รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ประโยชน์ของนมแม่มีทั้งด้านมารดาและทารก สำหรับประโยชน์หนึ่งที่น่าสนใจคือ การลดการเสียชีวิตของทารกเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ (infant sudden death syndrome หรือ SIDS)1 แม้ว่าสาเหตุของการเสียชีวิตของทารกจะยังไม่ทราบสาเหตุที่น่าชัด แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่พยายามป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดแก่ทารกโดยแนะนำลักษณะการนอนของทารกที่เหมาะสม ในต่างประเทศโดยทั่วไปในสมัยก่อนมักให้ทารกนอนตะแคงหรือนอนคว่ำ ซึ่งการนอนตะแคงหรือนอนคว่ำของทารกจะทำให้ศีรษะทารกโหนกนูน ไม่แบน ซึ่งลักษณะของศีรษะเช่นนี้เป็นที่นิยมในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การนอนตะแคงหรือนอนคว่ำของทารกมักมีความเสี่ยงจากขาดอากาศหายใจจากการพลิกคว่ำหน้าของทารก ปัจจุบันจะแนะนำให้ทารกนอนหงายเพื่อลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากสาเหตุนี้ นอกเหนือจากนี้ ลักษณะของหมอนและที่นอนที่ใช้ในทารกควรเหมาะสม ไม่นุ่มจนเกินไป และที่นอนไม่ควรมีร่องหรือหลุมที่ทารกจะตกลงไปได้ สำหรับการนอนร่วมเตียงกับมารดาเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรมีพื้นที่ที่กว้างพอและลักษณะที่นอนควรมีความปลอดภัยในลักษณะเดียวกัน หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของไทยในสมัยก่อน จะให้ทารกนอนหงาย และใช้เบาะรองทารก ซึ่งเบาะที่ใช้รองรับทารกนี้จะนุ่ม ซึ่งทารกจะพลิกไม่ได้ ความเสี่ยงของการเกิดการเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจจากการคว่ำหน้าของทารกน้อย แต่จะพบว่าทารกเมื่อทารกโตขึ้นจะมีศีรษะแบน ซึ่งไม่เป็นที่นิยม เมื่อค่านิยมของลักษณะศีรษะที่โหนกนูนจากต่างประเทศแพร่เข้ามา การจัดท่านอนของทารกของคนไทยจึงเปลี่ยนแปลงไปตามแบบตะวันตก ดังนั้น ความสำคัญในเรื่องนี้คงต้องคิดและพิจารณาว่า “ ความปลอดภัยของทารกน่าจะต้องมาก่อนความชอบหรือค่านิยม ”
เอกสารอ้างอิง
Ward TCS, Kanu FA, Anderson AK. Trends and Factors Associated with Breastfeeding and Infant Sleep Practices in Georgia. J Commun Health 2018;43:496-507.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ความเชื่อและค่านิยมของคนในสังคมส่งผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อนบ้านก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและยังมีความใกล้ชิดกับครอบครัวมากกว่าครอบครัวอื่นที่อยู่ห่างไกล เมื่อบ้านติดกัน การปฏิบัติของเพื่อนบ้านในช่วงหลังคลอดในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงมีอิทธพลต่อการให้นมลูกของมารดา มีการศึกษาถึงลักษณะของเพื่อนบ้านว่ามีผลต่อการให้นมลูกของมารดาหลังจากกลับจากโรงพยาบาลหรือไม่ พบว่าลักษณะของเพื่อนบ้านที่มีเศรษฐานะดีจะช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ขณะที่เพื่อนบ้านที่มีเศรษฐานะไม่ดีจะส่งผลเสียแก่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ในการศึกษานี้ยังพบว่า เชื้อชาติของเพื่อนบ้านยังมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาด้วย1 สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยทางสังคมที่ใกล้ชิดกับครอบครัวมีความสำคัญ การสนับสนุนให้เกิดชุมชนต้นแบบที่อาจเรียกว่า “ชุมชนนมแม่” จะช่วยสร้างเครือข่ายที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในชุมชนโดยการสร้างเพื่อนบ้านที่มีทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
Yourkavitch J, Kane JB, Miles G. Neighborhood Disadvantage and Neighborhood Affluence: Associations with Breastfeeding Practices in Urban Areas. Matern Child Hlth J 2018;22:546-55.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การใช้ยาในระหว่างการให้นมลูกมักก่อให้เกิดคำถามแก่มารดาและครอบครัวในเรื่องความปลอดภัยหรืออันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ยา1 แม้ว่ายาส่วนใหญ่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในระหว่างการให้นมลูก แต่เนื่องจากปัจจุบันชนิดของยามีหลากหลาย ยาบางตัวเป็นยาใหม่ ข้อมูลอาจมีจำกัด สิ่งเหล่านี้อาจทำให้มารดาเกิดความวิตกกังวลในการใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตรได้ อีกสิ่งหนึ่งที่อาจพบเป็นข้อจำกัดในการจะเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับยาที่ใช้ในระหว่างให้นมบุตร คือ ข้อมูลที่มีอยู่จะเป็นข้อมูลทางการแพทย์ ใช้ภาษาที่เป็นศัพท์เทคนิค และเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้น การจัดการข้อมูลความรู้เหล่านี้ให้ง่ายแก่มารดาในแต่ละระดับความรู้ ควรมีการศึกษาและเลือกการใช้สื่อความรู้ให้หลากหลายเพื่อจะได้เหมาะกับจริตของมารดาและครอบครัวที่มีหลากหลายเช่นกัน การสร้างสื่อความรู้ที่เหมาะสมนี้ต้องการความร่วมมือของบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในระหว่างการนำมาใช้ ควรมีการประเมินคุณภาพสื่อ การรับรู้ และความพึงพอใจในสื่อความรู้ เพื่อให้สื่อที่ออกมาสามารถแก้ไขข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้
เอกสารอ้างอิง
Stephens A, Brodribb W, McGuire T, Deckx L. Breastfeeding questions to medicines call centres from the Australian public and health professionals. Aust J Prim Health 2018.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การฉีดวัคซีนในทารกแรกเกิดบางครั้งอาจทำให้มารดาเครียดหรือวิตกกังวลกับความเจ็บปวดของทารกได้ ยิ่งหากทารกร้องไห้ดังหรือร้องไห้ต่อเนื่องกันนาน คำถามคือมีความจำเป็นต้องให้หรือใช้ยาแก้ปวดสำหรับลดความเจ็บปวดจากการฉีดวัคซีนในทารกหรือไม่ หากมองเพียงแง่ลดความเจ็บปวดหรือในแง่ที่อาจจะช่วยลดความวิตกกังวลของมารดา การใช้ยาแก้ปวดอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดความเจ็บปวดของทารก อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาที่พบว่า การให้ลูกกินนมแม่ก่อน ระหว่างหรือหลังจากการฉีดวัคซีนในทารกสามารถช่วยลดความเจ็บปวดจากการฉีดวัคซีนได้เช่นกัน ซึ่งเมื่อมีข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงประโยชน์ของการให้ลูกกินนมแม่เพื่อลดความเจ็บปวดแล้ว การให้ลูกกินนมแม่น่าจะเป็นหนทางแรกที่แนะนำสำหรับลดความเจ็บปวดจากการฉีดวัคซีนในทารกก่อนที่จะเลือกใช้วิธีอื่น ๆ หรือการใช้ยาแก้ปวด เนื่องจากการให้ลูกกินนมแม่นั้นไม่เหมือนกับการใช้ยาที่อาจมีอาการข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อน ความรู้นี้จึงควรมีการส่งเสริมหรือได้รับการต่อยอดให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ คือ “ให้ลูกกินนมแม่เพื่อลดความเจ็บปวดของทารกจากการฉีดวัคซีน” 1
เอกสารอ้างอิง
Suleiman N, Shamsuddin SH, Mohd Rus R, Drahman S, Taib M. The Relevancy of paracetamol and Breastfeeding Post Infant Vaccination: A Systematic Review. Pharmacy (Basel) 2018;6.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในระยะหลังคลอดขณะมารดาให้นมบุตร มารดาต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงของบทบาทของตนเอง โดยมารดาเริ่มที่จะมีบทบาทในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือแสดงบทบาทของมารดา ขณะเดียวกันแต่ดั้งเดิม ตัวมารดาเองต้องมีบทบาทและทำหน้าที่ของภรรยา นอกจากนี้ ตัวมารดายังอาจมีบทบาทในกรณีที่มารดาอยู่ในครอบครัวใหญ่ที่อาจจะมีหน้าที่ต้องปฏิบัติในฐานะเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของครอบครัว ดังนั้น การมีคนที่คอยช่วยเหลือโดยเฉพาะสามีที่จะให้การดูแล แบ่งเบาภาะงานบทบาทของมารดาในด้านอื่น ๆ น่าจะเป็นการช่วยให้มารดามีเวลาที่จะให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาถึงความรู้สึกของมารดาถึงการมีส่วนร่วมของบิดาในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พบว่า ความรู้สึกของมารดาถึงการมีส่วนร่วมของบิดานั้นสัมพันธ์กับโอกาสที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง 1 ซึ่งเหตุผลที่ใช้ในการอธิบายการที่ทำให้มารดามีแนวโน้มจะให้นมลูกได้นานกว่าก็อาจจะเป็นเพราะมารดามีคนที่ช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และลดภาระหน้าที่อื่น ๆ ในครอบครัวนั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
Tombeau Cost K, Jonas W, Unternaehrer E, et al. Maternal perceptions of paternal investment are associated with relationship satisfaction and breastfeeding duration in humans. J Fam Psychol 2018.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)