คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

มารดาที่ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ปัจจุบันอายุของคู่สามีภรรยาที่แต่งงานกันมีแนวโน้มที่จะมีอายุที่มากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นปัญหาเรื่องการมีบุตรยากก็พบเพิ่มขึ้น แนวโน้มของการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ก็เพิ่มขึ้นตามมา เป็นที่ทราบกันดีว่า การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์แม้พยายามจะใช้กลไกที่เลียนแบบธรรมชาติ แต่การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการเทคโนโลยีที่ช่วยเหล่านี้พบมีภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์และคลอดเพิ่มขึ้น เริ่มจากอัตราการแท้ง อัตราการคลอดก่อนกำหนด อัตราการเกิดครรภ์แฝด อัตราการผ่าตัดคลอด และการตกเลือดหลังคลอดที่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สืบเนื่องต่อจากภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ดังนั้น ภาวะแทรกซ้อนที่เพิ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์และคลอดจึงส่งผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยทำให้มารดาเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า หรือทารกต้องย้ายไปอยู่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต ทำให้ต้องมีการแยกทารกจากมารดา สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งส่งผลทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดากลุ่มนี้ต่ำ1 การคัดกรองมารดาในกลุ่มนี้โดยจัดเป็นกลุ่มเสื่ยงต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร จัดการให้การดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด จะช่วยให้มารดาผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้โดยทารกมีโอกาสได้กินนมแม่สูงขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Barrera CM, Kawwass JF, Boulet SL, Nelson JM, Perrine CG. Fertility treatment use and breastfeeding outcomes. Am J Obstet Gynecol 2019;220:261 e1- e7.

ความรู้และทัศนคติเของบุลากรทางการแพทย์มีผลต่อการกินนมแม่ที่ยาวนานขึ้นของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ทัศนคติของบุคคลใดบุคคลหนึ่งจะมีผลต่อการปฏิบัติของบุคคลนั้น ซึ่งทัศนคติหรือมุมมองต่อเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะมีพื้นฐานมาจากความรู้ในเรื่องการเลี้ยงลุกด้วยนมแม่นั่นเอง ดังนั้น ความรู้และทัศนคติจึงมีความเชื่อมโยงกันและส่งผลต่อการปฏิบัติ ซึ่งหากเป็นเรื่องของนมแม่ก็จะมีผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และระยะเวลาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ บุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ที่มีความสำคัญในการถ่ายทอดความรู้และสร้างทัศนคติที่ดีของมารดาต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งมีการศึกษาพบว่า บุคลากรทางการแพทย์ยังมีความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของนมแม่ที่ทารกควรจะกินนานเกินหนึ่งปีต่ำ โดยการที่บุคลากรขาดความรู้ก็จะสัมพันธ์กับการมีทัศนคติที่จะส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานเกินหนึ่งปีน้อย ซึ่งมีผลทำให้ระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เกินหนึ่งปีพบต่ำเช่นกัน1 การที่จะช่วยส่งเสริมให้มารดามีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ยาวนานขึ้นจึงควรมีการวางแผนที่จะอบรมให้บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของการกินนมแม่ที่นานเกินหนึ่งปีก่อน เพราะบุคลากรทางการแพทย์จะเป็นกลไกที่สำคัญในการเสริมสร้างความรู้และทัศนคติที่ดีต่อการกินนมแม่ที่นานเกินหนึ่งปี ยิ่งไปกว่านั้น หากบุคลากรทางการแพทย์ได้ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างก็จะยิ่งสร้างความน่าเชื่อถือในการให้คำปรึกษายิ่งขึ้น ผลลัพธ์ก็จะทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามที่องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าหมายไว้สูงขึ้นและทารกก็จะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี

เอกสารอ้างอิง

  1. Baranowska B, Malinowska M, Stanaszek E, et al. Extended Breastfeeding in Poland: Knowledge of Health Care Providers and Attitudes on Breastfeeding Beyond Infancy. J Hum Lact 2019;35:371-80.

 

 

 

การให้การดูแลช่วงหลังคลอดเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                    การที่มารดาจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากการที่มารดามีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และได้รับการอบรมเกี่ยวกับความสำคัญและความจำเป็นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงระหว่างการฝากครรภ์แล้ว ช่วงของการดูแลมารดาในระยะหลังคลอดยังเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว1 เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นของการปฏิบัติจริง หากมารดาสามารถเริ่มต้นให้ลูกกินนมแม่ได้อย่างถูกต้อง ปัญหาที่พบบ่อยที่ทำให้มารดาหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร ได้แก่ การเจ็บหัวนมหรือเต้านม ก็จะพบน้อยลงด้วย ซึ่งมีผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว นอกจากนี้สถานที่คลอดที่เป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกและการคลอดโดยบุคลากรทางการแพทย์ก็ยังมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวด้วย ดังนั้น แม้ว่าในระยะต่าง ๆ ของการตั้งครรภ์และการคลอดมีความสำคัญ แต่ระยะเริ่มต้นของการกินนมแม่ในระยะหลังคลอดก็ยังเป็นส่วนที่บุคลากรทางการแพทย์ควรเน้นและเอาใจใส่ โดยให้ทารกได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อและมีการเริ่มต้นการกินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด

เอกสารอ้างอิง

  1. Azeze GA, Gelaw KA, Gebeyehu NA, Gesese MM, Mokonnon TM. Exclusive Breastfeeding Practice and Associated Factors among Mothers in Boditi Town, Wolaita Zone, Southern Ethiopia, 2018: A Community-Based Cross-Sectional Study. Int J Pediatr 2019;2019:1483024.

 

การให้ลูกกินนมแม่ช่วยลดความเจ็บปวดของทารกจากการเจาะเลือดได้ดี

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               การที่มารดาให้นมลูก ทารกจะรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย ขณะเดียวกันยังสามารถช่วยลดความเจ็บปวดของทารกจากการทำหัตถการได้ดี มีการศึกษาเปรียบเทียบความเจ็บปวดของทารกจากการเจาะเลือดที่ส้นเท้าระหว่างทารกที่กินนมแม่ขณะเจาะเลือดกับทารกที่ใช้วิธีลดความเจ็บปวดโดยให้ความอบอุ่นแก่ส้นเท้าทารกพบว่า วิธีการลดความเจ็บทั้งสองวิธีช่วยลดความเจ็บปวดของทารกได้ แต่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วการให้ทารกกินนมแม่ขณะเจาะเลือดช่วยลดความเจ็บปวดของทารกได้ดีกว่า1 ดังนั้น หากบุคลากรทางการแพทย์ให้ข้อมูลเหล่านี้แก่มารดา การให้ลูกกินนมแม่อาจจะเป็นทางเลือกแรกที่มารดาต้องการให้ทารกมีความเจ็บปวดน้อยที่สุดในการเจาะเลือด

เอกสารอ้างอิง

  1. Aydin D, Inal S. Effects of breastfeeding and heel warming on pain levels during heel stick in neonates. Int J Nurs Pract 2019:e12734.

การเยี่ยมบ้านช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               มารดาหลังคลอดโดยทั่วไปจะมีการสอนและฝึกทักษะการให้นมลูก แต่ปัจจุบันมักนิยมที่จะให้มารดากลับบ้านได้เร็ว ซึ่งส่วนใหญ่จะให้กลับบ้านราว 1-2  วันหลังคลอด ดังนั้นในมารดาบางคนอาจยังฝึกทักษะการให้นมลูกได้ยังไม่ดีพอ หรือยังขาดทักษะการบีบเก็บน้ำนม จึงมีความจำเป็นต้องมีการนัดติดตามมารดาหลังคลอด หรือเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามสนับสนุนมารดาให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ โดยอาจช่วยมารดาแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคที่มารดาพบเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน การเยี่ยมบ้านจึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้น1 โดยการเยี่ยมบ้านอาจทำโดยบุคลากรของโรงพยาบาลหรือเครือข่ายสาธารณสุขในชุมชนขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละสถานพยาบาลที่มีเครือข่ายในชุมชน สำหรับในประเทศไทย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลหรือเดิมเรียกว่า สถานีอนามัย โดยทั่วไปจะเป็นผู้รับผิดชอบในการติดตามเยี่ยมบ้านในชุมชน ซึ่งการส่งต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลที่ทำการคลอดให้กับมารดาและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลควรมีการประสางานกัน เพื่อให้การส่งต่อข้อมูลครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพรวมของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในชุมชนชัดเจนและมีส่วนช่วยในการวางแผนพัฒนาเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Arbour M, Mackrain M, Fitzgerald E, Atwood S. National Quality Improvement Initiative in Home Visiting Services Improves Breastfeeding Initiation and Duration. Acad Pediatr 2019;19:236-44.