รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การใช้เครื่องจำลองถึอเป็นวิธีการฝึกทักษะอย่างหนึ่งในการเรียนรู้ เช่น การใช้เครื่องจำลองในการฝึกบินที่จะช่วยสร้างทักษะในการบินให้แก่นักบิน ซึ่งการนำมาใช้ในการฝึกทักษะที่ช่วยในเรื่องการสร้างสุขภาพก็น่าจะเป็นประโยชน์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการศึกษาในประเทศอินโดนีเซียถึงการใช้เครื่องจำลองในการให้นมแม่เพื่อช่วยฝึกทักษะการให้นมแม่แก่มารดาพบว่า มารดาที่ได้ฝึกเครื่องจำลองการให้นมแม่มีทักษะที่ดีกว่ามารดากลุ่มควบคุม ซึ่งก็คือการใช้เครื่องจำลองการให้นมแม่สามารถช่วยฝึกทักษะการให้นมแม่แก่มารดาได้ 1 ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเครื่องมือจำลองเพื่อฝึกทักษะทางด้านการสร้างสุขภาด น่าจะเป็นประโยชน์ในยุคที่บุคลากรทางการแพทย์มีความขาดแคลนโดยเฉพาะ “พยาบาลวิชาชีพ”
เอกสารอ้างอิง
Agrina, Sabrian F, Zulfitri R, Arneliwati, Herlina, Pristiana Dewi A. The effectiveness of simulation health education to mother breastfeeding skill between two groups in rural area of Riau, Indonesia. Enferm Clin 2019;29 Suppl 1:9-12.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในยุคที่การสื่อสารไร้พรมแดน การเสพสื่อต่าง ๆ ในคนยุคใหม่เริ่มเคลื่อนย้ายจากสื่อทีวีมาเป็นสื่อที่ผ่านอินเตอร์เน็ตในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะเห็นจากการที่คนในยุคใหม่ดูทีวีจากเครื่องรับทีวีน้อยลง แต่จะใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือมากขึ้น แม้จะดูเนื้อหาจากรายการทีวียังดูผ่านอินเตอร์เน็ต เนื่องจากสามารถดูย้อนหลังหรือดูซ้ำ ๆ ได้ ดังนั้น การพัฒนาสื่อความรู้ทางสุขภาพผ่านการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตจากโทรศัพท์มือถือจึงน่าจะมีบทบาทสร้างความเข้าถึงในคนยุคใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแอฟริกาใต้ได้มีการพัฒนาสื่อวิดีโอความรู้ที่บันเทิง (entertainment-education) เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ผ่านอินเตอร์เน็ตจากโทรศัพท์มือถือพบว่าสามารถเข้าถึงชุมชนและครอบครัวได้มากขึ้น 1 ดังนั้น การพัฒนาสื่อความรู้สุขภาพในปัจจุบันและอนาคตควรพัฒนาให้เข้ากับพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้รับสาร เพื่อให้เกิดการเข้าถึง การรับรู้ และเป็นประโยชน์อย่างสูงสุด
เอกสารอ้างอิง
Adam M, Tomlinson M, Le Roux I, et al. The Philani MOVIE study: a cluster-randomized controlled trial of a mobile video entertainment-education intervention to promote exclusive breastfeeding in South Africa. BMC Health Serv Res 2019;19:211.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
โรคหอบหืดเป็นโรคที่เกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ เป็นที่ทราบกันดีว่า การให้ลูกได้กินนมแม่จะช่วยให้ลูกมีภูมิคุ้มกันที่ดีและยังช่วยให้ควบคุมให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเป็นปกติ มีการศึกษาพบว่า การให้ลูกได้กินนมแม่นานอย่างน้อย 6 เดือน จะช่วยลดการเกิดหอบหืด หรือในกรณีที่เกิดหอบหืด การเริ่มเกิดอาการหอบหืดเกิดช้าลง โดยพบประโยชน์ของนมแม่ต่อหอบหืดในเด็กที่มีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากอาการหอบหืดรุนแรงน้อยกว่าสองครั้ง1 สำหรับกลไกที่ทำไมจึงช่วยลดการเกิดของหอบหืดในเด็กที่มีจำนวนครั้งของการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากหอบหืดที่รุนแรงน้อยกว่านั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป เพื่ออธิบายกลไกที่ชัดเจนในการช่วยลดการเกิดอาการหอบหืดของทารกจากกระบวนการการกินนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Abarca NE, Garro AC, Pearlman DN. Relationship between breastfeeding and asthma prevalence in young children exposed to adverse childhood experiences. J Asthma 2019;56:142-51.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า การที่มารดามีภาวะซึมเศร้าจะก่อให้เกิดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องนี้พบว่า หากมารดามีภาวะซึมเศร้าในช่วงตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 ก่อนการคลอดจะส่งผลให้มารดามีการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า แต่หากพบว่ามารดามีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจะมีผลต่อระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพบว่ามารดาจะมีระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สั้นลง 1 ดังนั้น การใส่ใจ ให้การสังเกต และการสอบถามเรื่องภาวะจิตใจของมารดาจากบุคลากรทางการแพทย์จึงมีความจำเป็น เพราะหากมีการสงสัยว่ามารดามีภาวะซึมเศร้า การเริ่มการตัดคัดกรอง และให้การวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก จะทำให้มารดาได้รับคำปรึกษาและได้รับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Abdul Raheem R, Chih HJ, Binns CW. Maternal Depression and Breastfeeding Practices in the Maldives. Asia Pac J Public Health 2019;31:113-20.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
เมื่อมีงานวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของสามีในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น จึงมีการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบถึงบทบาทของสามีกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งพบว่าการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของสามีเป็นผลดีต่อระยะเวลาและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว โดยการอบรมให้ความรู้แก่สามีเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แบบให้คำปรึกษาแบบต่อหน้า (face-to-face) จะให้ผลดีกว่า 1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความสำคัญแก่สามีโดยให้ความรู้และคำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ ในประเทศไทยที่เป็นครอบครัวใหญ่ การให้ความรู้แก่ปู่ย่า ตายายหรือคนในครอบครัวยังเป็นผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย
เอกสารอ้างอิง
Abbass-Dick J, Brown HK, Jackson KT, Rempel L, Dennis CL. Perinatal breastfeeding interventions including fathers/partners: A systematic review of the literature. Midwifery 2019;75:41-51.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)