รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในปัจจุบัน อาการซึมเศร้าเป็นอาการที่พบบ่อยขึ้นทั้งในวัยรุ่น วัยเรียน วัยเจริญพันธุ์ รวมทั้งในมารดาที่ตั้งครรภ์และมารรดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาการซึมเศร้านั้นกระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยทั่วไปจะทำให้การเริ่มนมแม่ช้าและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยลง ในทางกลับกันการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็อาจสะท้อนถึงอาการซึมเศร้าได้เช่นกัน มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์นี้พบว่า การให้ยาต้านการซึมเศร้าช่วยให้มารดามีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงกว่ามารดาที่ไม่ได้กินยาต้านอาการซึมเศร้า 1 นอกจากนี้ยาต้านอาการซึมเศร้าหากเลือกตัวยาที่เหมาะสมมีการผ่านน้ำนมน้อยในปริมาณที่ไม่มีผลต่อทารก ก็จะส่งผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย ดังนั้น บุคลากรผู้ให้คำปรึกษาควรมีความรู้ในเรื่องนี้และควรมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงข้อมูลของการใช้ยาให้มีความทันสมัย เพื่อจะได้ให้คำปรึกษาได้อย่างเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Galbally M, Watson SJ, Ball H, Lewis AJ. Breastfeeding, Antidepressants, and Depression in the Mercy Pregnancy and Emotional Well-Being Study. J Hum Lact 2019;35:127-36.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ความวิตกกังวลเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อทารกต้องคลอดก่อนกำหนดนั้น จะเกิดขึ้นหากทารกมีภาวะแทรกซ้อนและต้องแยกจากมารดาไปดูแลที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต มีการศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่คลอดเกือบครบกำหนดพบว่า ระดับการศึกษาที่สูงของมารดาและประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครรภ์ก่อนเป็นผลบวกต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ขณะที่ปัจจัยที่เป็นผลลบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ อายุของมารดาที่มาก เชื้อชาติ การรู้สึกว่าน้ำนมมีน้อย และการมีครรภ์แฝด 1 ดังนั้น หากมารดาคลอดก่อนกำหนดในระยะเกือบครบกำหนด การเลือกจัดการให้คำปรึกษาและดูแลมารดาและทารกตามพิจารณาตามความเสี่ยงของปัจจัยที่พบ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
เอกสารอ้างอิง
Crippa BL, Colombo L, Morniroli D, et al. Do a Few Weeks Matter? Late Preterm Infants and Breastfeeding Issues. Nutrients 2019;11.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ความรู้สึกของมารดาที่ต้องหยุดให้นมแม่ก่อนเวลาอันควรนั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่บุคลากรทางการแพทย์ควรมีความเข้าใจเพื่อที่จะนำไปใช้ในการให้คำปรึกษา มีการศึกษาในประเทศสเปนถึงเรื่องนี้พบว่าเหตุผลที่สำคัญที่เป็นสาเหตุให้มารดาหยุดให้นมลูกก่อนเวลาที่เหมาะสม คือ ความไม่มั่นใจว่าตนเองมีน้ำนมเพียงพอที่จะให้แก่ลูก ซึ่งก็คือความกังวลในเรื่องสารอาหาร และการเจ็บเต้านมและหัวนม ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้มารดาหยุดการให้นมลูกในหลายรายงาน ในมารดาที่หยุดให้นมแม่นั้น มารดาบางคนอาจรู้สึกว่าลูกจะได้สารอาหารครบจากการกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก ขณะเดียวกันก็อาจจะรู้สึกผิดที่ไม่สามารถจะให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างที่ควรจะเป็น และบางคนยังคิดว่าการให้การสนับสนุนในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของบุคลากรทางการแพทย์มีน้อยและไม่เพียงพอ ดังนั้น การให้คำปรึกษาในมารดาเหล่านี้ ควรมีการให้ดูแลเรื่องอารมณ์และสนับสนุนทางด้านจิตใจที่มารดาอาจรู้สึกผิด1 นอกจากนี้ การจัดบริการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเป็นระบบในขณะที่อยู่ที่โรงพยาบาล มีความต่อเนื่องเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้านหรือในชุมชนและมีความเพียงพอครอบคลุมมารดาที่มีคลอดหรืออยู่ในพื้นที่ที่ดูแลอย่างครบถ้วน ยังมีความจำเป็นเพื่อให้มารดาคงการเลี้ยงลูกได้ยาวนานตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก
เอกสารอ้างอิง
Cortes-Rua L, Diaz-Gravalos GJ. Early interruption of breastfeeding. A qualitative study. Enferm Clin 2019.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในระยะแรกหลังคลอดมีผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยนอกจากจะช่วยพัฒนาการของระบบประสาทแล้วยังช่วยให้ทารกเริ่มต้นกินนมแม่ได้เร็ว และทารกกินนมแม่ได้ดีกว่า ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 อย่างไรก็ตาม บุคลากรทางการแพทย์ควรมีความเข้าใจในกระบวนการและรายละเอียดของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในระยะแรกหลังคลอดเพื่อช่วยในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยกระบวนนี้จะสมบูรณ์ควรจะมีการปล่อยให้ทารกอยู่บนอกมารดาราว 1 ชั่วโมงเพื่อให้ทารกปรับตัวจากการที่อยู่ในครรภ์ มาทำความคุ้นเคยกับการอยู่แนบอกมารดาและพร้อมที่เคลื่อนเข้าหานมแม่เพื่อกินนม ซึ่งหากจัดแบ่งกระบวนการนี้จะมีคำย่อของขั้นตอน 9 ขั้นตอน ได้แก่ ทารกจะผ่านกระบวนการการร้องไห้ (birth cry) ผ่อนคลาย (relaxation) ตื่นตัว (awakening) เคลื่อนไหว (activity) พัก (resting) คืบคลาน (crawling) คุ้นเคย (familiarization) ดูดนม (suckling) และหลับ (sleep) โดยในกระบวนการเหล่านี้ต้องการความสงบ ปราศจากการรบกวน จึงจะได้ผลดีและประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Ghojazadeh M, Hajebrahimi S, Pournaghi-Azar F, Mohseni M, Derakhshani N, Azami-Aghdash S. Effect of Kangaroo Mother Care on Successful Breastfeeding: A Systematic Review and Meta-Analysis of Randomised Controlled Trials. Rev Recent Clin Trials 2019;14:31-40.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากตั้งคำถามว่าปัจจัยใดที่จะช่วยให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จหรือช่วยในการที่มารดาจะมีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในระยะแรกหลังคลอดซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สำคัญที่จะบอกความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาหาคำตอบในเรื่องนี้พบว่า การฝากครรภ์และการคลอดภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลที่มีการดำเนินงานในลักษณะของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 1 เนื่องจากกระบวนการดูแลในโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกล้วนเอื้อต่อความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น หากจะสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กลไกหนึ่งซึ่งควรให้ความสำคัญคือ การจัดให้มีโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกรองรับการดูแลมารดาและทารกอย่างเพียงพอ และมีกระบวนการที่กำกับดูแลให้มีตัวชี้วัดและการปฏิบัติตามแนวนโยบายของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกอย่างเหมาะสม น่าจะช่วยให้เกิดความสำเร็จในการรณรงค์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
เอกสารอ้างอิง
Chugh Sachdeva R, Mondkar J, Shanbhag S, et al. A Qualitative Analysis of the Barriers and Facilitators for Breastfeeding and Kangaroo Mother Care Among Service Providers, Mothers and Influencers of Neonates Admitted in Two Urban Hospitals in India. Breastfeed Med 2019.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)