รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ด้วยธรรมเนียมปฏิบัติและความเชื่อดั้งเดิมที่ลึก ๆ อยู่ในวัฒนธรรมหรือสังคมไทย เชื่อว่ายังมีความคิดเห็นว่า การให้นมแม่ควรให้ในที่ที่เป็นส่วนตัว และการให้นมแม่ในที่สาธารณะเป็นเรื่องที่น่าอายหรือน่าตำหนิ ขณะที่ในสังคมประเทศตะวันตกยอมรับการให้นมแม่ในที่สาธารณะ โดยถือว่าการให้นมแม่เป็นเรื่องธรรมชาติ ซึ่งไม่ควรมีการจำกัดการให้นมแม่ ไม่ว่าแม่จะอยู่ในที่สาธารณะหรือไม่ ซึ่งการที่สังคมยอมรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่สาธารณะจะเป็นเหมือนการเปิดโอกาสที่จะให้อิสระแก่มารดาที่จะสามารถที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยทำ เช่น การไปซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า การไปกินอาหารนอกบ้าน การขึ้นรถประจำทางหรือรถไฟฟ้า โดยไม่ต้องเกิดความวิตกกังวล หรือความเครียดจากการจ้องมองอย่างตำหนิขณะที่มารดาให้นมลูก ซึ่งความรู้สึกกังวลใจและไม่ปลอดภัยในการให้นมลูกในที่สาธารณะนี้ จะมีผลลบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1
แม้ว่าความเชื่อเกี่ยวกับการให้นมลูกว่าควรเป็นเรื่องส่วนตัว แต่หากลองดูความคิดเห็นของประชาชนในประเทศจีนที่เป็นประเทศในแถบเอเชียเหมือนกันจากการสำรวจออนไลน์จำนวน 2021 รายพบว่า ความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าร้อยละ 80 เห็นว่าการให้นมแม่ในที่สาธารณะเป็นเรื่องที่เหมาะสมและไม่ถือว่าเป็นการผิดขนบธรรมเนียมใด ๆ 2 สำหรับการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยมีการรณรงค์ในทั้งสองทางคือ ส่วนหนึ่งเริ่มมีการให้ข่าวสารในสังคมเพื่อให้เกิดการยอมรับการให้นมแม่ในที่สาธารณะ กับอีกหนึ่งสร้างหรือสนับสนุนให้มารดามีสถานที่ให้นมแม่ในที่สาธารณะ เช่น มีมุมนมแม่ในสวนสาธารณะและห้างสรรพสินค้า กับเสนอวิธีที่จะลดความรู้สึกวิตกกังวลในการให้นมแม่ในที่สาธารณะ ได้แก่ มีการใช้เสื้อหรือมีผ้าคลุมสำหรับการให้นมแม่ อย่างไรก็ตาม การสำรวจความคิดเห็นของคนไทยเกี่ยวกับการให้นมแม่ในที่สาธารณะก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า “สังคมไทยยอมรับการให้นมแม่ในที่สาธารณะแล้วหรือยัง”
เอกสารอ้างอิง
Scott JA, Mostyn T. Women’s experiences of breastfeeding in a bottle-feeding culture. J Hum Lact 2003;19:270-7.
Zhao Y, Ouyang YQ, Redding SR. Attitudes of Chinese Adults to Breastfeeding in Public: A Web-Based Survey. Breastfeed Med 2017;12:316-21.
VIDEO
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมารดาสามารถบีบน้ำนมด้วยมือได้ จะช่วยในการประเมินน้ำนมของมารดาและสามารถบีบเก็บน้ำนมด้วยมือ หากมีความจำเป็นต้องเก็บน้ำนมในกรณีที่ต้องมีการแยกจากทารกหรือมารดาต้องกลับไปทำงาน การบีบน้ำนมด้วยมือ ให้มารดาทำมือเป็นรูปตัว c กดนิ้วมือไปที่หน้าอกก่อนจากนั้นจึงบีบนิ้วมือเข้าหากัน วิธีนี้จะช่วยบีบไล่น้ำนมจากท่อน้ำนมให้ออกมาที่หัวนม โดยหากมารดามีน้ำนมมาก จะเห็นการพุ่งออกของน้ำนมแม่ขณะบีบน้ำนมได้ ในขณะเดียวกันที่มารดาบีบน้ำนมจากเต้านมข้่างหนึ่ง เต้านมอีกด้านหนึ่งก็อาจมีน้ำนมไหลได้เช่นกัน ซึ่งเรียกกลไกนี้ว่า กลไกน้ำนมพุ่ง หรือ กลไกออกซิโตซิน
VIDEO
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การให้นมลูกในท่าฟุตบอล ลักษณะของทารกจะอยู่ข้างลำตัวโดยแนบชิดติดกับคัวของมารดา ทำให้การอมหัวนมและลานนมทำได้ลึก เหมาะสำหรับมารดาที่มีเต้านมใหญ่ หรือทารกตัวเล็ก หรือในมารดาที่ผ่าตัดคลอด เพราะตัวทารกจะไม่ไปกดแผลผ่าตัด ทำให้มารดาไม่เจ็บแผลผ่าตัดในขณะให้นมลูก
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยสร้างความรักความผูกพันระหว่างแม่กับลูก ซึ่งหากจะอธิบายถึงกลไกในการสร้างความรักความผูกพันจะผ่านการหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน ซึ่งถือว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความรักที่สร้างจากสมองส่วนไฮโปธาลามัสที่รับและแสดงการเปลี่ยนแปลงตามความรู้สึก ขณะที่ในทางกลับกัน ความผูกพันและสัญชาตญาณความเป็นแม่ก็มีผลดีต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงหนึ่งปีหลังคลอด1 เนื่องจากความรักความผูกพันระหว่างแม่ลูก ก็จะช่วยให้มารดาสามารถผ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จนมีระยะเวลาการเลี้ยงลูกที่ยาวนานขึ้น ดังนั้น ทั้งสองสิ่งนี้ เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน หากประคับประคองให้ไปด้วยกัน ก็จะเป็นผลดีต่อการดูแล เอาใจใส่ ลดการทอดทิ้งลูกและเป็นผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Britton JR, Britton HL, Gronwaldt V. Breastfeeding, sensitivity, and attachment. Pediatrics 2006;118:e1436-43.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ความมั่นใจของมารดาที่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยตนเอง มีผลต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่ามารดาที่รู้สึกว่าสามารถให้นมลูกได้ด้วยตนเองหรือมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานกว่า1-3 สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อความมั่นใจของมารดาที่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยตนเอง ได้แก่ อายุ การศึกษา อาชีพของมารดา หน้าที่การงานของสามี เศรษฐานะ ประสบการณ์และระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครรภ์ก่อน ความเข้าใจผิดว่าน้ำนมแม่ไม่เพียงพอ การมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด การอบรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ การยึดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล และการได้รับการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากบุคลากรทางการแพทย์4-6 โดยต้องถือเป็นบทบาทหนึ่งของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องสร้างให้มารดามีความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อเป็นการส่งเสริมและเพิ่มโอกาสความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Blyth RJ, Creedy DK, Dennis CL, et al. Breastfeeding duration in an Australian population: the influence of modifiable antenatal factors. J Hum Lact 2004;20:30-8.
Forster DA, McLachlan HL, Lumley J. Factors associated with breastfeeding at six months postpartum in a group of Australian women. Int Breastfeed J 2006;1:18.
Blyth R, Creedy DK, Dennis CL, Moyle W, Pratt J, De Vries SM. Effect of maternal confidence on breastfeeding duration: an application of breastfeeding self-efficacy theory. Birth 2002;29:278-84.
Nankumbi J, Mukama AA, Ngabirano TD. Predictors of breastfeeding self-efficacy among women attending an urban postnatal clinic, Uganda. Nurs Open 2019;6:765-71.
Kamalifard M, Mirghafourvand M, Ranjbar F, Sharajabad FA, Gordani N. Relationship of Breastfeeding Self-Efficacy with Self-Esteem and General Health in Breastfeeding Mothers Referred to Health Centers of Falavarjan City-Iran, 2015. Community Ment Health J 2019;55:1057-63.
Ngo LTH, Chou HF, Gau ML, Liu CY. Breastfeeding self-efficacy and related factors in postpartum Vietnamese women. Midwifery 2019;70:84-91.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)