คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

ส่วนประกอบของนมแม่มีผลต่อภูมิคุ้มกัน การเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในอดีตมีการศึกษาเรื่องส่วนประกอบของนมแม่น้อย และสารอาหารส่วนใหญ่ในนมแม่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการรับประทานอาหารของมารดารวมทั้งพลังงานที่ได้รับจากนมแม่ จึงมักมีความเข้าใจว่าการเจริญเติบโต พัฒนาการ และภูมิคุ้มกันของทารกขึ้นอยู่กับปริมาณการกินนมแม่ของทารกโดยขาดการพูดถึงรายละเอียดของส่วนประกอบของนมแม่ แต่ต่อมา เมื่อมีการศึกษาถึงส่วนประกอบของนมแม่ว่ามีความสำคัญต่อทารกอย่างไร จึงพบว่า ส่วนประกอบของนมแม่ก็มีผลต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ และภูมิคุ้มกันของทารกด้วย โดยมีการศึกษาถึงสารประกอบ adiponectin, leptin และ casein ที่สร้างจากลำไส้เล็กและเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความอิ่มที่มีอยู่ในนมแม่จะมีความสัมพันธ์กับน้ำหนักทารก การเจริญเติบโตตามกราฟการเจริญเติบโตและพัฒนาการสัดส่วนของสารประกอบในร่างกายทารก ขณะที่มีการศึกษาถึงสารประกอบในนมแม่ที่พาสเจอร์ไรซ์พบ lactoferrin ลดลง ซึ่งปริมาณ lactoferrin ในนมแม่มีความสัมพันธ์กับภูมิคุ้มกันของทารกในการป้องกันการติดเชื้อ1 ดังนั้นในปัจจุบัน เราจึงควรให้ความสนใจว่า การให้นมแม่นั้น ควรให้ทารกได้รับทั้งปริมาณที่พอเพียงและส่วนประกอบของนมแม่ที่ครบถ้วน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านการเจริญเติบโต พัฒนาการ และภูมิคุ้มกันโรค

เอกสารอ้างอิง

  1. Geddes D, Perrella S. Breastfeeding and Human Lactation. Nutrients 2019;11.

ส่วนประกอบของนมแม่เปลี่ยนแปลงไปตามอาหารที่มารดารับประทานหรือไม่

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                โดยทั่วไป ความเชื่อของมารดาเกี่ยวกับอาหารที่รับประทานกับสารอาหารในนมแม่ก็คือ หากมารดารับประทานอะไร ลูกที่กินนมแม่ก็มักจะได้รับสารอาหารเช่นเดียวกันกับมารดาที่รับประทานอาหารนั้น ซึ่งในความเชื่อนี้ส่วนใหญ่ถูกต้อง เนื่องจากอาหารหรือสิ่งที่มารดารับประทานเข้าไปจะได้รับการย่อยและดูดซึมเข้ากระแสเลือด ซึ่งจากกระแสเลือดก็จะมีการไหลผ่านไปที่ต่อมน้ำนม ซึ่งสารอาหารเหล่านั้นก็จะผ่านไปยังน้ำนมและเป็นส่วนหนึ่งของส่วนประกอบของน้ำนม แต่หากดูที่สารอาหารส่วนใหญ่และปริมาณพลังงานที่ทารกจะได้รับจากนมแม่แล้วพบว่า ส่วนประกอบของนมแม่ส่วนใหญ่และปริมาณพลังงานที่ทารกจะได้รับจากนมแม่นั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามอาหารที่มารดารับประทาน รวมทั้งหากมารดากินอาหารไม่ครบหมู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับมีภาวะทุพโภชนาการที่เรื้อรังแล้ว การผลิตนมแม่ก็ยังทำได้ดี โดยที่ส่วนประกอบของนมแม่ที่เป็นหลักรวมทั้งพลังงานที่ได้จากนมแม่ก็จะไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน สำหรับสารอาหารที่ร่างกายต้องการในปริมาณที่น้อยและกรดไขมันนั้น บางตัวจะขึ้นอยู่กับความครบถ้วนของสารอาหารที่มารดารับประทานเข้าไป1 หากมารดาอยู่ในพื้นที่ที่พบว่ามีความชุกของการขาดสารอาหารบางตัวบ่อย การแนะนำให้มารดารับประทานสารอาหารเพิ่มเติมในมารดาและทารกอาจมีความจำเป็น โดยที่ต้องมีการศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาที่จำเพาะในแต่ละพื้นที่ให้มีความเหมาะสมกับบริบทและความชุกของการขาดแคลนสารอาหารที่พบในพื้นที่นั้น ๆ      

เอกสารอ้างอิง

  1. Geddes D, Perrella S. Breastfeeding and Human Lactation. Nutrients 2019;11.

นมแม่ มีประโยชน์ต่อทารกและเต้านมแม่

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ประโยชน์ที่โดดเด่นของนมแม่ก็คือเรื่องของภูมิคุ้มกันที่จะช่วยป้องกัน ลดอันตรายและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อในทารก ซึ่งในช่วงวัยทารก การติดเชื้อของทางเดินอาหารเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้ทารกเสียชีวิต มีการศึกษาเรื่องภูมิคุ้มกันที่อยู่ในนมแม่ พบว่า ในนมแม่จะมีโปรตีนหลากหลายที่มีฤทธิ์ต่อต้านการติดเชื้อ โดยส่วนหนึ่งหลั่งมาจากเม็ดเลือดขาว ซึ่งจะพบมีปริมาณเพิ่มขึ้น หากมีการอักเสบหรือติดเชื้อที่เต้านม ดังนั้น นมแม่นอกจากจะช่วยในเรื่องภูมิคุ้มกันของทารกแล้ว ยังจะช่วยป้องกันการอักเสบหรือติดเชื้อของเต้านมด้วย1 เพิ่มเติมจากเรื่องที่นมแม่ป้องกันการติดเชื้อในทารกและเต้านม ยังมีการศึกษาที่พบว่า การให้ลูกกินนมแม่ ยังช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมได้ โดยมะเร็งเต้านมนับเป็นมะเร็งที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของสตรี ประโยชน์ของนมแม่ในการป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมนั้นมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาที่มารดาให้ลูกกินนมแม่ด้วย โดยยิ่งให้ลูกกินนมแม่นาน โอกาสที่จะเกิดมะเร็งเต้านมจะยิ่งลดลง                 

เอกสารอ้างอิง

  1. Geddes D, Perrella S. Breastfeeding and Human Lactation. Nutrients 2019;11.

 

นมแม่ สัญญาณรักที่มีความจำเพาะจากแม่สู่ลูก

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ตั้งแต่ในสมัยโบราณกาล การให้ลูกกินนมแม่นับเป็นหนทางทางธรรมชาติที่จะช่วยในการพัฒนาและการคงการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ มีทฤษฎีที่เชื่อว่า การกินนมแม่ของทารกตั้งแต่ในระยะแรกเกิดจนกระทั่งถึงอายุสองปีจะมีความสัมพันธ์กับการวางรากฐานของพัฒนาการและสุขภาพของทารกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และยังมีคำถามที่หลากหลายเกี่ยวกับส่วนประกอบของนมแม่ที่มีความแตกต่างกันในมารดาที่อยู่ในประเทศที่แตกต่างกัน สถานที่สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน อาหารการกินที่แตกต่างกัน การมีวิธีการคลอดที่แตกต่างกันและช่วงเวลาที่เก็บนมแม่ตรวจที่แตกต่างกัน รวมทั้งนมแม่ที่พบแตกต่างกันในทารกที่คลอดที่อายุครรภ์แตกต่างกันและที่มีเพศแตกต่างกันด้วย1 สิ่งนี้แสดงชัดถึงสิ่งหนึ่งคือ ความสา มารถพิเศษของการผลิตนมแม่ที่มีความจำเพาะที่จะมีความพอเหมาะสำหรับคู่มารดาและทารกในแต่ละคู่และในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งแม้นว่ายังขาดการอธิบายในรายละเอียดของกลไกการทำงานในการผลิตนมแม่ที่มีความจำเพาะนี้ แต่ที่แน่นอนคือนมแม่แสดงให้เห็นถึงสัญญาณรักจากมารดาที่มีความจำเพาะสำหรับบุตรที่ตนเองได้คลอดออกมา เพื่อสร้างโอกาสที่สูงที่สุดที่จะอยู่รอด มีสุขภาพและพัฒนาการที่ดีนั่นเอง

เอกสารอ้างอิง

  1. Geddes D, Perrella S. Breastfeeding and Human Lactation. Nutrients 2019;11.

 

 

 

ค่าปกติของเกลือแร่และน้ำตาลในกระแสเลือดของมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                มีคำถามและมีความน่าสนใจว่า เกลือแร่และน้ำตาลในกระแสเลือดของมารดาหลังคลอดที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเป็นอย่างไร มีค่าเหมือนกับสตรีปกติทั่วไปหรือไม่ คำตอบนี้ได้จากการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่า มารดาหลังคลอดที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจะมีค่าของเกลือแร่ โซเดียมสูงเพิ่มขึ้นจนสูงสุดที่สองวันหลังคลอด (142.3 +/- 2.8 mEq/L) และค่อย ๆ ลดลงกลับสู่ระดับปกติที่หกวันหลังคลอด ขณะที่ระดับน้ำตาลจะลดลงจนลดสูงสุดที่สองวันหลังคลอด (62.4 +/- 12.2 mg/dL) และค่อย ๆ เพิ่มจนเข้าสู่ค่าปกติที่หกวันหลังคลอด1 ซึ่งค่าเหล่านี้จะสอดคล้องกับน้ำหนักที่ลดลงเปลี่ยนแปลงของมารดาหลังคลอด คำอธิบายอาจจะเกิดจากกระบวนการการปรับตัวเพื่อเริ่มผลิตน้ำนม ที่ต้องการน้ำ ทำให้ระดับโซเดียมในกระแสเลือดสูงขึ้น และต้องการน้ำตาลเพื่อเป็นสารอาหารหลักในน้ำนม ดังนั้น การพิจารณาความผิดปกติของเกลือแร่และน้ำตาลในกระแสเลือดอาจต้องระบุช่วงเวลาและลักษณะการให้นมของมารดาประกอบการตัดสินใจด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Futatani T, Ina S, Shimao A, et al. Exclusive breastfeeding and postnatal changes in blood sodium, ketone, and glucose levels. Pediatr Int 2019.