คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

ปัจจัยที่ส่งเสริมการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดี

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีควรเริ่มทันทีหลังคลอดหากมารดาและทารกไม่มีภาวะแทรกซ้อน โดยเริ่มจากการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ ทารกปรับตัวอยู่บนอกมารดา คืบคลานเข้าหาเต้านม และเริ่มการดูดนม ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง ซึ่งการปฏิบัติได้ตามเวลาภายใน 1 ชั่วโมงแรกจะช่วยส่งเสริม เพิ่มอัตราและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ มีการศึกษาปัจจัยที่ส่งเสริมการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีพบว่า การคลอดที่สถานพยาบาลที่สนับสนุนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการให้ความรู้เรื่องนมแม่ในระหว่างการฝากครรภ์ สนับสนุนให้มารดาคลอดปกติทางช่องคลอด และลดหรือหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการผ่าตัดคลอด1 สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์กับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีที่จะทำให้การเริ่มต้นการกินนมแม่เกิดภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดและจะเป็นผลส่งต่อถึงการช่วยเพิ่มอัตราและระยะเวลาการเลี้ยงลูกดัวยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Belachew A. Timely initiation of breastfeeding and associated factors among mothers of infants age 0-6 months old in Bahir Dar City, Northwest, Ethiopia, 2017: a community based cross-sectional study. Int Breastfeed J 2019;14:5.

 

 

การสอนความรู้เรื่องนมแม่ผ่านเว็บไซด์ในมารดาที่ฝากครรภ์ไตรมาสที่สาม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้มารดาให้ลูกกินนมแม่ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการแนะนำการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ โดยรูปแบบของการให้ความรู้ส่วนใหญ่จะเป็นการให้ความรู้และคำปรึกษาแบบกลุ่มที่อาจเป็นกลุ่มใหญ่หรือกลุ่มย่อย เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการเรียนการสอนมาในรูปแบบสื่อการสอนทางอินเตอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์มากขึ้นในปัจจุบัน จึงมีความน่าสนใจว่า การให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ผ่านทางเว็บไซต์จะได้ผลหรือจะช่วยให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้แตกต่างจากการให้ความรู้แบบกลุ่มที่มีอย่างดั้งเดิมหรือไม่ มีการศึกษาในเรื่องนี้แล้วพบว่า การให้ความรู้แก่มารดาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ผ่านรูปแบบการสอนทางเว็บไซด์ในช่วงไตรมาสสามของการตั้งครรภ์ช่วยให้มารดามีความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่แตกต่างจากการใช้การสอนแบบเดิม1 ดังนั้น รูปแบบของสื่อการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรจะมีการพัฒนาผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการเรียนรู้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา

เอกสารอ้างอิง

  1. Abuidhail J, Mrayan L, Jaradat D. Evaluating effects of prenatal web-based breastfeeding education for pregnant mothers in their third trimester of pregnancy: Prospective randomized control trial. Midwifery 2019;69:143-9.

 

 

 

น้ำนมแม่ที่ให้นมลูกอย่างเดียวมีภูมิคุ้มกันสูงกว่า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                แม้ว่าในปัจจุบันมีการแนะนำการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในหกเดือนแรก แต่ก็ยังมีการศึกษาถึงความแตกต่างระหว่างการให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวกับการไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวเพื่อศึกษาหาความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการศึกษาปริมาณ immunoglobulin G ในน้ำนมของมารดาที่ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวเทียบกับมารดาที่ไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวพบว่า น้ำนมของมารดาที่ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวมีปริมาณ immunoglobulin G สูงกว่าในมารดาที่ไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว1 นี่อาจแสดงถึงแนวโน้มของการส่งต่อภูมิคุ้มกันที่น่าจะดีกว่าหากมารดาให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวในหกเดือนแรก อย่างไรก็ตาม ยังต้องการความเชื่อมโยงระหว่างผลที่พบและผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพที่จะพบการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกันหรือไม่ ซึ่งต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Abuidhail J, Al-Shudiefat AA, Darwish M. Alterations of immunoglobulin G and immunoglobulin M levels in the breast milk of mothers with exclusive breastfeeding compared to mothers with non-exclusive breastfeeding during 6 months postpartum: The Jordanian cohort study. Am J Hum Biol 2019;31:e23197.

 

 

 

พังผืดที่ริมฝีปากบนไม่ทำให้ทารกกินนมแม่ยากขึ้น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ภาวะที่ทารกมีพังผืดที่ริมฝีปากบน (upper lip tie) นั้นได้มีการเริ่มกล่าวถึงในปี ค.ศ. 1998 เมื่อมีความสนใจในเรื่องผลของภาวะพังผืดใต้ลิ้น (tongue-tie) ที่ส่งผลทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยากขึ้น จึงเกิดคำถามต่อมาว่า ทารกที่พบมีพังผืดที่ริมฝีปากบนจะมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้นหรือไม่ ซึ่งจากการศึกษาทบทวนอย่างเป็นระบบ (systematic review) ไม่พบความสัมพันธ์ของภาวะพังผืดที่ริมฝีปากบนที่ส่งผลทำให้ทารกกินนมแม่ได้ยาก1 อย่างไรก็ตาม ในการทบทวนความรู้นี้พบว่า ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ยังขาดการวิจัยเปรียบเทียบเชิงทดลองแบบสุ่ม (randomized controlled trial) ที่ทำการศึกษาในเรื่องนี้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Nakhash R, Wasserteil N, Mimouni FB, Kasirer YM, Hammerman C, Bin-Nun A. Upper Lip Tie and Breastfeeding: A Systematic Review. Breastfeed Med 2019.

 

สิ่งที่ควรแนะนำเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อมารดามาฝากครรภ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่มารดาและบุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความสำคัญ การที่จะสนับสนุนให้มารดามีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น มารดาจะต้องมีความรู้และความเข้าใจถึงประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่าถูกต้องและเพียงพอ สมาคมสูตินรีแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาและสมาคมเวชศาสตร์มารดาและทารกของสหรัฐอเมริกาเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ จึงได้ออกข้อแนะนำล่าสุดในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่มาฝากครรภ์ โดยเนื้อหาสำคัญของการให้ความรู้ควรมีการแนะนำถึงประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อมารดาในระยะยาว ได้แก่ การลดการเกิดเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด มะเร็งรังไข่ และมะเร็งเต้านม1 โดยหากมารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร้อยละ 90 จะสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมได้ถึง 5023 ราย ป้องกันการเกิดเบาหวานได้ถึง 12320 ราย ป้องกันความดันโลหิตสูงได้ถึง 35982 ราย และป้องกันการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ถึง 8487 ราย ซึ่งผลเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าต่อสุขภาพของมารดาโดยตรง นอกจากนี้ควรมีการให้ข้อมูลที่จะช่วยให้มารดานอกจะสามารถจะเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระหว่างที่นอนโรงพยาบาลแล้ว ควรมีการให้ข้อมูลในการดูแลให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ขณะที่มารดาต้องกลับไปทำงานในสถานที่ที่ทำงาน กฎหมายแรงงาน และข้อมูลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกในสถานที่ทำงานด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. American College of N-M, the National Association of Nurse Practitioners in Women’s H, American College of O, et al. Interpregnancy Care. Am J Obstet Gynecol 2019;220:B2-B18.