รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
กฎหมายที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยมีอยู่หลายฉบับ แต่บางครั้งชื่อก็ไม่สื่อและการบังคับใช้ไม่เข้มงวด การตื่นตัวในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ยังมีน้อย ยกตัวอย่าง ข้อบัญญัติเกี่ยวกับการให้ลาพักหลังคลอด ก็ยังมีความเข้าใจจากชื่อเป็นหลักว่า ให้ลาพักหลังการคลอดบุตร ซึ่งทำให้เข้าใจไปว่าหากพักฟื้นจนแข็งแรงดี อาจกลับมาทำงานได้ก่อนระยะเวลาที่ลาพักหลังคลอด ทั้งที่ความจริงกฏหมายนี้ให้ลาพักหลังคลอด การฟักฟื้นร่างกายจากการคลอดเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น บทบาทอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญในการลาพักหลังคลอดคือการสนับสนุนให้ลูกมีโอกาสได้กินนมแม่ให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งการลาพักหลังคลอดของข้าราชการสามารถลาพักได้สามเดือนโดยได้รับเงินเดือน ขณะที่ในหลาย ๆ ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น เวียดนามและพม่า ให้ลาพักหลังคลอดหกเดือน ซึ่งเป็นถือเป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน นอกจากนี้ ยังมีกฏหมายเกี่ยวข้องกับการตลาดของนมผงที่หลายภาคส่วนในสังคมอาจยังไม่เข้าใจถึงเนื้อหาและความจำเป็นที่ต้องออกเรื่องการตลาดของนมผงมาเป็นกฎหมาย มีการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการตื่นตัวเรื่องกฎหมายและข้อบัญญัติเกี่ยวกับการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสหรัฐอเมริกาก็พบเช่นเดียวกันคือมีความตื่นตัวต่ำ1 ดังนั้น การรณรงค์ให้คนในสังคมเข้าใจถึงเจตจำนงของกฎหมายที่ออกมานั้นจึงมีความสำคัญทั้งในแง่ของการทำให้ประชาชนเต็มใจปฏิบัติและในแง่ที่จะให้ความเข้มงวดในเรื่องการบังคับใช้ ซึ่งจะให้ผลดีต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เต็มที่อย่างที่เจตจำนงของกฎหมายได้ตั้งใจ
เอกสารอ้างอิง
Anderson AK, Johnson E, Motoyasu N, Bignell WE. Awareness of Breastfeeding Laws and Provisions of Students and Employees of Institutions of Higher Learning in Georgia. J Hum Lact 2019;35:323-39.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ไมเกรน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในสตรีซึ่งรวมถึงในมารดาที่ตั้งครรภ์หรือให้นมลูกด้วย โดยในสตรีบางคนอาจสงสัยโรคไมเกรนจากอาการที่เป็น และเชื่อมั่นว่าตนเองเป็นไมเกรน อาจจะทำการรักษาเบื้องต้นจากการซื้อยามารับประทานเองโดยปราศจากการให้การวินิจฉัยจากแพทย์ มีการสำรวจความรู้สึกและความเชื่อของมารดาที่เป็นไมเกรนเมื่อต้องได้รับการรักษาด้วยยาพบว่า มารดามีความเชื่อและความวิตกกังวลหรือกลัวที่จะต้องได้รับยาจากการรักษาไมเกรนในระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมลูก1 ทำให้มารดาบางคนอาจต้องทุกข์ทรมานจากอาการไมเกรนโดยการเลือกที่จะทนและไม่ใช้ยาในการรักษาในระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมลูก ซึ่งหากการที่มารดาต้องทนแล้วทำให้เกิดอาการเครียด ความเครียดนี้อาจส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่าการเลือกที่จะใช้ยา ดังนั้น หากบุคลากรทางการแพทย์มีความเข้าใจในการรับรู้และความเชื่อของมารดาที่เป็นไมเกรน การให้คำปรึกษา ให้เวลา อธิบายให้มารดาเข้าใจถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ก็จะทำให้การดูแลอาการไมเกรนในระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมลูกมีความเหมาะสมและมีผลกระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยที่สุด
เอกสารอ้างอิง
Amundsen S, Ovrebo TG, Amble NMS, Poole AC, Nordeng H. Risk perception, beliefs about medicines and medical adherence among pregnant and breastfeeding women with migraine: findings from a cross-sectional study in Norway. BMJ Open 2019;9:e026690.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์มีผลต่อการรับรู้ข่าวสารต่าง ๆ ของคนในสังคมเป็นอย่างมาก และโทรศัพท์มือถืออาจเรียกว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ที่มีความจำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ในยุคที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การเข้าสังคมในชีวิตจริงได้ผสานกับเครือข่ายสังคมเหมือนจริงในโลกเสมือนที่มีอยู่ในหลากหลายเครือข่ายที่นิยมได้แก่ ไลน์ (Line) เฟสบุ๊ก (Facebook) ทวิตเตอร์ (Twitter) ลิงก์อิน (LinkedIn) สไกป์ (Skype) เป็นต้น ซึ่งหากมองเครื่องมือนี้มาใช้ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เครื่องมือนี้สามารถเชื่อมโยงผู้ให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ทั้งแบบที่สามารถจะมองเห็นหน้าหรือท่าทางผ่านการถ่ายทอดระบบวิดีโอ หรือระบบสื่อสารผ่านเสียง หรือระบบสื่อสารผ่านตัวอักษร 1 หากบุคลากรทางการแพทย์สามารถนำมาสร้างเป็นเครือข่ายสังคมในโลกเสมือนจริงเพื่อให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อรองรับมารดายุคเทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดน ความใกล้ชิด การเข้าถึงข้อมูลทั้งในเรื่องความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ปัญหาและอุปสรรคเบื้องต้นที่หากมารดามีความเข้าใจแล้ว สามารถจะนำไปปฏิบัติหรือดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อการสร้างโอกาสให้ลูกได้มีสุขภาพที่ดีจากการได้กินนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Alianmoghaddam N, Phibbs S, Benn C. “I did a lot of Googling”: A qualitative study of exclusive breastfeeding support through social media. Women Birth 2019;32:147-56.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ความมั่นใจในตนเองว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มีผลดีต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนม โดยทั่วไปมารดามักนอนหลับไม่เพียงพอในระยะหลังคลอดซึ่งอาจมีผลทำให้น้ำนมมารดาลดลงได้ เนื่องจากหลังคลอดใหม่ ๆ ทารกจะตื่นกินนมแม่บ่อย หากมารดาพักผ่อนไม่เพียงพอก็อาจส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และลดความมั่นใจในตนเองว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ 1 โดยมีการศึกษาที่ยืนยันถึงความสัมพันธ์นี้ที่พบว่า มารดาที่นอนหลับไม่เพียงพอสัมพันธ์กับการลดความมั่นใจในตนเองว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ดังนั้น ข้อแนะนำที่ควรให้แก่มารดา คือ ขณะที่ลูกนอน แม่ควรนอนด้วย ซึ่งหากมารดาปฏิบัติได้ดังนี้ คุณภาพของการนอนที่มารดารู้สึกว่าเพียงพอก็จะดีขึ้นและส่งผลดีต่อความมั่นใจในการกเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย
เอกสารอ้างอิง
Aksu A, Vefikulucay Yilmaz D. The relationship of postpartum sleep quality and breastfeeding self-efficacy of Turkish mothers. Scand J Caring Sci 2019.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด โดยเฉพาะภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดเป็นผลดีโดยส่งผลทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้นและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยาวนานขึ้น มีการศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกพบว่า การคลอดปกติจะช่วยส่งเสริมการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรก ขณะที่การผ่าตัดคลอดเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรก นอกจากนี้ ยังพบว่า การที่มารดามีความรู้เกี่ยวกับเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ระดับการศึกษาของมารดาที่สูง และการที่มารดามีที่อยู่ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกตั้งแต่ในระยะแรกด้วย 1 ดังนั้น หากบุคลากรเข้าใจถึงปัจจัยที่ส่งเสริมและเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกได้ดี จะทำให้สามารถคัดกรองมารดาที่มีความเสี่ยงต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้าได้ ทำให้สามารถวางแผน ให้คำปรึกษาและติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คู่มารดาและทารกมีผลลัพท์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีขึ้น
เอกสารอ้างอิง
Ahmed AE, Salih OA. Determinants of the early initiation of breastfeeding in the Kingdom of Saudi Arabia. Int Breastfeed J 2019;14:13.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)