คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

ท้องเสียทำให้อายุเฉลี่ยลดลงจากการที่ทารกไม่ได้กินนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ภาวะท้องเสียยังเป็นสาเหตุการตายของทารกและเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่าห้าปีที่สำคัญในบางประเทศโดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา ซึ่งการเสียชีวิตของทารกหรือเด็กเล็กจากอาการท้องเสียส่งผลต่ออายุเฉลี่ยของประชากรในภาพรวมที่ลดลง เนื่องจากการกินนมแม่สามารถจะลดการเสียชีวิตจากการท้องเสียได้1 ดังนั้น จากความสัมพันธ์นี้ การที่มารดามีการให้นมแม่จะช่วยไม่ให้ทารกเสียชีวิต ก็จะทำให้อายุเฉลี่ยของประชากรในภาพรวมดีขึ้นด้วย การที่จะเพิ่มให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น ต้องมีกระบวนการการสนับสนุนให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลาย ๆ อย่าง เช่น การให้ความรู้แก่มารดาและครอบครัวถึงความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการปฏิบัติตามนโยบายของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก เป็นต้นจึงเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ควรสนับสนุนให้มีกระบวนการที่ช่วยให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้นและช่วยในการลดการเสียชีวิตชองทารกและเด็กเล็กให้น้อยลงและช่วยให้อายุเฉลี่ยของประชากรภาพรวมดีขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Ogbo FA, Okoro A, Olusanya BO, et al. Diarrhoea deaths and disability-adjusted life years attributable to suboptimal breastfeeding practices in Nigeria: findings from the global burden of disease study 2016. Int Breastfeed J 2019;14:4.

 

 

อารมณ์และความรู้สึกในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาที่คลอดทารกก่อนกำหนด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักจะมีปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เนื่องจากทารกมักมีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ การหายใจเร็ว การติดเชื้อ และความไม่พร้อมของกล้ามเนื้อและระบบประสาทในการที่ทารกจะดูดนมแม่จากเต้า แม้ว่าการที่ทารกได้กินนมแม่จะเป็นประโยชน์แก่ทารกที่คลอดก่อนกำหนด แต่อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่คลอดก่อนกำหนดพบว่ายังมีอัตราที่ต่ำกว่าทารกที่คลอดครบกำหนด การที่บุคลากรทางการแพทย์มีความเข้าใจถึงอารมณ์และความรู้สึกของมารดาในการที่จะให้ลูกกินนมแม่น่าจะเป็นประโยชน์ในการให้คำปรึกษากับมารดาที่คลอดทารกก่อนกำหนด มีการศึกษาถึงอารมณ์และความรู้สึกในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาที่คลอดทารกก่อนกำหนดพบว่า มารดาที่พบปัญหาและอุปสรรคจนล้มเหลวในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีความรู้สึกผิดและโทษตนเองที่ไม่สามารถให้นมลูกได้ ขณะที่มารดาที่รู้สึกดีหรือมีความสุขที่ให้ลูกได้กินนมแม่มักจะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และเหตุผลที่มารดาให้นมแม่ในระยะแรกนั้นเพราะเป็นจากเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ได้เกิดจากความเห็นความสำคัญที่ทำให้แรงบันดาลใจหรือการที่ไม่ได้ให้นมแม่ก็ไม่ได้เป็นเพราะเห็นถึงความยากลำบากในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้นการให้คำแนะนำในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่คลอดก่อนกำหนดควรแนะนำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยแนะนำให้มารดาเห็นประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และให้มารดาตัดสินใจด้วยตนเองในการเลือกที่จะให้ลูกกินนมแม่หรือเลี้ยงลูกด้วยนมผงดัดแปลงสำหรับทารก โดยไม่ควรตำหนิหรือทำให้มารดารู้สึกผิดในการให้ที่ไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Niela-Vilen H, Axelin A, Salantera S, Melender HL. A Typology of Breastfeeding Mothers of Preterm Infants: A Qualitative Analysis. Adv Neonatal Care 2019;19:42-50.

การสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในโรงเรียนควรมีหรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในอดีตเรื่องเพศศึกษานั้นเป็นเรื่องที่ลึกลับ ผู้ใหญ่หรือครูในโรงเรียนไม่ค่อยอยากที่จะกล่าวถึง ซึ่งส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ โดยนักเรียนจะได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากเพื่อนหรือจากแหล่งข้อมูลที่ไม่ได้มีการศึกษาที่เหมาะสม ทำให้เกิดการปฏิบัติในเรื่องของเพศศึกษาที่ไม่เหมาะสมไปด้วย ในปัจจุบันมีการจัดการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียน ซึ่งทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนในเรื่องเพศศึกษาดีขึ้น ทีนี้มถึงคำถามที่ว่า แล้วควรมีการเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในโรงเรียนหรือไม่ มีการศึกษาสำรวจความคิดเห็นของครูในโรงเรียนในประเทศเลบานอนพบว่า ครูส่วนใหญ่มีเห็นด้วยว่าควรจะมีการเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในโรงเรียนเพื่อเป็นการเรียนรู้ที่ต่อยอดจากการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา อย่างไรก็ตาม ควรมีทำความเข้าใจถึงเรื่องการเรียนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับผู้ปกครอง นักเรียน และครูใหญ่ เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกันถึงวัตถุประสงค์และความคาดหวังของการเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย1

เอกสารอ้างอิง

  1. Moukarzel S, Mamas C, Farhat A, Daly AJ. Getting schooled: teachers’ views on school-based breastfeeding education in Lebanon. Int Breastfeed J 2019;14:3.

นักศึกษาแพทย์และนักศึกษาทันตแพทย์มีทัศนคติที่ดีและตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                จากการศึกษาที่ผ่านมา มักพบว่าบุคลากรทางการแพทย์ขาดความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงอาจจะมีคำถามในใจว่า แล้วในกลุ่มนักษึกษาแพทย์และทันตแพทย์ละจะยังคงขาความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยหรือไม่ มีการศึกษาเรื่องนี้ในมาเลเซ๊ยพบว่า นักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์ที่เรียนในปีสุดท้ายขาดความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยยังมีความเข้าใจที่ผิดว่าสามารถให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกได้เมื่อทารกหิว นมแม่สามารถอื่นให้ร้อนด้วยความร้อนได้ และนมแม่ที่เก็บแช่เย็นเมื่อนำมาใช้แล้วเหลือสามารถเก็บแช่เย็นใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อดูข้อมูลทางด้านทัศนคติพบว่า นักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์มีทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเมื่อมีครอบครัวและมีบุตรก็มีความตั้งใจที่จะเลี้ยงดูบุตรด้วยนมแม่1 แม้ว่าการมีทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แต่จากการทีนักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์ปีสุดท้ายยังขาดความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สะท้อนถึงการขาดกระบวนการที่จะสร้างให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องการเลี้ยงลุกด้วยนมแม่ที่เหมาะสม โดยอาจจะต้องมีการทบทวนหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และการประเมินในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้แพทย์หรือทันตแพทย์เมื่อจบการศึกษาแล้วมีความรู้ที่เหมาะสมในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Mohamad N, Saddki N, Azman KNK, Aziz IDA. Knowledge, Attitude, Exposure, and Future Intentions toward Exclusive Breastfeeding among Universiti Sains Malaysia Final Year Medical and Dental Students. Korean J Fam Med 2019.

ให้นมแม่อย่างน้อยสามเดือนลดความเสี่ยงมะเร็งรังไข่ในมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ประโยชน์อย่างหนึ่งของการให้ลูกได้กินนมแม่คือ ลดหรือป้องกันการเกิดมะเร็งรังไข่ในมารดา มีการศึกษาเพิ่มเติมจากการเก็บข้อมูลของมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสหรัฐอเมริกาพบว่า การที่มารดาให้นมทารกอย่างน้อยสามเดือนจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว (epithelial ovarian cancer) ได้ นอกจากนี้ การให้นมแม่นานขึ้นหรือการที่มารดามีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่อายุที่น้อยยังมีผลช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่เพิ่มขึ้นด้วย1 จะเห็นว่า มะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ในสตรี ได้แก่  มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ อาจรวมถึงมะเร็งมดลูก ล้วนแล้วแต่สามารถลดความเสี่ยงหรือป้องกันการเกิดได้จากการให้ลูกได้กินนมแม่ ซึ่งเท่ากับว่า การให้ลูกกินแม่อาจเป็นยาอายุวัฒนะที่ทำให้มารดามีอายุเฉลี่ยที่ยาวนานขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Modugno F, Goughnour SL, Wallack D, et al. Breastfeeding factors and risk of epithelial ovarian cancer. Gynecol Oncol 2019.