คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

ประโยชน์ของการนัดติดตามหลังคลอดในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             ในช่วงหลังคลอดใหม่ มารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยเฉพาะในมารดาที่คลอดลูกคนแรก ยังขาดประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาจพบปัญหาหรืออุปสรรคที่ทำให้มารดาต้องหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะแนะนำให้นัดมารดามาติดตามหลังคลอดเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์เพื่อที่จะสอบถาม ให้คำปรึกษาและติดตามการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการนัดติดตามมารดาหลังคลอดในช่วง 2-3 สัปดาห์กับช่วง 6-8 สัปดาห์ โดยมีการติดตามผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่หกเดือนหลังคลอดพบว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ระหว่างสองกลุ่มไม่แตกต่างกันในระหว่างการนัดติดตามเร็วและช้า1 อย่างไรก็ตาม การที่จะสรุปผลประโยชน์ของการนัดติดตามหลังคลอดเร็วนั้น ช่วงระยะเวลาที่นัดและช่วงเวลาที่วัดผลจะส่งผลต่อผลลัพธ์ที่ได้ว่าจะมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ดังนั้น จำเป็นจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคตเพื่อให้ได้ความชัดเจนหรือสรุปผลได้ด้วยความมั่นใจ

เอกสารอ้างอิง

  1. Abbott JL, Carty JR, Hemman E, Batig AL. Effect of Follow-Up Intervals on Breastfeeding Rates 5-6 Months Postpartum: A Randomized Controlled Trial. Breastfeed Med 2019;14:22-32.

 

ความรู้สึกของมารดาต่อการใช้ยาในระหว่างการให้นมลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์และให้นมลูก การได้รับยาอาจทำให้เกิดความเสี่ยงหรือผลเสียต่อทารกในครรภ์หรือทารกที่ได้รับการให้นมแม่ มีการศึกษาถึงความรู้สึกของมารดาต่อการใช้ยาในระหว่างการตั้งครรภ์หรือการให้นมลูกในประเทศสวีเดนพบว่า มารดาจะมีความรู้สึกและการรับรู้ว่ามีความเสี่ยงหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากใช้ยาเมื่อมารดาจำเป็นต้องใช้ยาในระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมลูก1 อย่างไรก็ตาม มารดาที่ใช้ยาจากการศึกษามีความเชื่อมั่นต่อคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์เมื่อมีการใช้ยา ดังนั้น จากข้อมูลเหล่านี้น่าจะนำไปช่วยในการวางแผนของบุคลากรทางการแพทย์ในการแนะนำหรือให้ความรู้เรื่องการใช้ยาที่ถูกต้องและเพียงพอแก่มารดาและครอบครัวเมื่อมารดามีความจำเป็นต้องใช้ยาในระหว่างการตั้งครรภ์และการให้นมลูก เพื่อลดความวิตกกังวลเรื่องอันตรายจากการใช้ยาซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Wolgast E, Lindh-Astrand L, Lilliecreutz C. Women’s perceptions of medication use during pregnancy and breastfeeding – a Swedish cross-sectional questionnaire study. Acta Obstet Gynecol Scand 2019.

คู่สามีภรรยาที่มีเชื้อชาติต่างกันมีผลต่อการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             เชื้อชาติเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เนื่องจากมีค่านิยม ธรรมเนียมปฏิบัติ และความเชื่อที่ได้มีการปลูกฝัง ทำให้มีผลต่อการเลือกปฏิบัติก็คือ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า หากคู่สามีภรรยามีเชื้อชาติที่แตกต่างกันยังส่งผลให้มีการลดลงของการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ซึ่งการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ลดลงมีผลทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงด้วย ซึ่งเหตุผลที่อธิบายการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ลดลงอาจเป็นจากคู่สามีภรรยาที่มีเชื้อชาติที่แตกต่างกัน มีค่านิยม ธรรมเนียมปฏิบัติ และความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดความคิดเห็นเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แตกต่างกันหรือมีความขัดแย้งกัน ทำให้การตัดสินใจในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้าหรือลดลง ดังนั้น หากบุคลากรทางการแพทย์พบคู่สามีภรรยาที่มีเชื้อชาติต่างกัน การให้ความรู้แก่ทั้งมารดาและสามีให้มีความรู้ ทัศนคติที่มีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เหมือนกัน จะช่วยลดผลเสียที่มีผลมาจากความเสี่ยงของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงจากการมีเชื้อชาติที่แตกต่างกันของคู่สามีภรรยาได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Wallenborn JT, Chambers GJ, Scialli A, Orekoya O, Masho SW. Interracial couples and breastfeeding initiation in the United States. Prev Med 2019;120:140-3.

ปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในชุมชนที่ห่างไกล

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               ปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีหลายด้าน ทั้งทางด้านการแพทย์ ด้านจิตใจ ด้านพื้นฐานทางสังคม ความรู้ ความเชื่อ และค่านิยมต่าง ๆ แต่หากจำเพาะไปที่ปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในชุมชนที่ห่างไกล มีการศึกษาในเอธิโอเปียพบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ ได้แก่ ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การคลอดในสถานพยาบาล ความเข้าใจในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวของมารดา ความเชื่อและค่านิยมผิด ๆ เกี่ยวกับการให้นมลูก และการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากสามีและคนในครอบครัว1 โดยปัจจัยที่มีความสัมพันธ์สูงสุดยังคงเป็นความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งความรู้ที่มีเพียงพอจะลดปัจจัยความเชื่อที่ไม่เหมาะสมหรือค่านิยมผิด ๆ ดังนั้น การที่จะทำให้มารดามีความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่พอเพียง การจัดการอบรมให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากบุคลากรทางการแพทย์ในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอด น่าจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้     

เอกสารอ้างอิง

  1. Tsegaye M, Ajema D, Shiferaw S, Yirgu R. Level of exclusive breastfeeding practice in remote and pastoralist community, Aysaita woreda, Afar, Ethiopia. Int Breastfeed J 2019;14:6.

 

 

 

การขาดสารอาหารของมารดาที่ให้ทารกที่กินนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ปกตินมแม่จะมีสารอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของทารก แต่หากมารดามีภาวะขาดอาหาร ก็อาจส่งผลต่อสารอาหารในนมแม่จนทำให้ทารกมีการขาดสารอาหารได้ มีการพบการขาดสารอาหารในมารดาร้อยละ 17.4 โดยพบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการขาดสารอาหารในมารดา ได้แก่ ระยะเวลาที่สั้นในการเว้นระยะจากการตั้งครรภ์ครั้งก่อน การที่มารดาทำงานหรือมีภาระงานที่หนัก การมีอาหารในบ้านที่ขาดความปลอดภัย การไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการรับประทานอาหารที่พอเพียง และการที่มารดามีพื้นฐานความรู้ต่ำ1 ดังนั้น การให้คำปรึกษาที่เหมาะสมและเพียงพอของบุคลากรทางการแพทย์แก่มารดาในระหว่างการตั้งครรภ์จนถึงระยะให้นมลูกจะช่วยให้มารดามีความรู้และเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องรับประทานอาหารให้เหมาะสมและเพียงพอในระหว่างที่ให้นมลูก จะช่วยลดปัญหาของการเกิดการขาดสารอาหารในทารกที่กินนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Tikuye HH, Gebremedhin S, Mesfin A, Whiting S. Prevalence and Factors Associated with Undernutrition among Exclusively Breastfeeding Women in Arba Minch Zuria District, Southern Ethiopia: A Cross-sectional Community-Based Study. Ethiop J Health Sci 2019;29:913-22.