คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

การให้คำปรึกษาเรื่องการคุมกำเนิดที่ใช้ฮอร์โมนกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             การคุมกำเนิดที่ใช้ฮอร์โมนบางวิธีหากมีการให้คำปรึกษาที่ไม่เหมาะสมอาจมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ เช่น การให้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด ดังนั้น การให้คำปรึกษาในเรื่องการคุมกำเนิดหลังคลอดสำหรับมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น บุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้คำปรึกษาควรมีความรู้ และควรหลีกเลี่ยงอคติที่มีต่อการคุมกำเนิดชนิดใดชนิดหนึ่ง ควรเปิดโอกาสที่จะให้มารดาได้มีโอกาสเลือกหลังจากที่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการคุมกำเนิดในแต่ละวิธีอย่างเหมาะสม1 การที่บุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้คำปรึกษามีอคติกับวิธีการคุมกำเนิดวิธีใดวิธีหนึ่งย่อมส่งผลต่อการให้คำปรึกษาและอาจมีผลส่งต่อไปถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยก็ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Bryant AG, Lyerly AD, DeVane-Johnson S, Kistler CE, Stuebe AM. Hormonal contraception, breastfeeding and bedside advocacy: the case for patient-centered care. Contraception 2019;99:73-6.

มารดาที่สูบบุหรี่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การสูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในปอด โรคปอดเรื้อรัง รวมถึงยังมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย มีการศึกษาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่สูบบุหรี่พบว่า ทารกของมารดาที่สูบบุหรี่มีการพัฒนาการของระบบประสาทที่ผิดปกติ ซึ่งทารกที่มีพัฒนาการของระบบประสาทที่ผิดปกติ เมื่อประเมินการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยคะแนนการเข้าเต้า (LATCH  score) พบว่ามีคะแนนการเข้าเต้าต่ำกว่าทารกในกลุ่มควบคุม1 ซึ่งคะแนนการเข้าเต้าที่ต่ำสัมพันธ์กับอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ต่ำด้วย ดังนั้น จะเห็นว่าผลเสียของการสูบบุหรี่นั้นไม่เฉพาะเกิดแก่ตัวมารดาเองเท่านั้น ยังมีผลต่อสุขภาพทารกด้วย บุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความรู้เหล่านี้แก่มารดาเพื่อมารดาจะเข้าใจและเลือกปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงจากผลเสียของบุหรี่

เอกสารอ้างอิง

  1. Bertini G, Elia S, Lori S, Dani C. Abnormal neurological soft signs in babies born to smoking mothers were associated with lower breastfeeding for first three months. Acta Paediatr 2019.

 

การประเมินเกณฑ์คุณภาพแม่และเด็กช่วยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             การพัฒนาคุณภาพหรือการประกันคุณภาพโรงพยาบาล ปัจจุบันเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ให้ความสำคัญและมีคุ้นเคย โดยในประเทศไทยเกณฑ์ในการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลจะใช้เกณฑ์ Hospital accreditation หรือ HA สำหรับโรงพยาบาลภาครัฐและโรงพยาบาลเอกชนบางโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยประกันสังคมและผู้ป่วยประกันคุณภาพ แต่โรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยต่างชาติ  จะใช้เกณฑ์พัฒนาคุณภาพของนานาชาติ เช่น JCI หรือในอดีตอาจใช้ ISO การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลนอกจากจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้มารับบริการ สร้างความสบายใจต่อบุคลากรทางแพทย์ผู้ให้การดูแลว่าโรงพยาบาลมีระบบรักษาพยาบาลที่ดี มีความปลอดภัยและลดปัญหาการฟ้องร้องแล้ว การประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานตัวชี้วัดของมารดาและทารกยังช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย1 ซึ่งเกณฑ์การประเมินตัวชี้วัดของประเทศไทยจะใช้เกณฑ์ลูกเกิดรอดแม่ปลอดและเกณฑ์โรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก ในสหรัฐอเมริกาใช้คะแนนจากการสำรวจการดูแลทารกและการให้อาหารทารกของมารดาในการประเมิน (Maternity Practices in Infant Nutrition and Care survey) ซึ่งคะแนนจากการประเมินเหล่านี้ จะช่วยในการพัฒนานโยบายและการปฏิบัติที่จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของสถานพยาบาล

เอกสารอ้างอิง

  1. Barrera CM, Beauregard JL, Nelson JM, Perrine CG. Association of Maternity Care Practices and Policies with In-Hospital Exclusive Breastfeeding in the United States. Breastfeed Med 2019.

 

 

 

 

การให้นมแม่ที่บริจาคพาสเจอร์ไรส์แก่ทารกมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ปัจจุบันเริ่มมีการใช้นมแม่ที่บริจาคเข้าสู่ธนาคารนมแม่มากขึ้น ซึ่งนมแม่ที่บริจาคนี้จะผ่านการตรวจคัดกรองและพาสเจอร์ไรส์ แต่ยังมีคำถามและข้อสงสัยถึงผลของการให้นมบริจาคที่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ต่อผลลัพธ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ว่าจะมีผลลบหรือช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ มีการศึกษาในสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาหาคำตอบในเรื่องนี้ซึ่งพบว่า การให้นมแม่ที่บริจาคพาสเจอร์ไรส์แก่ทารกที่คลอดครบกำหนดที่มีน้ำหนักลดมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 4.5 ในช่วง 36 ชั่วโมงแรก หลังจากที่มีการติดตามผลลัพธ์เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ 1 สัปดาห์ และที่ 1, 2, 3 เดือน ไม่พบว่าการให้นมแม่พาสเจอร์ไรส์ที่บริจาคมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 จากผลลัพธ์ของการศึกษา อาจแสดงว่า การให้นมบริจาคพาสเจอร์ไรส์แก่ทารกที่คลอดครบกำหนดซึ่งน่าจะกินนมแม่ได้อยู่แล้ว อาจไม่เกิดประโยชน์ต่อการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งในอนาคตควรมีการศึกษาในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คำตอบที่ได้อาจเป็นผลในการช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในกลุ่มเสี่ยงก็เป็นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Kair LR, Flaherman VJ, Colaizy TT. Effect of Donor Milk Supplementation on Breastfeeding Outcomes in Term Newborns: A Randomized Controlled Trial. Clin Pediatr (Phila) 2019:9922819826105.

 

สถานที่คลอดมีผลต่อลักษณะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในการที่จะสนับสนุนให้ลูกได้กินนมแม่และมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนนั้น สถานที่ที่มารดาเลือกที่จะคลอดบุตรเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ หากมารดาเลือกที่จะฝากครรภ์และคลอดในสถานพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก กิจกรรมหรือกระบวนการดูแลที่จะเอื้อให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะสูง นอกจากนี้ยังพบความแตกต่างในการดูแลที่สถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน โดยพบว่าการให้อาหารอื่นหรือนมผงดัดแปลงสำหรับทารกพบได้สูงกว่าในสถานพยาบาลเอกชน1  สำหรับบางประเทศที่มีการคลอดที่บ้านพบว่า การสนับสนุนให้มารดาได้เริ่มให้นมลูกตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดในการคลอดที่บ้านจะพบต่ำกว่าในสถานพยาบาล ดังนั้น จะเห็นว่า หากมารดาต้องการให้ลูกมีโอกาสที่จะประสพความสำเร็จในการกินนมแม่ได้ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดตามข้อแนะนำที่ตั้งไว้ขององค์การอนามัยโลก การวางแผนเลือกสถานที่ที่ฝากครรภ์และคลอดบุตรควรมีการวางแผนล่วงหน้าโดยเลือกสถานที่คลอดอย่างเหมาะสมที่จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Bergamaschi N, Oakley L, Benova L. Is childbirth location associated with higher rates of favourable early breastfeeding practices in Sub-Saharan Africa? J Glob Health 2019;9:010417.