คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

เชื้อชาติของมารดากับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              เชื้อชาติของมารดาเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยมีการศึกษาพบว่าการให้ลูกกินนมแม่ในแต่ละเชื้อชาติมีความแตกต่างกันในการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การปฏิบัติของมารดา และระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1-4 เนื่องจากแต่ละเชื้อชาติมักมีวัฒนธรรมและความเชื่อต่าง ๆ ที่มีการถ่ายทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น หากสิ่งที่ส่งต่อกันนั้นเป็นผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่หากเหล่านี้เป็นอุปสรรคขัดขวางการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำหน้าที่ดูแลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็มีความจำเป็นต้องวางแผนให้คำปรึกษาแก่ทั้งตัวมารดาเอง สามี และคนในครอบครัวที่มีบทบาทสำคัญต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างทั่วถึง เพราะการปรับเปลี่ยนทัศนคติเฉพาะตัวมารดา อาจไม่ประสบความสำเร็จหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนในครอบครัวที่มีเชื้อชาติที่เหมือนกัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Ahluwalia IB, Morrow B, D’Angelo D, Li R. Maternity care practices and breastfeeding experiences of women in different racial and ethnic groups: Pregnancy Risk Assessment and Monitoring System (PRAMS). Matern Child Health J 2012;16:1672-8.
  2. Ahluwalia IB, D’Angelo D, Morrow B, McDonald JA. Association between acculturation and breastfeeding among Hispanic women: data from the Pregnancy Risk Assessment and Monitoring System. J Hum Lact 2012;28:167-73.
  3. Zhu Y, Hernandez LM, Mueller P, Dong Y, Hirschfeld S, Forman MR. Predictive Models for Characterizing Disparities in Exclusive Breastfeeding Performance in a Multi-ethnic Population in the US. Matern Child Health J 2016;20:398-407.
  4. Asare BY, Preko JV, Baafi D, Dwumfour-Asare B. Breastfeeding practices and determinants of exclusive breastfeeding in a cross-sectional study at a child welfare clinic in Tema Manhean, Ghana. Int Breastfeed J 2018;13:12.

อาชีพของมารดามีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 ลักษณะการทำงานของแต่ละอาชีพนั้นส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพบบางอาชีพอาจเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ ทหาร1  ขณะที่อาชีพที่เป็นบุคลากรของโรงพยาบาลจะมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวสูง2 เนื่องจากมีบรรยากาศที่ส่งเสริมด้านสุขภาพมากกว่า และมารดาที่มีอาชีพเป็นลูกจ้างมีความเสี่ยงในการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงกว่ามารดาที่เป็นแม่บ้านหรือมีธุรกิจส่วนตัว3 ซึ่งจะเห็นว่าอาชีพที่มีการเข้าเวรหรือมีการจำกัดด้านเวลาจะมีความเสี่ยงที่จะมีการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่าอาชีพที่มีอิสระทางด้านเวลา

เอกสารอ้างอิง

  1. Bales K, Washburn J, Bales J. Breastfeeding rates and factors related to cessation in a military population. Breastfeed Med 2012;7:436-41.
  2. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Hamontri S, Ketsuwan S, Wongin S. Comparison exclusive breastfeeding rate at six months postpartum between hostpital personnel and general women. J Med Health sci 2015;22:8-14.
  3. Skafida V. Juggling work and motherhood: the impact of employment and maternity leave on breastfeeding duration: a survival analysis on Growing Up in Scotland data. Matern Child Health J 2012;16:519-27.

พื้นฐานการศึกษามีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              พื้นฐานของการศึกษามีผลต่อการดูแลสุขภาพในหลาย ๆ เรื่องรวมทั้งในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยมารดาที่มีการศึกษาสูง มีแนวโน้มที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานกว่า ส่วนมารดาที่มีการศึกษาน้อยจะมีความสัมพันธ์กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สั้นกว่า1-4 ในด้านของระดับการศึกษา มารดาที่มีการศึกษามากกว่าระดับมัธยมปลายมีความสัมพันธ์กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและระยะเวลาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนสูงกว่ามารดาที่มีการศึกษาน้อยกว่าระดับมัธยมปลายสามเท่า3 ดังนั้นการพัฒนาด้านการศึกษาของคนในสังคมให้มีระดับการศึกษาอย่างน้อยในระดับมัธยมปลายเป็นภาคบังคับ จะเป็นพื้นฐานให้สามารถเรียนรู้ ต่อยอดเรื่องการดูแลคุณภาพชีวิตและส่งเสริมสุขภาพได้ดีกว่า

เอกสารอ้างอิง

  1. Hall WA, Hauck Y. Getting it right: Australian primiparas’ views about breastfeeding: A quasi-experimental study. Int J Nurs Stud 2007;44:786-95.
  2. Ladomenou F, Kafatos A, Galanakis E. Risk factors related to intention to breastfeed, early weaning and suboptimal duration of breastfeeding. Acta Paediatr 2007;96:1441-4.
  3. Zhu Y, Hernandez LM, Mueller P, Dong Y, Hirschfeld S, Forman MR. Predictive Models for Characterizing Disparities in Exclusive Breastfeeding Performance in a Multi-ethnic Population in the US. Matern Child Health J 2016;20:398-407.
  4. Chang PC, Li SF, Yang HY, et al. Factors associated with cessation of exclusive breastfeeding at 1 and 2 months postpartum in Taiwan. Int Breastfeed J 2019;14:18.

การมีสถานภาพสมรสสำคัญต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การมีสถานภาพสมรสหรือการมีการแต่งงานและได้อย่างกับคู่ครองมีความสำคัญต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพบว่า ในมารดาที่แต่งงานเป็นปัจจัยบวกต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1,2 เนื่องจากมีการยอมรับในสภาพทางสังคม มีความมั่นคงในการเป็นครอบครัวมากกว่ามารดาที่ไม่มีการแต่งงานหรือการจดทะเบียนสมรส และมารดาที่แต่งงานหรืออยู่ร่วมกันกับคู่ครองมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนมากกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับมารดาที่ไม่ได้มีการแต่งงานหรือไม่ได้อยู่กับคู่ครอง2 เนื่องจากที่แต่งงานหรือมีคู่ครองอยู่ จะมีผู้ที่ช่วยเหลือหรือสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะหลังคลอดมากกว่า ลดภาวะเครียดให้แก่มารดาในกรณีที่ต้องแยกจากทารกหรือต้องกลับไปทำงาน เมื่อมารดาไม่มีความวิตกกังวลหรือไม่เครียดก็เป็นผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Dennis CL. Breastfeeding initiation and duration: a 1990-2000 literature review. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2002;31:12-32.
  2. Zhu Y, Hernandez LM, Mueller P, Dong Y, Hirschfeld S, Forman MR. Predictive Models for Characterizing Disparities in Exclusive Breastfeeding Performance in a Multi-ethnic Population in the US. Matern Child Health J 2016;20:398-407.

รายได้ของมารดามีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ปัจจัยเรื่องรายได้นั้นมีความสัมพันธ์กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยมารดาที่มีรายได้ต่ำจะสัมพันธ์ความล้มเหลวในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่า1-3 เนื่องจากต้องพยายามในการหารายได้ ทำให้ต้องกลับไปทำงานเร็ว ซึ่งเมื่อกลับไปทำงานเร็ว การที่ต้องแยกจากทารก จึงทำให้มีผลลบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  ขณะที่ในมารดาที่มีฐานะยากจน หากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ จะมีอัตราการคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถึงสองปีมากกว่า4 เนื่องจากการให้ลูกกินนมแม่น่าจะช่วยประหยัดและช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้มากกว่าการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก ซึ่งจะมีราคาสูง  จึงทำให้พบมีการคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากกว่า

เอกสารอ้างอิง

  1. Dennis CL. Breastfeeding initiation and duration: a 1990-2000 literature review. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2002;31:12-32.
  2. Dettwyler KA. When to wean: biological versus cultural perspectives. Clin Obstet Gynecol 2004;47:712-23.
  3. Zhu Y, Hernandez LM, Mueller P, Dong Y, Hirschfeld S, Forman MR. Predictive Models for Characterizing Disparities in Exclusive Breastfeeding Performance in a Multi-ethnic Population in the US. Matern Child Health J 2016;20:398-407.
  4. Islam GMR, Igarashi I, Kawabuchi K. Inequality and Mother’s Age as Determinants of Breastfeeding Continuation in Bangladesh. Tohoku J Exp Med 2018;246:15-25.