บันไดขั้นที่ 8: ส่งเสริมให้มารดาให้นมทารกตามความต้องการ1

  • การที่ทารกดูดนมบ่อยจะเป็นตัวกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมแม่ที่เพียงพอสำหรับความต้องการของทารก
  • การที่ทารกดูดและกินนมได้อย่างมีประสิทธิภาพบ่อยจะช่วยกระตุ้นการขับถ่ายขี้เทา (meconium) และช่วยลดอาการตัวเหลืองของทารก

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

ประวัติของการปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตอนที่ 5

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

บันไดขั้นที่ 6: ไม่ให้อาหารหรือเครื่องดื่มอื่นใดแก่ทารก นอกเหนือจากนมแม่ โดยปราศจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์1

  • การเสริมอาหารทดแทนนมแม่ควรให้เฉพาะในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น* โดยหากจำเป็นต้องให้อาหารเพิ่มแก่ทารก การให้นมจากมารดาของทารกเองหรือนมจากผู้บริจาคผ่านธนาคารนมแม่จะดีที่สุด
  • ในกรณีที่มีความเสี่ยงในการเกิดการแพ้ การให้นมสูตรที่ผลิตจากถั่วเหลืองไม่ได้เกิดผลดีไปกว่านมสูตรที่ผลิตจากนมวัว โดยหากจำเป็นต้องให้อาหารเสริมที่ไม่ใช่นมแม่  การใช้นมสูตรที่ผลิตจากนมวัวที่ผ่านการไฮโดรไลซ์ (hydrolyzed) จะดีที่สุดที่จะลดความเสี่ยงในการเกิดการแพ้
  • แม้ในสภาพอากาศร้อนและแห้ง นมแม่ก็มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับความต้องการของทารก โดยไม่มีความจำเป็นต้องให้น้ำ เครื่องดื่มที่มีรสหวาน หรือชาเพิ่มเติม
  • หากมีการให้อาหารเสริมแก่ทารก จะทำให้ทารกพลาดโอกาสที่จะฝึกทักษะในการดูดนมแม่และจะทำให้ทารกกินนมแม่ได้น้อยลง
  • ยิ่งทารกกินนมแม่น้อย ภูมิคุ้มกันที่จะปกป้องทารกก็จะน้อยตามด้วยไปด้วย

* หมายเหตุ: ในช่วงต้นปี ค.ศ.2009 องค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติได้จัดการแถลงการณ์ถึงข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ในการใช้อาหารทดแทนนมแม่ที่ยอมรับได้ โดยสำเนารวมอยู่ในภาคผนวกของเครื่องมือที่ใช้ประกอบการศึกษาด้วยตนเองในภาคผนวก B  นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังทำการเผยแพร่ข้อมูลในส่วนงานส่งเสริมสุขภาพของเด็กเล็กและวัยรุ่น และงานส่งเสริมโภชนาการเพื่อสุขภาพและการพัฒนาการที่เว็บไซต์ www.who.int/child_adolescent_health และ www.who.int/nutrition

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.