คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

มารดาที่ให้ลูกกินนมแม่หลังคลอดจะผอมลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ประโยชน์อย่างหนึ่งของการให้ลูกกินนมแม่คือ มารดาจะมีน้ำหนักกลับเข้าสู่น้ำหนักในระยะก่อนตั้งครรภ์ได้ดีกว่า นั่นคือน้ำหนักลดลงเร็วกว่า ซึ่งจะช่วยเรื่องเรื่องรูปร่างของมารดาที่อาจจะมีความกังวลเรื่องน้ำหนักเกินหรืออ้วนเพิ่มขึ้นหลังคลอดที่เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับสุภาพสตรี นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่าในมารดาที่คลอดบุตรไม่เกินห้าปีแล้วเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่ามีดัชนีมวลกายที่ต่ำกว่ามารดาที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 อันนี้ก็แสดงถึงผลสืบเนื่องของการให้ลูกได้กินนมแม่ของมารดาที่จะมีโอกาสน้ำหนักลดลงหรือผอม โดยหากจะมองอีกแง่หนึ่งคือน่าจะช่วยเรื่องน้ำหนักเกินหรืออ้วนของมารดาได้เมื่อคลอดทารกไปเรียบร้อยแล้ว

เอกสารอ้างอิง

  1. Lima NP, Bassani DG, Silva B, et al. Association of breastfeeding, maternal anthropometry and body composition in women at 30 years of age. Cad Saude Publica 2019;35:e00122018.

การให้ลูกกินนมแม่ลดความเจ็บป่วยในวัยเด็ก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เป็นที่ทราบกันดีว่า ประโยชน์ของการให้ลูกได้กินนมแม่จะช่วยเรื่องภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะช่วยลดความเจ็บป่วยของทารกที่กินนมแม่ได้ มีการศึกษาติดตามทารกที่กินนมแม่กับความสัมพันธ์ในการลดความเจ็บป่วยของทารกเมื่อทารกเจริญเติบโตเข้าวัยเด็กพบว่า ในทารกที่กินนมแม่จะมีการท้องเสียและการเป็นหวัดน้อยกว่าทารกที่ไม่ได้กินนมแม่1 จากข้อมูลนี้น่าจะบอกถึงผลดีของการกินนมแม่ที่มีต่อเนื่องไม่ใช่แต่เพียงขณะที่ทารกได้รับนมแม่ ยังมีผลระยะยาวในการช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันที่ดีที่จะช่วยให้ทารกเจ็บป่วยได้น้อยกว่า เมื่อทารกมีความเจ็บป่วยน้อยกว่าก็จะลดความวิตกกังวลของบิดามารดาเรื่องความเจ็บป่วยของลูก ลดค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียเมื่อทารกต้องมารับการรักษาพยาบาล และยังมีผลกระทบต่อหน้าที่การทำงานของบิดามารดา หากต้องมีการหยุดงานเพื่อพาทารกไปรักษาพยาบาล ดังนั้น การวางพื้นฐานสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารกตั้งแต่แรกเกิดโดยการกินนมแม่จึงสร้างความคุ้มค่าในการลงทุนด้านสุขภาพที่เป็นผลประโยชน์ต่อในทารกทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว

เอกสารอ้างอิง

  1. Li S, Yue A, Abbey C, Medina A, Shi Y. Breastfeeding and the Risk of Illness among Young Children in Rural China. Int J Environ Res Public Health 2019;16.

ความสำคัญของสัปดาห์แรกในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                หลังคลอดการให้ความรู้และช่วยให้มารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยมีความมั่นใจและสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเองนั้น บางครั้งอาจมีข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลา เนื่องจากในระยะหลังคลอด มารดามักจะได้รับการอนุญาตให้กลับบ้านภายในหนึ่งหรือสองวันหลังคลอดขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละสถานพยาบาลรวมทั้งกระแสของการอนุญาตให้มารดามีแนวโน้มที่จะให้กลับบ้านเร็วเพื่อกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมจริงขณะที่อยู่ที่บ้าน แต่จากนโยบายนี้ การที่จะสร้างให้มารดาเกิดความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจมีความลำบาก การเลือกที่จะนัดติดตามเพื่อให้คำปรึกษาเพิ่มเติมในสัปดาห์แรกหรือสัปดาห์ที่สองจึงมีความจำเป็น1 ซึ่งการเลือกที่จะนัดติดตามการรักษานั้น การคัดกรองมารดาตามความเสี่ยงเพื่อวางแผนการนัดติดตามการรักษาจะเป็นประโยชน์ โดยจะช่วยเลือกมารดาที่มีความเสี่ยงสูงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร ก็ควรมีการนัดติดตามและให้คำปรึกษาเร็วกว่ามารดาที่มีความเสี่ยงต่ำ ดังนั้น การคัดกรองในมารดาหลังคลอดเพื่อประเมินความเสี่ยงจึงได้รับคำแนะนำให้มีการปฏิบัติ เพื่อช่วยให้กระบวนการนัดติดตามมารดาทำได้อย่างเหมาะสมและมีประโยชน์สูงสุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Levene I, O’Brien F. Fifteen-minute consultation: Breastfeeding in the first 2 weeks of life-a hospital perspective. Arch Dis Child Educ Pract Ed 2019;104:20-6.

 

 

 

ความรู้สึกของบุคลากรต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมหาวิทยาลัยภาครัฐ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                กระแสของการรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีเพิ่มมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน มีการศึกษาในมหาวิทยาลัยภาครัฐในประเทศสเปนพบว่า บุคลากรเกือบทั้งหมดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือร้อยละ 92.9 และพบบุคลากรราวครึ่งหนึ่งที่ยังคงให้ลูกกินนมแม่หลังกลับมาทำงานแล้ว (ร้อยละ 51.3) บุคลากรต้องการให้มีช่วงเวลาที่พักเพื่อการให้นมลูกและสามารถจัดสรรเวลาได้โดยสะดวก และมีพื้นที่ที่เหมาะสมที่จัดไว้สำหรับการปั๊มนม และยังพบว่าบุคลากรของคณะยังคงให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังการลาพักหลังคลอดสูงกว่าบุคลากรในสายบริหาร1 ดังนั้นสถาบันควรมีการสนับสนุนเรื่องการจัดสรรเวลา พื้นที่ สิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อเอื้อให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตอบสนองต่อความรู้สึกของบุคลากรและช่วยในการคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังจากการลาพักเพิ่มขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Leon-Larios F, Pinero-Pinto E, Arnedillo-Sanchez S, Ruiz-Ferron C, Casado-Mejia R, Benitez-Lugo M. Female employees’ perception of breastfeeding-friendly support in a public university in Spain. Public Health Nurs 2019.

การใช้นิโคตินเพื่อการรักษาการสูบบุหรี่มีผลเสียต่อการตั้งครรภ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               การสูบบุหรี่ของมารดามีผลเสียต่อทารกทั้งในระยะของการตั้งครรภ์และให้นมบุตร ซึ่งผลเสียนี้ยังรวมทั้งการที่มารดาได้รับควันบุหรี่มือสองจากคนที่อาศัยอยู่ในบ้าน ในปัจจุบัน มีการใช้นิโคตินเพื่อใช้รักษาการสูบบุหรี่ แต่มีการศึกษาพบว่า การใช้นิโคตินเพื่อการรักษาการสบบุหรี่ก็ยังพบผลเสียในระหว่างการตั้งครรภ์ได้ โดยผลเสียที่พบได้แก่ การคลอดก่อนกำหนด การตายคลอด และทารกแรกคลอดน้ำหนักตัวน้อย1 แต่จากการศึกษานี้ยังไม่พบผลเสียของการใช้นิโคตินในระหว่างการให้นมบุตร ซึ่งมีความจำเป็นต้องมีการศึกษารวบรวมกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ให้เพียงพอที่จะสรุปผลต่อไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Kreyberg I, Nordhagen LS, Bains KES, et al. An update on prevalence and risk of snus and nicotine replacement therapy during pregnancy and breastfeeding. Acta Paediatr 2019.