คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

มารดาที่มีดัชนีมวลกายปกติจะช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ทำได้ดี

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              ดัชนีมวลกายถือเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะมีผลต่อความเสี่ยงในการตั้งครรภ์และมีผลต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สตรีที่มีดัชนีมวลกายก่อนการตั้งครรภ์สูงมีผลลบต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1,2 และในมารดาที่ดัชนีมวลกายต่ำกว่าเกณฑ์คือผอมไป หรืออยู่ในเกณฑ์อ้วนคืออ้วนเกินไป ยังมีอัตราการเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำกว่าในมารดาที่มีดัชนีมวลกายปกติ3,4 ในมารดาที่มีภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากระหว่างการตั้งครรภ์ที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำกว่า5 เนื่องจากส่วนหนึ่งมารดาเหล่านี้จะมีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดคลอด ภาวะแทรกซ้อนระหว่างคลอดและการติดเชื้อหลังคลอดสูงกว่าด้วย6-8 ซึ่งการมีการผ่าตัดคลอดมารดาจะเริ่มให้นมลูกได้ช้ากว่า มีการเคลื่อนไหวหลังคลอดได้น้อยกว่าเนื่องจากในระหว่างการผ่าตัดคลอดมักได้รับยาระงับความรู้สึกเข้าไขสันหลัง แต่หากมีสามี ญาติหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ช่วยสนับสนุนอาจลดผลกระทบของการผ่าตัดคลอดต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Zhu P, Hao J, Jiang X, Huang K, Tao F. New insight into onset of lactation: mediating the negative effect of multiple perinatal biopsychosocial stress on breastfeeding duration. Breastfeed Med 2013;8:151-8.
  2. Pruszkowska-Przybylska P, Sitek A, Rosset I, et al. The association between socioeconomic status, duration of breastfeeding, parental age and birth parameters with BMI, body fat and muscle mass among prepubertal children in Poland. Anthropol Anz 2019.
  3. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Manolerdtewan W, Suksamarnwong M, Wongin S. Effect of Obesity and Early Breastfeeding Initiation on Exclusive Breastfeeding Rates. J Med Assoc Thai 2016;99 Suppl 8:S36-S42.
  4. Thompson LA, Zhang S, Black E, et al. The association of maternal pre-pregnancy body mass index with breastfeeding initiation. Matern Child Health J 2013;17:1842-51.
  5. Lima NP, Bassani DG, Silva B, et al. Association of breastfeeding, maternal anthropometry and body composition in women at 30 years of age. Cad Saude Publica 2019;35:e00122018.
  6. Al-Kubaisy W, Al-Rubaey M, Al-Naggar RA, Karim B, Mohd Noor NA. Maternal obesity and its relation with the cesarean section: a hospital based cross sectional study in Iraq. BMC Pregnancy Childbirth 2014;14:235.
  7. Graham LE, Brunner Huber LR, Thompson ME, Ersek JL. Does amount of weight gain during pregnancy modify the association between obesity and cesarean section delivery? Birth 2014;41:93-9.
  8. Leth RA, Uldbjerg N, Norgaard M, Moller JK, Thomsen RW. Obesity, diabetes, and the risk of infections diagnosed in hospital and post-discharge infections after cesarean section: a prospective cohort study. Acta Obstet Gynecol Scand 2011;90:501-9.

 

มารดาท้องแรกขาดประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              มารดาที่ตั้งครรภ์และคลอดลูกคนแรก ครรภ์แรกหรือการคลอดลูกคนแรกมีผลในทางลบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 และมีผลทำให้มารดาหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนเวลาอันควรมากกว่า2 เนื่องจากการที่มารดาตั้งครรภ์แรก มารดายังขาดประสบการณ์ในการคลอดและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มารดาจะมีความวิตกกังวล ความกลัว และความเครียดในการคลอดบุตร ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลไกออกซิโตซินและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับมารดาที่เป็นครรภ์หลัง มารดาจะทราบขั้นตอนการคลอดและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในมารดาที่มีประสบการณ์ที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครรภ์ก่อนนั้นเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งเช่นกัน ดังนั้น กลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเหล่านี้ บุคลากรทางการแพทย์ต้องเอาใจใส่ และดูแลอย่างใกล้ชิด สร้างความเชื่อมั่นให้กับมารดาว่าสามารถจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาเหล่านี้ประสบความสำเร็จได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Narayan S, Natarajan N, Bawa KS. Maternal and neonatal factors adversely affecting breastfeeding in the perinatal period. Medical Journal Armed Forces India 2005;61:216-9.
  2. Chang PC, Li SF, Yang HY, et al. Factors associated with cessation of exclusive breastfeeding at 1 and 2 months postpartum in Taiwan. Int Breastfeed J 2019;14:18.

 

อายุของมารดามีความสำคัญต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                อายุของมารดานั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยอายุที่มารดาตั้งครรภ์มีผลต่อลักษณะการกินนมของทารก1,2 มารดาอายุน้อยจะมีโอกาสที่จะหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่ามารดาที่อายุมากขึ้น3-6 โดยพบว่าลักษณะของความสัมพันธ์ของอายุของมารดาที่น้อยจะมีความสัมพันธ์แบบแปรผกผันกับระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่7 ซึ่งคำอธิบายอาจเป็นเพราะมารดาที่อายุมากขึ้นน่ามีความรับผิดชอบในการดูแลทารกมากกว่า มีอาชีพ และเศรษฐานะมั่งคงกว่า ข้อมูลของอายุน้อยบางการศึกษาใช้อายุที่น้อยกว่า 20-21 ปี5,8 บางการศึกษาใช้อายุที่น้อยกว่า 26 ปี6 และบางการศึกษาใช้อายุที่น้อยกว่า 30 ปี4  เกณฑ์อายุที่แตกต่างกันน่าจะเป็นผลมาจากลักษณะวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของแต่ละสังคมในแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม การศึกษาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนในมารดาวัยรุ่นที่คลอดบุตรปกติไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่มีความตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อยหกเดือนพบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนในมารดาวัยรุ่นไม่แตกต่างมารดาที่อายุมากกว่า 20 ปี9 ซึ่งแสดงถึงหากมารดาวัยรุ่นไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผลของความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่าอายุมารดา

เอกสารอ้างอิง

  1. Zhu Y, Hernandez LM, Mueller P, Dong Y, Hirschfeld S, Forman MR. Predictive Models for Characterizing Disparities in Exclusive Breastfeeding Performance in a Multi-ethnic Population in the US. Matern Child Health J 2016;20:398-407.
  2. Asare BY, Preko JV, Baafi D, Dwumfour-Asare B. Breastfeeding practices and determinants of exclusive breastfeeding in a cross-sectional study at a child welfare clinic in Tema Manhean, Ghana. Int Breastfeed J 2018;13:12.
  3. Islam GMR, Igarashi I, Kawabuchi K. Inequality and Mother’s Age as Determinants of Breastfeeding Continuation in Bangladesh. Tohoku J Exp Med 2018;246:15-25.
  4. Zobbi VF, Calistri D, Consonni D, Nordio F, Costantini W, Mauri PA. Breastfeeding: validation of a reduced Breastfeeding Assessment Score in a group of Italian women. J Clin Nurs 2011;20:2509-18.
  5. Hill PD, Johnson TS. Assessment of Breastfeeding and Infant Growth. Journal of Midwifery & Women’s Health 2007;52:571-8.
  6. Narayan S, Natarajan N, Bawa KS. Maternal and neonatal factors adversely affecting breastfeeding in the perinatal period. Medical Journal Armed Forces India 2005;61:216-9.
  7. Tang K, Liu Y, Meng K, et al. Breastfeeding duration of different age groups and its associated factors among Chinese women: a cross-sectional study. Int Breastfeed J 2019;14:19.
  8. Chaves RG, Lamounier JA, Cesar CC. Factors associated with duration of breastfeeding. J Pediatr (Rio J) 2007;83:241-6.
  9. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Manolerdtewan W, Ketsuwan S, Wongin S. Teenage pregnancy and exclusive breastfeeding rates. J Med Assoc Thai 2014;97:893-8.

 

ผลเสียของการผ่าตัดคลอดต่อทารกในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            การผ่าตัดคลอดมีผลเสียทั้งมารดาและทารกในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยลกระทบจากการผ่าตัดคลอดที่มีต่อทารก ได้แก่ ทารกจะมีความเสี่ยงสูงในการที่จะไม่ได้กินนมแม่หรือได้กินนมแม่ในช่วงสั้น ๆ โดยทารกที่ผ่าตัดคลอดจะมีปัญหาเรื่องการหายใจมากกว่า ทารกอาจจะต้องการการดูดเสมหะ ซึ่งทำให้ทารกเจ็บปากและลำคอซึ่งมีผลต่อการดูดนมแม่ ทารกได้รับยาทำให้ง่วงจากยาระงับความรู้สึกและยาแก้ปวดที่มารดาได้รับ ทารกจะได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อน้อยกว่า และทารกมีโอกาสสูงกว่าที่จะย้ายไปหออภิบาลทารกแรกเกิด ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อระหว่างทารกด้วยกันเอง และต้องจำกัดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

มารดาที่ผ่าตัดคลอดควรใช้ท่าใดในการท่าให้นมลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              การช่วยเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่ผ่าตัดคลอด จะเริ่มเมื่อมารดาและทารกส่งสัญญาณว่ามีความพร้อม โดยการเริ่มต้นมารดาไม่จำเป็นลุกนั่ง โอบกอดหรือต้องขยับเปลี่ยนท่าในการให้นมลูกได้ แต่จะเป็นทารกที่จะค้นหาเต้านมและเริ่มดูดนมเอง การปฏิบัตินี้สามารถทำได้นานตราบเท่าที่มีบุคลากรทางการแพทย์เฝ้าดูอยู่ แม้มารดาจะยังง่วงซึมจะฤทธิ์ของยาดมสลบก็ตาม บุคลากรควรช่วยให้มารดาอยู่ในท่าที่สบายในการให้นมลูก การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำอาจจะต้องปรับเปลี่ยนตำแหน่งเพื่อให้สามารถจัดท่าทารกเข้าเต้าได้ ท่าที่ใช้สำหรับการให้นมอาจใช้ท่านอนตะแคงข้าง (side-lying) บนเตียง ท่านี้จะช่วยหลีกเลี่ยงอาการปวดในช่วงหลังคลอดใหม่ๆ และมารดายังสามารถทำได้แม้มารดาต้องนอนราบหลังจากให้ยาระงับความรู้สึกเข้าไขสันหลัง การจัดท่านี้มารดาควรจะต้องใช้หมอนช่วยพิงด้านหลังและรองใต้หัวเข่าขณะที่อยู่ในท่านอนตะแคงข้าง หรือมารดาอาจใช้ท่านั่งเอนหลัง (laid back) โดยทารกอยู่บนตัวมารดา สำหรับท่านอนหงายสามารถทำได้ แต่ไม่ควรให้ทารกกดทับบริเวณแผลผ่าตัด1

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.