รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
อาการเจ็บหัวนมเป็นอาการที่พบบ่อยในมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ หัวนมแตก การอักเสบของเต้านม และฝีที่เต้านมที่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ส่วนใหญ่สาเหตุของการเจ็บหัวนมได้แก่ การจัดท่าให้นมลูกที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น ในการดูแลรักษาจึงต้องมีการดูแลอาการเจ็บหัวนมร่วมกับการแนะนำการจัดท่าให้นมลูกให้เหมาะสมด้วย การดูแลอาการเจ็บหัวนมหรือหัวนมแตก การรักษาใช้การแนะนำให้มารดาบีบน้ำนมและป้ายในบริเวณที่เจ็บหรือมีหัวนมแตกแล้วปล่อยให้แห้ง อาการเจ็บหัวนมหรือหัวนมแตกจะค่อย ๆ ดีขึ้น ขณะเดียวกันระหว่างการรักษา ลูกก็ยังสามารถกินนมแม่ได้ มีการศึกษาทางเลือกในการรักษาโดยการทำแผลในบริเวณที่มีอาการเจ็บหัวนมหรือหัวนมแตกด้วย natural latex-glycerol พบว่าทำให้ผิวหนังบริเวณแผลชุ่มชื้นขึ้น ลดการเจ็บหัวนม ไม่ทำให้เกิดเขียวช้ำ (hemolysis) หรือเป็นพิษต่อเซลล์ (cytotoxicity) 1 อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังเป็นการศึกษาเบื้องต้นซึ่งมีความจำเป็นต้องมีการศึกษาในอนาคตเพิ่มเติมต่อไปถึงผลลัพธ์ในระยะเวลาของการรักษาและเงื่อนไขในการให้ลูกกินนมแม่ได้หรือไม่ในระหว่างการรักษา
เอกสารอ้างอิง
de Barros NR, Dos Santos RS, Miranda MCR, et al. Natural latex-glycerol dressing to reduce nipple pain and healing the skin in breastfeeding women. Skin Res Technol 2019.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในลูกคนแรกมีการศึกษาถึงความรู้สึกของมารดาที่จำเป็นต้องหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร มารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีสองความรู้สึกขณะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พร้อม ๆ กันคือ รู้สึกปราบปลื้มในการให้นมลูก ขณะเดียวกันก็รู้สึกเจ็บปวดและต้องเสียสละ สิ่งนี้สะท้อนถึงการขาดความรู้และรู้สึกไม่มั่นใจที่จะให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ต่อเนื่อง 1 ทำให้มีการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรจะให้การใส่ใจในการให้ความรู้และให้คำปรึกษาแก่มารดาร่วมกับศึกษาอารมณ์ความรู้สึกของมารดาอย่างเป็นระบบ เพื่อที่การให้คำปรึกษากับมารดาทำให้อย่างตรงกับจริตของมารดาโดยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับมารดาให้มีความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
Cortes-Rua L, Diaz-Gravalos GJ. Early interruption of breastfeeding. A qualitative study. Enferm Clin 2019.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวของทุกประเทศทั่วโลกจากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกพบร้อยละ 34 ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้คือร้อยละ 50 สำหรับอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2548 พบร้อยละ 5.4 และในปี พ.ศ. 2555 พบร้อยละ 12.3 ปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่สำคัญคือ การเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรก ในประเทศไทยอัตราเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบร้อยละ 43.6 โดยข้อมูลการสำรวจรายภาค พบว่าอัตราการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงพบในภาคใต้สูงสุดร้อยละ 60.9 และพบในภาคกลางต่ำสุดร้อยละ 40.9 เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวของประเทศไทยพบว่าเกือบต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน มีการศึกษาในเอธิโอเปียที่ยังมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวต่ำพบว่ามีอัตราการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร้อยละ 76.81 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทยแล้วอัตราการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทยยังต่ำมาก ดังนั้น ควรมีการส่งเสริมทั้งทางด้านนโยบายและการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นของอัตราการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Abie BM, Goshu YA. Early initiation of breastfeeding and colostrum feeding among mothers of children aged less than 24 months in Debre Tabor, northwest Ethiopia: a cross-sectional study. BMC Res Notes 2019;12:65.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
มีคำถามว่า ทำไมมารดาบางคนถึงสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน ขณะที่บางคนไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวแต่ไม่ถึงหกเดือน มีการศึกษาถึงประสบการณ์และความคิดของมารดาที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนพบว่า ทัศนคติและความตั้งใจที่มีเป้าหมายที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนเป็นสิ่งสำคัญ โดยมารดาเหล่านี้ จะมีทัศนคติต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ว่า นมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เป็นธรรมชาติ สร้างมาเพื่อทารก และเป็นสิ่งที่แสดงบทบาทของความเป็นแม่1 โดยหากมารดาได้เลือกตัดสินใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนด้วยตนเองร่วมกับมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยในการบรรลุเป้าหมายได้ โดยที่การปฏิบัตืก็เป็นไปตามความตั้งใจโดยไม่มีข้อต่อรองหรือยอมยกเว้น ดังนั้น การทราบถึงจิตใจของมารดาจะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์วางแผนการดำเนินงานในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีขึ้น
เอกสารอ้างอิง
Charlick SJ, McKellar L, Gordon AL, Pincombe J. The private journey: An interpretative phenomenological analysis of exclusive breastfeeding. Women Birth 2019;32:e34-e42.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ยาฝังคุมกำเนิดเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง และผลข้างเคียงน้อย ซึ่งจะแนะนำให้ใช้ในมารดาที่ต้องการคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน หรือมารดาที่วัยรุ่นที่อายุยังน้อย มีการศึกษาถึงผลของการใช้ยาฝังคุมกำเนิดกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า การที่มารดาใช้ยาฝังคุมกำเนิดหลังคลอดทันที หรือเว้นระยะ 4-6 สัปดาห์หลังคลอดไม่ได้มีผลเสียต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ยังพบว่าไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของทารกด้วย1 ดังนั้น ในมารดาที่ต้องการการคุมกำเนิดในระยะยาวที่มีประสิทธิภาพสูง การใช้ยาฝังคุมกำเนิดอาจเป็นทางเลือกหนึ่งของมารดาที่ต้องการการวางแผนคุมกำเนิดที่บุคลากรควรให้คำแนะนำในเรื่องเหล่านี้ เมื่อมารดามาขอคำปรึกษาเรื่องผลของการคุมกำเนิดกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Averbach S, Kakaire O, McDiehl R, Dehlendorf C, Lester F, Steinauer J. The effect of immediate postpartum levonorgestrel contraceptive implant use on breastfeeding and infant growth: a randomized controlled trial. Contraception 2019;99:87-93.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)