รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่จะช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ มีการศึกษาถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ในสามกลุ่ม ได้แก่ เทคโนโลยีทางการศึกษา เทคโนโลยีในการดูแลสุขภาพ และเทคโนโลยีการบริหารจัดการ พบว่า เทคโนโลยีทางการศึกษาช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากที่สุด การใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายจะมีส่วนช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น ขณะที่ยังขาดการใช้เทคโนโลยีการบริหารจัดการมาใช้ในการช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้น ผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษานี้เน้นให้เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีการศึกษา ควรใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาช่วยในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายเพื่อช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้น และควรมีการศึกษาการใช้เทคโนโลยีการบริหารจัดการเพื่อช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
Silva N, Pontes CM, Sousa NFC, Vasconcelos MGL. [Health Technologies and their contributions to the promotion of breastfeeding: an integrative review of the literature]. Cien Saude Colet 2019;24:589-602.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในช่วงที่มารดาให้นมบุตรนั้นมารดาควรได้รับพลังงานจากอาหารเพิ่มขึ้น 500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน ซึ่งโดยทั่วไปมารดาควรต้องรับประทานอาหารให้เพียงพอ ในมารดาบางคนจะมีความวิตกกังวลเรื่องน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนคลอดและพยายามที่จะลดน้ำหนัก ซึ่งต้องชี้แจงว่า การที่มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เองจะช่วยให้มารดามีน้ำหนักลงกลับสู่ระยะก่อนคลอดได้ดีกว่าการให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก การที่มารดาทำการลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนในระหว่างการให้นมบุตร อาจเกิดอันตรายแก่มารดาและทารกได้ โดยมารดาอาจมีอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด เป็นลม และหากมารดามีการลดน้ำหนักมาก อาจมีภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตน (ketoacidosis) ทำให้มีอันตรายแก่มารดา 1 สำหรับทารก การที่มารดาลดน้ำหนัก กินอาหารไม่เพียงพอ จะทำให้ทารกที่กินนมแม่ขาดสารอาหาร เติบโตช้า และหากมารดามีเลือดเป็นกรด อาจทำให้ทารกที่กินนมแม่เกิดอันตรายได้ ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจกับมารดา เพื่อให้มารดาและทารกลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเลือดเป็นกรดระหว่างให้นมบุตรที่จะเป็นอันตรายร้ายแรงแก่ทั้งมารดาและทารกได้
เอกสารอ้างอิง
Seaton C, Sutherly K, Miller MA. Breastfeeding ketoacidosis: A rare but important diagnosis for emergency physicians to recognize. Am J Emerg Med 2019;37:374 e1.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวมีหลายอย่าง แต่หากเป็นการสนับสนุนหลักที่เป็นนโยบายจากรัฐบาล ได้แก่ การส่งเสริมให้มีมาตรฐานโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก การจัดสรรให้มีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้เพียงพอที่จะให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในหกเดือนแรกอย่างพอเพียงโดยมีการวางแผนให้มีความก้าวหน้าของบุคลากรเพื่อรองรับการคงอยู่และความยั่งยืนของบุคลากรที่ดูแลเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การวางแผนการจัดสรรเครือข่ายเพื่อการดูแลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อเนื่องจากสถานพยาบาลไปในชุมชน นโยบายการจัดที่ให้นมลูกในที่สาธารณะ การสนับสนุนให้มีสื่อความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวให้มีความหลากหลายเพื่อรองรับการเข้าถึงของมารดาและครอบครัว และการออกกฎหมายให้มีการลาพักหลังคลอดเพิ่มขึ้นโดยมีการจ่ายค่าตอบแทนระหว่างการลาพัก 1 ซึ่งพบว่ามีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวสูงในประเทศที่มีการลาพักอย่างน้อยหกเดือน
เอกสารอ้างอิง
Rimes KA, Oliveira MIC, Boccolini CS. Maternity leave and exclusive breastfeeding. Rev Saude Publica 2019;53:10.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การที่มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในหกเดือนแรก หมายถึง การที่มารดาให้ลูกกินเฉพาะนมแม่อย่างเดียว ไม่มีการให้สารน้ำหรืออาหารอย่างอื่น ได้แก่ น้ำ น้ำชา น้ำข้าว น้ำสมุนไพร น้ำผลไม้ หรือ อาหารอ่อน เช่น กล้วยบด ผลไม้ที่นิ่มหรืออ่อนอื่น ๆ โจ๊กหรือข้าวต้ม ซึ่งในความเข้าใจของมารดาและครอบครัว อาจมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ทำให้มีการให้สารน้ำหรืออาหารอย่างอื่นนอกจากนมแม่ในช่วงหกเดือนแรกและทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดือนในหกเดือนแรกต่ำได้ 1 การให้คำอธิบายแก่มารดาและครอบครัว ให้เวลาอย่างพอเพียงที่จะสร้างความเข้าใจถึงความหมายของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว คำสำคัญและประโยชน์ของการให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียว จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้นอกจากนี้การให้ความสำคัญแก่ครอบครัวหรือบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการที่มารดาจะให้ลูกกินนมแม่ โดยอาจแนะนำให้มีการร่วมอบรมพร้อมกับมารดาเพื่อให้มีความเข้าใจหรือมีทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะทำให้เกิดการสนับสนุนการให้นมแม่แก่ลูกได้ดีขึ้น
เอกสารอ้างอิง
Ramani S, Shaikh N, Das S, Pantvaidya S, Fernandez A, Jayaraman A. “Everybody breastfeeds if they have milk”: factors that shape exclusive breastfeeding practices in informal settlements of Mumbai, India. Int Breastfeed J 2019;14:10.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การใช้ยาขึ้นอยู่กับโรคของทารก แต่ปัจจัยที่มีผลต่อผลของการยามีหลายอย่าง ได้แก่ พันธุกรรม อายุของผู้ใช้ยา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากอาหารการกินของผู้ใช้ยา ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นทารก อาหารหลักของทารกคือนมแม่จึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงด้วย มีรายงานกรณีผู้ป่วยตัวอย่างที่เป็นทารกที่เป็นโรคเกาเชอร์ (Guacher’s disease) ซึ่งเป็นโรคที่เป็นโรคพันธุกรรมที่มีความผิดปกติในการย่อยสลายไขมันในเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด macrophage และ monocyte ทำให้มีไขมันสะสมในเซลล์เหล่านี้และเกิดโรค เนื่องจากเซลล์เหล่านี้จะมีอยู่ในตับ ม้าม และไขกระดูกมาก ดังนั้น จะทำให้มีอาการตับ ม้ามโต กระดูกบาง ปวดกระดูก เจริญเติบโตช้า เมื่อทารกจำเป็นต้องมีการใช้ยา taliglucease alfa ในทารกที่ให้นมแม่ จากการตรวจวัดระดับเอนไซม์ในนมแม่พบว่า อาจไม่มีข้อห้ามในการใช้ยานี้1 นี่แสดงถึงผลของชนิดของอาหารที่มีผลต่อการใช้ยา อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ยังต้องการการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในอนาคต
เอกสารอ้างอิง
Paskulin L, Dornelles AD, Quevedo A, et al. Breastfeeding in patients with Gaucher disease: Is taliglucerase alfa safe? Mol Genet Metab Rep 2019;18:30-1.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)