คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

สิ่งที่อาจรบกวนการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในระยะแรกหลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  การมีแนวทางปฏิบัติที่กำหนดต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสมตั้งแต่ในระยะคลอดและในระยะแรกหลังคลอดอาจรบกวนการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ ได้แก่ การให้งดน้ำงดอาหารนานเกินไป ทำให้มารดาอ่อนเพลีย หมดแรงที่จะให้การดูแลทารก การให้ยาแก้ปวดจนทำให้มารดาและทารกง่วงซึม การตัดฝีเย็บโดยไม่จำเป็น ซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บมากขึ้น มารดาลุกนั่งลำบาก การขาดการให้กำลังใจหรือสนับสนุนจากสามีหรือคนใกล้ชิด ซึ่งจะช่วยในการสนับสนุนให้มารดาให้นมลูกและช่วยดูแลมารดาและลูกในช่วงที่มารดาฟื้นตัวใหม่ๆ ในระยะหลังคลอด การแยกมารดาและทารกหลังคลอด การห่อทารกจนแน่นเกินไปหลังคลอด การให้น้ำเกลือ การติดเครื่องติดตามการเต้นของหัวใจทารก และการทำหัตถการอื่นที่ไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ ความวิตกกังวลเรื่องมารดาเหนื่อย1 มารดาไม่ต้องการอุ้มลูก ห้องคลอดยุ่ง ขาดบุคลากรที่จะเฝ้าดูแลมารดาและทารก สิ่งเหล่านี้ล้วนควรมีการปรับทัศนคติที่เหมาะสม และควรสร้างแนวทางการปฏิบัติที่เอื้อต่อการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ ซึ่งจะเป็นการสร้างการดูแลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่2

เอกสารอ้างอิง

  1. Habib FA. Monitoring the practice and progress of initiation of breastfeeding within half an hour to one hour after birth, in the labor room of king khalid university hospital. J Family Community Med 2003;10:41-6.
  2. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

 

การอาบน้ำให้ทารกในระยะแรกหลังคลอดอาจเป็นอุปสรรคในการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 การมีแนวทางปฏิบัติที่กำหนดให้มีการอาบน้ำให้ทารกตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดนั้นเป็นแนวทางที่ไม่เหมาะสม และอาจเป็นอุปสรรคในการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อได้ การมีการกำหนดการปฏิบัติเช่นนี้ อาจทำให้ทารกต้องแยกจากมารดาในระยะแรกหลังคลอด ทั้ง ๆ ที่ควรให้เวลาให้มารดาได้มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อโดยปราศจากการรบกวน เพื่อกระตุ้นพัฒนาการของระบบประสาทและช่วยในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในระยะแรกหลังคลอดนั้น ควรชะลอการอาบน้ำไว้ก่อน รอให้ไขของทารกที่อยู่บนผิวได้เคลือบ หล่อลื่น และช่วยรักษาอุณหภูมิของทารกจะเป็นประโยชน์มากกว่า ดังนั้น แนะนำให้มีการเช็ดตัวทารกให้แห้งสำหรับระยะแรกหลังคลอดก็เพียงพอ1

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

การกำหนดให้มารดานอนบนเตียงหลังคลอดอาจเป็นอุปสรรคในการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การบังคับให้มารดานอนอยู่บนเตียงระหว่างหลังคลอดพบว่าอาจเป็นอุปสรรคในการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อได้ เนื่องจากมารดาบางคนต้องการที่จะนั่งเอนหลังกอดทารกไว้กับอกหรือเปลี่ยนท่าทางเพื่อความสบายตัวจะถูกจำกัดโดยการให้นอนอยู่บนเตียงโดยเฉพาะหากเป็นเตียงชั่วคราวที่ใช้สำหรับการย้ายเตียง จะแคบ นอนหรือนั่งไม่สบาย และอาจสร้างความเครียดให้เกิดกับมารดา ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 สำหรับการลุกเดินของมารดาสามารถทำได้ แต่ควรระมัดระวังเรื่องอาการหน้ามืดที่พบบ่อยได้หลังคลอด ดังนั้นการลุกเดินควรมีญาติหรือบุคลากรทางการแพทย์ช่วยดูแลในช่วงแรก เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากการหน้ามืดชองมารดา

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อมีประโยชน์อย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

           ประโยชน์ของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ มีดังนี้

  • ทำให้ทารกและมารดารู้สึกสงบ และช่วยให้จังหวะการหายใจและการเต้นของหัวใจทารกสม่ำเสมอ
  • ช่วยให้ทารกได้รับความอบอุ่นจากความร้อนของร่างกายของมารดา ป้องกันการเกิดอาการตัวเย็น (hypothermia) ในทารกได้1
  • ช่วยในการปรับเมตาบอรึซึ่มของน้ำตาลในเลือดของทางทารกให้คงที่
  • ช่วยให้ก่อเกิดการมีกลุ่มของแบคทีเรียในลำไส้ทารกจากมารดาที่ให้การสัมผัสแรกกับทารก ไม่ใช่จากแพทย์หรือพยาบาล
  • ลดความเจ็บปวดของทารก การให้ทารกได้สัมผัสผิวกับมารดาช่วยลดความเจ็บปวดของทารกจากการเจาะเลือดที่ปลายเท้าได้2
  • ลดการร้องกวนของทารก ซึ่งจะลดความเครียดและการใช้พลังงานของทารกด้วย
  • ช่วยให้สายสัมพันธ์ของมารดาและทารกดีขึ้น3 ทำให้ทารกตื่นตัวในหนึ่งถึงสองชั่วโมงแรก จากนั้นโดยปกติทารกจะหลับนาน
  • ช่วยให้ทารกเริ่มการกินนมแม่ในระยะแรกดีขึ้น1,4 ให้โอกาสทารกได้เข้าหาเต้านมและดูดนมด้วยตนเอง ซึ่งทารกจะสามารถเข้าหาเต้านมได้จากสีของหัวนมและกลิ่นของน้ำนม โดยการเข้าเต้าลักษณะนี้จะมีประสิทธิภาพดีกว่าการแยกทารกออกไปในช่วงแรกหลังคลอด
  • ช่วยเพิ่มความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และช่วยเพิ่มระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่5 นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวด้วย6 อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่าช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนม7

             จะเห็นว่า การให้ทารกได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อมีประโยชน์ที่หลากหลาย รวมทั้งช่วยเพิ่มความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ขั้นตอนนี้จึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่บุคลากรทางการแพทย์ควรสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด

เอกสารอ้างอิง

  1. Srivastava S, Gupta A, Bhatnagar A, Dutta S. Effect of very early skin to skin contact on success at breastfeeding and preventing early hypothermia in neonates. Indian J Public Health 2014;58:22-6.
  2. Marin Gabriel MA, del Rey Hurtado de Mendoza B, Jimenez Figueroa L, et al. Analgesia with breastfeeding in addition to skin-to-skin contact during heel prick. Arch Dis Child Fetal Neonatal Ed 2013;98:F499-503.
  3. Widstrom AM, Wahlberg V, Matthiesen AS, et al. Short-term effects of early suckling and touch of the nipple on maternal behaviour. Early Hum Dev 1990;21:153-63.
  4. Mahmood I, Jamal M, Khan N. Effect of mother-infant early skin-to-skin contact on breastfeeding status: a randomized controlled trial. J Coll Physicians Surg Pak 2011;21:601-5.
  5. Karimi FZ, Sadeghi R, Maleki-Saghooni N, Khadivzadeh T. The effect of mother-infant skin to skin contact on success and duration of first breastfeeding: A systematic review and meta-analysis. Taiwan J Obstet Gynecol 2019;58:1-9.
  6. Karimi FZ, Miri HH, Khadivzadeh T, Maleki-Saghooni N. The Effect of Mother-Infant Skin to Skin Contact Immediately after Birth on Exclusive Breastfeeding: A Systematic Review and Meta-Analysis. J Turk Ger Gynecol Assoc 2019.
  7. Hemachandra A, Puapornpong P, Ketsuwan S, Imchit C. Effect of early skin-to-skin contact to breast milk volume and breastfeeding jaundice at 48 hours after delivery. J Med Assoc Thai 2016;99 (Suppl.8):s63-9.

 

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในครรภ์แฝดทำอย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               ในมารดาครรภ์แฝดที่คลอดปกติ หลังทารกคนแรกคลอด การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อสามารถทำได้ทันที หากทารกมีความพร้อม หรือการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้ออาจทำโดยสามีหรือสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้ที่ช่วยดูแลเป็นพี่เลี้ยงให้มารดาในระหว่างการคลอดไปก่อน จนกระทั่งมารดาเบ่งคลอดทารกคนที่สองแล้ว จึงจัดให้ ทารกทั้งสองคนได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อโดยมารดาได้พร้อมกัน สำหรับมารดาที่ผ่าตัดคลอด หากมารดาได้รับยาระงับความรู้สึกทางไขสันหลัง มารดามีสติ รู้สึกตัวดี สามารถให้การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อเช่นเดียวกับมารดาที่คลอดปกติ แต่หากมารดาได้รับการให้ยาระงับความรู้สึกโดยยาดมสลบ อาจต้องมีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อจากสามีหรือสมาชิกในครอบครัวไปก่อน จนกระทั่งมารดาเริ่มมีสติ และรู้สึกตัว โดยการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในครรภ์แฝดทั้งสองคนสามารถทำได้ตั้งแต่มารดาอยู่ในห้องพักพื้นของห้องผ่าตัดได้เลย1

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.