คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่และปัจจัยด้านพันธุกรรม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ คำที่ใช้เรียกในภาษาอังกฤษคือ polycystic ovarian syndrome หรือใช้คำย่อเป็น PCOS  ความชุกของกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่พบร้อยละ 8-131  โดยสาเหตุของการเกิดกลุ่มอาการนี้เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากพิจารณาปัจจัยทางด้านพันธุกรรม มีการศึกษาพบความสัมพันธ์ของการเกิดกลุ่มอาการนี้สูงในครอบครัวและคู่แฝด ซึ่งพบยีนหลายตัวที่มีความเกี่ยวข้องมากกับกลุ่มอาการนี้ คือ DENND1A V.2, FSHR, LHCGR และ INSR2,3 โดยมีการถ่ายทอดแบบ autosomal dominant ดังนั้นประวัติของกลุ่มอาการนี้ในครอบครัวจึงมีความสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการเกิดกลุ่มอาการนี้เช่นกัน ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในตอนต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Wiencek JR, McCartney CR, Chang AY, Straseski JA, Auchus RJ, Woodworth A. Challenges in the Assessment and Diagnosis of Polycystic Ovary Syndrome. Clin Chem 2019;65:370-7.
  2. Tee MK, Speek M, Legeza B, et al. Alternative splicing of DENND1A, a PCOS candidate gene, generates variant 2. Mol Cell Endocrinol 2016;434:25-35.
  3. McAllister JM, Legro RS, Modi BP, Strauss JF, 3rd. Functional genomics of PCOS: from GWAS to molecular mechanisms. Trends Endocrinol Metab 2015;26:118-24.

ผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อทารกที่มีมารดาเป็นเบาหวาน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกกินนมแม่ยิ่งนาน จะยิ่งลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น โดยหากทารกกินนมแม่เพิ่มขึ้นหนึ่งเดือน จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนลงร้อยละ 41  ซึ่งผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะลดการเกิดโรคอ้วนในวัยเด็กจนถึงวัยหนุ่มสาวของทารกที่มารดามีโรคเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ และยังเกิดผลเช่นเดียวกันในทารกที่มารดาไม่มีโรคเบาหวานด้วย2  ประโยชน์ของการลดการเกิดโรคอ้วนในทารกที่กินนมแม่คำอธิบายจากทารกที่กินนมแม่จะมีการฝึกการควบคุมการดูดนมแม่ได้ด้วยตนเอง โดยการดูดนมแม่นั้น ทารกต้องออกแรงดูด เมื่อทารกอิ่ม ทารกจะหยุดการดูดนมแม่ ซึ่งจะแตกต่างจากทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจากขวดนม เนื่องจากนมจากขวดจะไหลง่าย ทารกแทบไม่ได้ออกแรงดูดหรือออกแรงดูดเพียงเล็กน้อย นมจากขวดนมก็จะไหลแล้ว ทารกจึงไม่ได้ฝึกการควบคุมการกินนม ทารกจึงยังคงกินนมขวดแม้จะรู้สึกอิ่มแล้วทำให้ทารกขาดการควบคุมการกินอย่างเหมาะสมตามความอิ่มของตนเอง เมื่อเติบโตขึ้นจะส่งผลต่อพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน

  สำหรับการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานและกลุ่มอาการเมตาบอลิก การที่ทารกได้กินนมแม่จะช่วยลดการเกิดโรคเบาหวานและกลุ่มอาการเมตาบอลิกทั้งในกลุ่มทารกที่มีและไม่มีมารดาเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์  โดยทารกที่กินนมแม่ที่มีมารดาเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานลงร้อยละ 82 (OR = 0.18, 95% CI 0.04-0.82) และลดการเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิกลงร้อยละ 90 (OR = 0.10, 95% CI 0.02-0.55) เมื่อเทียบกับทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ที่มีมารดาเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์3 และจากงานวิจัยที่มีการทบทวนอย่างเป็นระบบพบว่า การให้ทารกได้กินนมแม่จะลดการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ร้อยละ 33 (OR =0.67, 95% CI 0.56-0.80)4 การที่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานและกลุ่มอาการเมตาบอลิกอธิบายจาก โรคเบาหวานและกลุ่มอาการเมตาบอลิกมีความสัมพันธ์กับโรคอ้วน การที่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดการเกิดโรคอ้วน จึงส่งผลในการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานและกลุ่มอาการเมตาบอลิกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Harder T, Bergmann R, Kallischnigg G, Plagemann A. Duration of breastfeeding and risk of overweight: a meta-analysis. Am J Epidemiol 2005;162:397-403.
  2. Mitanchez D, Yzydorczyk C, Siddeek B, Boubred F, Benahmed M, Simeoni U. The offspring of the diabetic mother–short- and long-term implications. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol 2015;29:256-69.
  3. Vandyousefi S, Goran MI, Gunderson EP, et al. Association of breastfeeding and gestational diabetes mellitus with the prevalence of prediabetes and the metabolic syndrome in offspring of Hispanic mothers. Pediatr Obes 2019;14:e12515.
  4. Horta BL, de Lima NP. Breastfeeding and Type 2 Diabetes: Systematic Review and Meta-Analysis. Curr Diab Rep 2019;19:1.

 

ผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีต่อโรคเบาหวานในมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การที่มารดาให้นมลูกจะมีผลดีต่อการเผาพลาญอาหารในร่างกายมารดา โดยช่วยลดระดับน้ำตาลหลังจากมารดางดอาหาร 8 ชั่วโมง (fasting glucose)  ลดความต้านทานต่ออินซูลินของเนื้อเยื่อ (insulin resistance)  ลดระดับไขมันในเลือดในมารดาที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ในช่วงหลังคลอด1,2 ซึ่งพบว่าจะมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในมารดาที่ให้และไม่ได้ให้นมลูกที่ 3 เดือนหลังคลอด3 สำหรับการช่วยลดการเกิดโรคเบาหวานในระยะยาวของมารดาที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์เมื่อมารดาอายุมากขึ้น ผลที่เกิดนี้อธิบายจากสมมติฐานการตั้งค่าใหม่ (reset hypothesis)4 ที่ร่างกายของมารดาจะมีการตั้งค่าการเผาพลาญอาหารใหม่ขณะที่มีการให้นมลูก ซึ่งการตั้งค่าใหม่นี้จะลดการสะสมไขมัน ลดการผลิตอินซูลิน ลดความต้านทานอินซูลิน (insulin resistance) และลดไขมันในกระแสเลือด ทำให้มารดาลดความเสี่ยงในการเกิดโรคทางเมตาบอลิกรวมทั้งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง  นอกจากนี้ ในมารดาที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีมาก่อนตั้งครรภ์ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังช่วยให้มารดาควบคุมระดับน้ำตาลในช่วงหลังคลอดได้ดีขึ้น5

เอกสารอ้างอิง

  1. Shub A, Miranda M, Georgiou HM, McCarthy EA, Lappas M. The effect of breastfeeding on postpartum glucose tolerance and lipid profiles in women with gestational diabetes mellitus. Int Breastfeed J 2019;14:46.
  2. Yasuhi I, Yamashita H, Maeda K, et al. High-intensity breastfeeding improves insulin sensitivity during early post-partum period in obese women with gestational diabetes. Diabetes Metab Res Rev 2019;35:e3127.
  3. Corrado F, Giunta L, Granese R, et al. Metabolic effects of breastfeeding in women with previous gestational diabetes diagnosed according to the IADPSG criteria. J Matern Fetal Neonatal Med 2019;32:225-8.
  4. Stuebe AM, Rich-Edwards JW. The reset hypothesis: lactation and maternal metabolism. Am J Perinatol 2009;26:81-8.
  5. Nam GE, Han K, Kim DH, et al. Associations between Breastfeeding and Type 2 Diabetes Mellitus and Glycemic Control in Parous Women: A Nationwide, Population-Based Study. Diabetes Metab J 2019;43:236-41.

ผลระยะยาวของโรคเบาหวานที่มีมาก่อนตั้งครรภ์ต่อทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              ทารกที่มีมารดาเป็นโรคเบาหวานเมื่ออายุมากขึ้น จะมีความเสี่ยงที่มีภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไตเพิ่มขึ้น โดยพบว่าทารกที่มีมารดาเป็นโรคเบาหวาน จะมีความเสี่ยงที่จะคลอดทารกแรกเกิดตัวโต การที่ทารกแรกเกิดตัวโตมากกว่า 4000 กรัมจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีโรคอ้วน 2 เท่า และความเสี่ยงจะเพิ่มเป็น 2.5 เท่าหากทารกมีน้ำหนักแรกเกิดที่เปอร์เซ็นไทล์ (percentile) 90  เมื่อเปรียบเทียบดัชนีมวลกายของทารกที่มีมารดาเป็นโรคเบาหวานที่อายุ 18 ปี พบว่ามีค่าดัชนีมวลกายมากกว่าทารกที่มารดาไม่มีโรคเบาหวาน 0.94 กิโลกรัมต่อตารางเมตร และพบความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้น 6 เท่าในทารกที่มีมารดาเป็นโรคเบาหวาน โดยการเพิ่มขึ้นของโรคเบาหวานในทารกอธิบายจากพันธุกรรมและการที่ทารกมีการคลอดก่อนกำหนดจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นด้วย1  

สำหรับความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไต มีคำอธิบายจากภาวะแวดล้อมในครรภ์ของมารดาที่มีน้ำตาลในเลือดสูง จะทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของเซลล์ผนังหลอดเลือดของทารก2 มีความเสี่ยงในการเกิดความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น มีการเกิด oxidative stress3 ซึ่งจะมีผลทำให้ความยาวของเทโลเมียร์ (telomere) สั้นลง เทโลเมียร์คือ ส่วนของสายดีเอ็นเอที่อยู่บริเวณปลายของโครโมโซมทั้งสองข้าง โดยหน้าที่ที่สำคัญของเทโลเมียร์คือป้องกันดีเอ็นเอจากการถูกทำลาย และการพันกันของสายดีเอ็นเอ เมื่อเทโลเมียร์สั้นลง จะมีความสัมพันธ์กับการเสื่อมของเซลล์ ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด1

เอกสารอ้างอิง

  1. Mitanchez D, Yzydorczyk C, Siddeek B, Boubred F, Benahmed M, Simeoni U. The offspring of the diabetic mother–short- and long-term implications. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol 2015;29:256-69.
  2. Ingram DA, Lien IZ, Mead LE, et al. In vitro hyperglycemia or a diabetic intrauterine environment reduces neonatal endothelial colony-forming cell numbers and function. Diabetes 2008;57:724-31.
  3. Abe J, Berk BC. Reactive oxygen species as mediators of signal transduction in cardiovascular disease. Trends Cardiovasc Med 1998;8:59-64.

 

ผลระยะยาวของโรคเบาหวานที่มีมาก่อนตั้งครรภ์ต่อมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                       มารดาที่มีโรคเบาหวานที่มีมาก่อนตั้งครรภ์ในระยะยาวจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของการทำงานที่ผิดปกติของเซลล์ผนังหลอดเลือด (endothelial dysfunction) ทำให้เลือดที่ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะลดลง จนเกิดความผิดปกติของการทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวข้องที่พบบ่อย ได้แก่ ตา ไต และปลายเท้า โดยในส่วนของตาจะพบความผิดปกติของจอประสาทตาจากโรคเบาหวาน (diabetic retinopathy) ซึ่งจะกระทบต่อการมองเห็น และในส่วนของไตจะพบความผิดปกติของการรั่วของอัลบูมิน (albumin) ในปัสสาวะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตจากเบาหวาน (diabetic nephropathy) ส่วนปลายเท้าจะมีอาการชา เกิดบาดแผลง่าย แผลหายช้า มีความเสี่ยงต่อการตัดเท้าหรือขาเพิ่มขึ้น1 นอกจากนี้ ยังพบมารดามีความเสี่ยงจากการเกิดโรคในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงคล้ายคลึงกัน ได้แก่ ความดันโลหิตสูง กลุ่มอาการเมตาบอลิก ซึ่งทำให้มารดามีโอกาสที่จะมีโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย2

เอกสารอ้างอิง

  1. American Diabetes A. 11. Microvascular Complications and Foot Care: Standards of Medical Care in Diabetes-2020. Diabetes Care 2020;43:S135-S51.
  2. American Diabetes A. 10. Cardiovascular Disease and Risk Management: Standards of Medical Care in Diabetes-2020. Diabetes Care 2020;43:S111-S34.