คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

การจัดทำวิดีโอการจัดท่าให้นมลูกและการบีบน้ำนมให้แก่บุคลากรช่วยสร้างมั่นใจในการสอนแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มักขาดความมั่นใจในการสอนหรือให้คำปรึกษามารดาและครอบครัวในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การจัดการอบรมเพื่อให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างสม่ำเสมอ ฝึกทักษะ และเพิ่มสมรรถนะให้บุคลากรมีความรู้ที่ทันสมัย จะช่วยสร้างความมั่นใจให้บุคลากรในการสอนและให้มารดาและครอบครัวในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ ยังพบว่า การจัดทำวิดีโอการจัดท่าให้นมลูกและการบีบน้ำนมเพื่อให้บุคลากรได้รับความรู้และทบทวนทักษะการปฏิบัติยังช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้และสร้างความมั่นใจให้แก่บุคลากรที่จะทำหน้าที่ในการสอนมารดา ซึ่งจะเห็นว่า การจัดทำสื่อการสอนวิดีโอให้แก่บุคลากรทางการแพทย์เป็นวิธีที่ง่าย และอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีอันหนึ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นใจแก่บุคลากร โดยหากมารดามีการจัดท่าให้นมลูกและบีบน้ำนมได้ดีและเหมาะสมจะเป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มสูงขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Wallace LM, Ma Y, Qiu LQ, Dunn OM. Educational videos for practitioners attending Baby Friendly Hospital Initiative workshops supporting breastfeeding positioning, attachment and hand expression skills: Effects on knowledge and confidence. Nurse Educ Pract 2018;31:7-13.

ความตั้งใจในการให้ลูกกินนมแม่ของพ่อและแม่ที่ไม่สอดคล้องกันมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             เป็นที่ทราบกันว่า ความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาและของบิดาจะมีผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ก็ยังเกิดคำถามต่อมาว่า หากความตั้งใจของมารดาและบิดาที่ไม่สอดคล้องกันในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะส่งผลต่อการให้นมลูกอย่างไร เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการศึกษาถึงเรื่องนี้ พบว่า หากมารดามีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันในเรื่องที่จะไม่ให้ลูกกินนมแม่ ทารกหลังคลอดจะมีโอกาสที่จะไม่ได้กินนมแม่หรือมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่หกเดือนต่ำกว่าในกรณีที่ทั้งมารดาและบิดาเห็นด้วยว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และพบผลในทำนองเดียวกัน หากมารดาและบิดามีความคิดเห็นไม่สอดคล้องกันในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือพบว่า ทารกหลังคลอดจะมีโอกาสที่จะไม่ได้กินนมแม่หรือมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่หกเดือนต่ำกว่าในกรณีที่ทั้งมารดาและบิดาเห็นด้วยว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้น ในการให้ความรู้ที่เพียงพอที่จะสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความจำเป็นต้องให้ทั้งมารดาและบิดาเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกันในการตัดสินใจในการให้นมลูกหลังคลอดและเป็นผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Wallenborn JT, Chambers G, Lowery EP, Masho SW. Discordance in Couples Pregnancy Intentions and Breastfeeding Duration: Results from the National Survey of Family Growth 2011-2013. J Pregnancy 2018;2018:8568341.

 

การเข้าถึงความรู้และสื่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของคนไทยยังจำกัด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              ปัจจุบัน สื่อและความรู้ต่าง ๆ ทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้โดยผ่านการสื่อสารออนไลน์หรืออินเตอร์เน็ตรวมทั้งความรู้และสื่อเรื่องนมแม่ แม้ว่าคนไทยจะมีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากกว่าในยุคแรก โดยที่ในยุคนี้จะเป็นยุค 4G ที่กำลังจะย่างเข้ายุค 5G แต่การเข้าถึงที่มากนั้นยังมีความจำกัดในเฉพาะชุมชนเมือง และยังขาดการเข้าถึงในกลุ่มประชากรที่อยู่ในชนบท ทั้ง ๆ ที่มีความพยายามจะจัดสรรให้กลุ่มคนในชนบทสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยการมีจัดโครงการเน็ตประชารัฐเพื่อจะช่วยเอื้อให้เกิดการสร้างโอกาสการเข้าถึงความรู้และสื่อที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่ยังคงไม่เอื้อหรือเป็นอุปสรรคต่อการเข้าไปศึกษาสื่อความรู้ทางอินเตอร์เน็ต ได้แก่ อุปสรรคทางด้านภาษา อุปสรรคในด้านการให้คำปรึกษาหรือให้การแนะนำการเข้าถึงสื่อที่เป็นประโยชน์ และอุปสรรคด้านการทำความเข้าใจในสื่อต่าง ๆ ที่มีในอินเตอร์เน็ต มีการศึกษาการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ผ่านแอปพบว่า การจัดทำสื่อความรู้สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น่าจะช่วยให้การเข้าถึงและทำความเข้าใจในสื่อความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นดีขึ้น โดยเฉพาะการเลือกทำแอปที่กำหนดผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง (user-centers) จะช่วยให้การเข้าถึงสื่อทำได้ง่ายและจะช่วยลดอุปสรรคของการเข้าถึงในกลุ่มประชากรในชนบท1 ถึงแม้ว่าสื่อทางอินเตอร์เน็ตในยุคปัจจุบันจะมีความสำคัญมากขึ้น แต่บุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ควรลืมหรือละทิ้งการสนับสนุนผ่านสื่อต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย เนื่องจากกลุ่มประชากรยังมีพื้นฐานความรู้เบื้องต้นและจริตที่แตกต่างกัน การให้ความรู้ที่เหมาะกับจริตของผู้รับจะได้รับความสนใจและเอื้อให้เกิดผลมากที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Wheaton N, Lenehan J, Amir LH. Evaluation of a Breastfeeding App in Rural Australia: Prospective Cohort Study. J Hum Lact 2018;34:711-20.

 

ประโยชน์ของการให้ลูกได้กินนมแม่ที่มารดาและบุคลากรทางการแพทย์ควรรู้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                นมแม่ถือเป็นมาตรฐานอาหารสำหรับทารกแรกเกิดที่ควรใช้เป็นพื้นฐานในการกำหนดมาตรฐานในการเจริญเติบโตและพํฒนาการของทารก ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ควรยึดหลักเกณฑ์นี้และทำความเข้าใจกับเกณฑ์กำหนดมาตรฐานที่ใช้ให้ดีก่อน โดยเมื่อเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของทารกที่กินนมแม่ก็ควรใช้กราฟมาตรฐานที่สร้างจากข้อมูลของทารกที่กินนมแม่ เนื่องจากหากวัดการเจริญเติบโตของทารกที่กินนมแม่ไปเทียบกับกราฟการเจริญเติบโตของทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก อาจพบว่ามีการเจริญเติบโตที่ไม่ได้ตามเกณฑ์ทั้งที่ความจริงทารกอาจเจริญเติบโตเป็นปกติเมื่อเทียบกับกราฟการเจริญเติบโตของทารกที่กินนมแม่ หากมารดาเข้าใจว่า “นมแม่เป็นอาหารมาตรฐานสำหรับทารก” แล้ว ก็จะตระหนักถึงความสำคัญ และมีทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งมารดาก็จะสนใจถึงประโยชน์ต่าง ๆ ของการให้นมแม่แก่ทารกเป็นผลพลอยได้ตามมา โดยสรุปของประโยชน์ของนมแม่ต่อมารดา ได้แก่ การลดการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ความดันโลหิตสูง เบาหวานชนิดที่ 2 และโรคทางหลอดเลือดและหัวใจ ส่วนประโยชน์ของนมแม่ต่อทารก ได้แก่ การช่วยให้ทารกมีภูมิคุ้มกันที่ดี ลดการเสียชีวิตของทารกในระยะแรก ลดการเกิดโรคกระเพาะลำไส้อักเสบ โรคผิวหนังอักเสบจากการแพ้ และช่วยในพัฒนาการและความฉลาด (IQ) ของทารก1 ซึ่งการที่มารดามีความเข้าใจถึงประโยชน์ของนมแม่ ก็จะเกิดผลดีต่อการปฏิบัติคือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Westerfield KL, Koenig K, Oh R. Breastfeeding: Common Questions and Answers. Am Fam Physician 2018;98:368-73.

 

 

 

ความรู้สึกผูกพันและปกป้องทารกสัมพันธ์กับระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การฝังใจแรกรัก (imprinting) ที่เกิดกับทารกมักพบจากการมองเห็น การสัมผัสโอบกอด การให้ทารกอ้อมอกดูดนมในระยะแรกคลอด สำหรับความรู้สึกผูกพันและปกป้องทารก (attachment security) ของมารดานั้นสัมพันธ์กับระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยมีการศึกษาพบว่า ระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถทำนายความรู้สึกผูกพันและปกป้องทารกของมารดาได้ในระยะสองปีหรืออาจจะมากกว่านั้น1 ซึ่งคำอธิบายในเรื่องความรู้สึกผูกพันและปกป้องทารกน่าจะมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาของการได้รับการหลั่งของฮอร์โมนแห่งความรัก คือ ออกซิโทซินที่จะหลั่งขณะทารกกินนมแม่ด้วย อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของกลไกเหล่ายังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Weaver JM, Schofield TJ, Papp LM. Breastfeeding duration predicts greater maternal sensitivity over the next decade. Dev Psychol 2018;54:220-7.