คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

เทคนิคการบีบน้ำนมด้วยมือ

ทำมือเป็นรููปตัว C ตำแหน่งที่กดคือบริเวณขอบของลานนมหรือห่างจากหัวนมราว 2 เซนติเมตร กดน้ำหนักลงที่เต้านมเข้าหาหน้าอก แล้วจึงออกแรงบีบไล่น้ำนมไปยังหัวนม ซึ่งหากทำได้ถูกต้อง จะเห็นน้ำนมไหลพุ่งออกมาได้ดี

การให้นมแม่เวลากลางคืนไม่เสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลต่ำในมารดาที่เป็นเบาหวาน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในอดีตที่ผ่านมา จะมีความเชื่อที่ว่า มารดาที่เป็นเบาหวานโดยเฉพาะชนิดที่ 1 เมื่อมีการให้นมแม่ในเวลากลางคืน จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในมารดา ดังนั้น จึงมีการแนะนำการรับประทานอาหารและการปรับยาในมารดาเหล่านี้ แต่ข้อมูลในเรื่องนี้เป็นความจริงหรือไม่ จากการศึกษาวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ช่วยตอบคำถามและข้อสงสัยในเรื่องนี้ได้ โดยมีการเก็บข้อมูลระดับน้ำตาลในเลือดของมารดาในช่วงกลางคืนโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม พบว่าเมื่อมารดาที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ให้นมลูกในเวลากลางคืนพบมีภาวะน้ำตาลต่ำน้อยและไม่ได้มีความแตกต่างจากกลุ่มควบคุม1 ดังนั้น ข้อแนะนำที่มีในอดีตว่า มารดาควรได้รับอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตในเวลากลางคืนเพื่อป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำเมื่อมารดาที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ให้นมแม่ในเวลากลางคืน ควรจะได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมเมื่อมีข้อมูลจากการศึกษาเชิงประจักษ์ที่เพียงพอที่จะได้ข้อสรุป

เอกสารอ้างอิง

  1. Ringholm L, Roskjaer AB, Engberg S, et al. Breastfeeding at night is rarely followed by hypoglycaemia in women with type 1 diabetes using carbohydrate counting and flexible insulin therapy. Diabetologia 2019.

วิธีลดหรือหลีกเลี่ยงการเกิดโรคอ้วนในวัยเด็ก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                โรคอ้วนนับเป็นภัยเงียบที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยส่งผลเสียต่อสมรรถนะในการทำงานของร่างกายและยังเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเสียชีวิตเมื่อทารกเจริญวัยขึ้น เป็นที่ทราบกันดีว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยป้องกันและลดการเกิดโรคอ้วนในวัยเด็ก แต่ปัจจัยส่งเสริมที่จะทำให้เกิดโรคอ้วนที่สำคัญนั้นยังมีจากปัจจัยทางมารดา โดยหากมารดามีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่าเกณฑ์ปกติระหว่างการตั้งครรภ์ ก็เป็นเหตุสำคัญที่จะทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอ้วนในทารกเมื่อย่างเข้าสู่วัยเด็กได้1 ดังนั้น ความรู้ในเรื่องนี้ควรมีการให้คำปรึกษาแก่มารดาและครอบครัวให้มีการดูแลในเรื่องของน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติร่วมกับมีน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ในระหว่างการฝากครรภ์ จะช่วยป้องกันและลดการเกิดโรคอ้วนในวัยเด็กลงได้ดียิ่งขึ้นเพิ่มเติมจากการรณรงค์เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Ohlendorf JM, Robinson K, Garnier-Villarreal M. The impact of maternal BMI, gestational weight gain, and breastfeeding on early childhood weight: Analysis of a statewide WIC dataset. Prev Med 2019;118:210-5.

ปัจจัยของบิดาที่จะมีผลช่วยในการให้ลูกได้กินนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                บิดาเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนในการตัดสินใจในการที่มารดาจะให้ลูกกินนมแม่ แต่บางคนอาจมีคำถามว่า แล้วปัจจัยอะไรที่จะช่วยให้บิดาเลือกที่จะสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมิ่อเร็ว ๆ นี้มีการศึกษาวิจัยที่ตอบคำถามนี้แล้ว โดยศึกษาถึงความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติที่จะเลือกที่จะสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเก็บปัจจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า การให้ความรู้แก่บิดาให้เห็นความสำคัญและความเข้าใจถึงประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อมารดาและทารกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้บิดามีความรู้และทัศนคติที่ดีต่อการกินนมแม่เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการให้ลูกได้กินนมแม่1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์จึงควรเอาใจใส่กับการจัดกระบวนการให้บิดาได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้ ก็จะเป็นการสร้างโอกาสที่จะเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากปัจจัยของบิดา                                                                                                                                                                                                   เอกสารอ้างอิง

  1. Ng RWL, Shorey S, He HG. Integrative Review of the Factors That Influence Fathers’ Involvement in the Breastfeeding of Their Infants. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2019;48:16-26.

 

มารดาที่อ้วนควรได้รับการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                โรคอ้วนส่วนใหญ่เป็นจากพฤติกรรมการกิน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่แรกเกิด สามารถป้องกันหรือลดโรคอ้วนได้จากการให้ลูกได้กินนมแม่ อย่างไรก็ตาม หากมารดามีภาวะอ้วนหรือโดยทั่วไปเมื่อคำนวณค่าดัชนีมวลกายของมารดาก่อนการตั้งครรภ์เกิน30 kg/m2 แล้วจะพบว่ามีผลเสียต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ส่วนหนึ่งเนื่องจากมารดามักจะมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ ทำให้มีโอกาสจะผ่าตัดคลอดสูง ซึ่งการผ่าตัดคลอดจะเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ การทำงานของฮอร์โมนอินซูลินจะมีผลต่อการผลิตและสร้างน้ำนม ทำให้พบมารดาที่อ้วนมีภาวะน้ำนมมาช้าได้ (delayed lactogenesis) ซึ่งมารดาเหล่านี้จะมีน้ำนมมาช้าเกินกว่า 72 ชั่วโมงหลังคลอด มีการศึกษาในมารดาที่มีโรคอ้วนถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยมีการควบคุมปัจจัยที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และให้การสนับสนุนและช่วยมารดาแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และมีการประเมินความคาดหวังถึงผลลัพธ์ที่มารดาตั้งไว้คือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนหรือสามารถให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยต่อเนื่องจนกระทั่งครบ 2 ปี พบว่าการประเมิน เอาใจใส่ ติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องและการมีเป้าหมายในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่มีโรคอ้วนเป็นสิ่งที่สำคัญและควรมีการสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเหล่านี้เพื่อช่วยให้มารดามีความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น1

เอกสารอ้างอิง

  1. Lyons S, Currie S, Smith DM. Learning from Women with a Body Mass Index (Bmi) >/= 30 kg/m(2) who have Breastfed and/or are Breastfeeding: a Qualitative Interview Study. Matern Child Health J 2019.