รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในกระบวนการของการให้นมลูกหลังคลอดนั้น หากพิจารณาตามกลไกของสรีรวิทยาจะมีการกระตุ้นให้มารดาหลั่งน้ำนมออกมาโดยกระบวนการการดูดนมของทารก ซึ่งกลไกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในมารดานั้นจะมีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนออกซิโทซินที่สร้างจากสมองส่วนไฮโปธารามัสที่จะรับรู้หรือมีการเปลี่ยนแปลงการทำงานได้จากอารมณ์และความรู้สึกของมารดา ดังนั้น การที่กระบวนการการให้นมลูกจะเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม มารดาจำเป็นจะต้องมีอารมณ์และความรู้สึกที่เหมาะสมด้วย ซึ่งหากพิจารณาในแง่ของทฤษฎีทวินิยม (Cartesian dualism)1 ที่มองว่ากายกับจิตนั้นแยกกันอย่างเด็ดขาด เป็นอิสระต่อกัน แต่จะมีปฏิสัมพันธ์กันได้ (คือสาเหตุของกายจะมีอิทธิพลต่อสาเหตุของจิต และสาเหตุของจิตจะมีอิทธิพลต่อกาย) การที่มารดาจะสามารถให้นมลูกได้นั้นจึงควรมีความสมบูรณ์ของทั้งกายและจิต ส่วนผลของจิตของมารดาจะมีความสัมพันธ์กับจิตของทารกหรือไม่นั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป อย่างไรก็ตาม หากมองถึงกระบวนการพื้นฐานในการให้นมลูก มารดาต้องโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ จ้องมอง แสดงความรู้สึกและสื่อสารกับทารกขณะที่ให้ลูกกินนมแม่สามารถช่วยทารกแรกเกิดที่ป่วยที่หอทารกป่วยวิกฤตให้ฟื้นตัวและกลับบ้านได้เร็วขึ้น สิ่งนี้อาจเป็นสิ่งสะท้อนถึงปฏิกิริยาที่กายและจิตของมารดามีผลกระทบหรือความสัมพันธ์ต่อกายและจิตของทารกด้วย
เอกสารอ้างอิง
van Wijlen JE. Breastfeeding woman or lactating object? A critical philosophical discussion on the influence of Cartesian dualism on breastfeeding in the neonatal intensive care unit. J Clin Nurs 2018.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในช่วงหลังคลอด มารดาที่ต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายและอารมณ์ที่ส่งผลต่อความเครียดและความสะดวกสบายของมารดาในช่วงที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอด ซึ่งโดยทั่วไปการให้ลูกได้กินนมแม่จะกระตุ้นให้เกิดความรัก ความผูกพันของแม่และลูก สร้างประสบการณ์ การฝังใจ (imprinting) สร้างความรู้สึกปกป้องและต้องการดูแลหรือคุ้มภัยให้แก่ลูก ซึ่งในกระบวนการนี้มารดาจะพบทั้งความรู้สึกที่เป็นสุขที่ได้ทุ่มเทความรักให้แก่บุตรและอาจพบอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการขาดความรู้หรือทักษะในการให้นมลูกซึ่งก่อให้เกิดความไม่สะดวกสบายแก่มารดาได้ อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว ส่วนใหญ่มารดาที่ผ่านประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักมีความรู้สึกในแง่ที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาหนึ่งที่เลือกหัวข้อศึกษาที่น่าสนใจคือ การศึกษาการเลือกที่จะแสวงหาความง่ายหรือเอาความสะดวกสบายของมารดาในระหว่างที่ช่วงที่ให้นมลูก พบว่า หากมารดาเลือกที่จะแสวงหา มุ่งเน้นแต่ความง่ายหรือเอาแต่ความสบายโดยไม่คำนึงหรือคิดถึงประโยชน์หรือประสบการณ์ที่ดีที่จะได้จากการให้นมลูก อาจส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1 ดังนั้น “แม้ว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะไม่ใช่เรื่องที่สบายทั้งหมด แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าประทับใจของทั้งมารดาและครอบครัวที่ได้มีส่วนร่วมในความสำเร็จที่จะสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่ลูกในอนาคต”
เอกสารอ้างอิง
Benedett A, Ferraz L, Silva IA. Breastfeeding: a search for comfort. Rev Pesqui-Cuid Fund 2018;10:458-64.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีหลากหลายทั้งทางด้านปัจจัยทางชีวภาพ ปัจจัยทางด้านสังคม เศรษฐกิจ ค่านิยมและความเชื่อ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญและมีบทบาทที่ส่งผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้านนมแม่ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ที่ทำการศึกษา อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงปัจจัยที่มักพบเป็นหลักจะมีความคล้ายคลึงกัน โดยที่ปัจจัยเหล่านี้นอกจากจะมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว ยังมีผลต่อการหย่านมด้วย โดยมีการศึกษาพบว่าปัจจัยเหล่านี้ ได้แก่ อายุของมารดา ลำดับครรภ์ สถานะของการทำงาน และลักษณะของครอบครัว 1 (ที่จะเป็นครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวขยาย) และปัจจัยที่ได้รับการสนใจอีกปัจจัยหนึ่ง คือ การศึกษา ที่จะส่งผลต่อความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติของมารดาทั้งในด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการหย่านม ซึ่งในส่วนของความรู้นี้ครอบคลุมถึงบุคคลที่มีส่วนร่วมในการดูแลและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครอบครัวด้วย ได้แก่ สามี ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้อง ดังนั้น การวิเคราะห์ให้ละเอียดถึงขนาดของลำดับความสัมพันธ์ในแต่ละปัจจัย นำมาวิเคราะห์ เลือกกระบวนการสนับสนุนที่เหมาะสมในปัจจัยเพียงหนึ่งหรือสองปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง รณรงค์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการประเมินผลเป็นระยะๆ น่าจะส่งผลในการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในภาพรวมได้
เอกสารอ้างอิง
Ahmed K, Talha M, Khalid Z, Khurshid M, Ishtiaq R. Breastfeeding and Weaning: Practices in Urban Slums of Southern Punjab, Pakistan. Cureus 2018;10.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การที่บันทึกวิดีโอการให้นมลูกของมารดาครั้งแรกในระยะเริ่มแรกหลังคลอดมักจะสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึก และบรรยากาศในการให้นมลูกไว้ และเมื่อนำมาเปิดให้มารดาที่คลอดดูจะทำให้มารดาเห็นภาพของตัวเองที่ให้นมลูก มองเห็นความรักและความผูกผัน ความอดทน ความทุ่มเทของมารดากับการให้นมลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดประโยชน์ต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เนื่องจากการได้รู้สึกถึงประสบการณ์ในการให้นมลูกจะสามารถกระตุ้นความรู้สึกของมารดา ช่วยให้มีการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซินที่เป็นฮอร์โมนแห่งความรักและสร้างความผูกพันกับทารก โดยยังไม่รวมถึงการนำมาทบทวนในกระบวนการสอนและฝึกทักษะการให้จัดท่าให้นมลูกของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งควรจะมีการนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์โดยมีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของกระบวนการเหล่านี้ในรายละเอียดต่อไปในอนาคต1
เอกสารอ้างอิง
Taylor AM, van Teijlingen E, Alexander J, Ryan KM. The therapeutic role of video diaries: A qualitative study involving breastfeeding mothers. Women Birth 2018.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หลังคลอดการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดนับเป็นก้าวแรกที่ดีที่จะช่วยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่สิ่งที่บุคลากรไม่ควรละเลยคือการเอาใจใส่ดูแลให้มารดาสามารถจัดท่าให้นมลูกให้ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาและภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดตามมาหลังจากการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และลดปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะทำให้มารดาหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนระยะเวลาอันควร อย่างไรก็ตาม การฝึกและสอนทักษะให้มารดาสามารถบีบน้ำนมด้วยมือได้ ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บุคลากรควรจัดและเริ่มฝึกทักษะให้มารดาสามารถบีบน้ำนมด้วยมือได้ตั้งแต่อยู่ในโรงพยาบาลก่อนการได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน 1 เพราะในระยะแรกการบีบน้ำนมด้วยมือในระยะแรกหลังคลอดจะได้น้ำนมออกมาจากเต้านมได้ดีกว่าการปั๊มนม และยังช่วยในกรณีที่มารดาต้องการเก็บรักษาน้ำนมไว้ให้ทารกในกรณีที่ต้องแยกจากกันหรือมารดาต้องกลับไปทำงาน การฝึกทักษะการบีบน้ำนมด้วยมือจึงถือเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยสร้างโอกาสทำให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มีความต่อเนื่อง สำเร็จ และบรรลุเป้าหมายตามที่องค์การอนามัยโลกตั้งไว้ได้
เอกสารอ้างอิง
Steurer LM, Smith JR. Manual Expression of Breast Milk: A Strategy to Aid in Breastfeeding Success. J Perinat Neonatal Nurs 2018;32:102-3.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)