คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

เศรษฐานะมีผลต่อระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ มีการแข่งขันสูง การสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน และให้ต่อเนื่องร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งครบสองปีอาจพบอุปสรรคจากเศรษฐานะของบิดามารดาของทารก เนื่องจากบิดามารดามักต้องกลับไปทำงานหลังจากการลาพักหลังคลอดบุตร ซึ่งทำให้บิดามารดาต้องตัดสินใจว่าจะให้ลูกกินนมแม่ต่อ หรือจะหยุดให้นมแม่เปลี่ยนเป็นนมผงดัดแปลงสำหรับทารก ซึ่งมีตัวอย่างการศึกษาจากประเทศจีนพบว่า มารดาที่มีฐานะปานกลางส่วนหนึ่งเลือกที่จะหยุดนมแม่และให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกแทน เนื่องจากสถานที่ทำงานมีการเอื้อต่อการที่จะบีบเก็บนมแม่น้อย (พบเพียงร้อยละ 2.6)1 ดังนั้น หากต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปฏิบัติของบิดามารดาในการที่จะคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตามข้อแนะนำ นอกจากการให้ความรู้และเปลี่ยนทัศนคติให้มีความเหมาะสมแล้ว การสนับสนุนให้เกิดมุมนมแม่หรือห้องเก็บนมแม่จากนโยบายของภาครัฐร่วมกับการบริหารจัดการองค์กรที่มีความรับผิดชอบและมีนโยบายในการช่วยเหลือสังคม (Social corporate responsibility) ของเอกชนน่าจะสร้างประโยชน์ที่เอื้ออำนวยให้มารดาสามารถผ่านอุปสรรคโดยสามารถคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้แม้ต้องกลับไปทำงาน

เอกสารอ้างอิง

  1. Chen C, Cheng G, Pan J. Socioeconomic status and breastfeeding in China: an analysis of data from a longitudinal nationwide household survey. BMC Pediatr 2019;19:167.

การนวดเต้านมมีประโยชน์หรือไม่

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ปัจจุบันมีความนิยมในเรื่องการนวดเต้านมกันมากขึ้น โดยมีการประกาศทางสื่อออนไลน์ถึงการจัดบริการนวดเต้านมหลังคลอดถึงที่บ้าน ซึ่งเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งในชุดการดูแลหลังคลอด คือ นอกจากจะมีการให้บริการการอยู่ไฟหลังคลอดแล้ว จะมีการให้บริการการนวดเต้านมรวมหรือจัดชุดแยกกันให้บริการด้วย โดยในโฆษณาจะเขียนถึงการนวดเต้านมเพื่อเปิดท่อน้ำนมและกระตุ้นน้ำนมให้มีเพิ่มขึ้น เราควรจะเชื่อหรือไม่

              หากมาดูถึงหลักฐานเชิงประจักษ์จากการศึกษาวิจัยที่มีการทบทวนและรวบรวมอย่างเป็นระบบพบว่า การนวดเต้านมมีประโยชน์ในการลดอาการปวดเต้านมเท่านั้น สำหรับข้อมูลในแง่การกระตุ้นน้ำนมยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากข้อมูลยังมีน้อยและมีความหลากหลายในรูปแบบหรือเทคนิคของวิธีการนวดเต้านม1 ดังนั้น ประโยชน์ที่ยอมรับกันในปัจจุบันของการนวดเต้านมคือการลดอาการปวดเต้านม จึงถือว่าเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในวิธีการรักษาอาการปวดเต้านม ซึ่งยังมีการรักษาในรูปแบบอื่น ๆ ได้แก่ การใช้ยาลดอาการปวด ยาแก้อักเสบ การประคบร้อน การใช้ลูกประคบ รวมถึงการกระตุ้นให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ ก็เป็นหนึ่งในวิธีลดอาการปวดเต้านมจากการตึงคัด การนวดเต้านมจึงไม่ได้เป็นวิธีที่ต้องทำในมารดาหลังคลอดทุกราย และในกรณีจะใช้การนวดเต้านมเพื่อการรักษาควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อจะได้ไม่เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น และอาจจะเกิดโทษได้ในกรณีที่ผู้ที่นวดเต้านมไม่ได้ผ่านการอบรมที่มีมาตรฐาน ซึ่งแทนที่จะลดอาการปวดเต้านม อาจทำให้เต้านมระบมและเกิดการอักเสบหลังการนวดได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Anderson L, Kynoch K, Kildea S, Lee N. Effectiveness of breast massage in the treatment of women with breastfeeding problems: a systematic review. JBI Database System Rev Implement Rep 2019.

 

 

ความร่วมมือในการให้คำแนะนำมารดาในการให้นมลูกของสูติแพทย์และกุมารแพทย์ยังมีน้อย

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                โดยทั่วไป การให้คำแนะนำมารดาในเรื่องการให้นมลูก การใช้ยาและการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในระหว่างการให้นมลูกนั้นเป็นบทบาทของบุคลากรทางการแพทย์ในทุกระดับ หากมองในแง่ของความน่าเชื่อถือและการได้รับการยอมรับจากมารดาและครอบครัว การให้คำแนะนำโดยสูติแพทย์และกุมารแพทย์จะให้ผลดีในด้านนี้มาก แต่เมื่อสำรวจในการปฏิบัติจริงพบว่า บุคลากรทางสาธารณสุข พยาบาล และแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปกลับให้ความร่วมมือในการให้คำแนะนำตามนโยบายในเรื่องข้อควรระวังในการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในระหว่างการให้ลูกกินนมแม่มากกว่าสูติแพทย์และกุมารแพทย์1 จากข้อมูลที่ได้นี้ อาจนำไปใช้ในการจัดแบ่งระดับข้อแนะนำที่สูติแพทย์และกุมารแพทย์ควรแนะนำให้เลือกเฉพาะหัวข้อที่สำคัญโดยมีจำนวนไม่มากและมีการติดตามย้ำในข้อแนะนำเหล่านี้ เพื่อเพิ่มการปฏิบัติให้มากขึ้น และสำหรับข้อแนะนำทั่ว ๆ ไป ควรกำหนดให้บุคลากรทางสาธารณสุข พยาบาล และแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปเป็นผู้ให้ เพื่อความครอบคลุมที่มากกว่า โอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายจากข้อแนะนำก็จะสูงขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Giglia RC, Symons M, Shaw T. The provision of alcohol and breastfeeding information by maternal health practitioners in the Australian setting. Aust N Z J Obstet Gynaecol 2019;59:258-64.

 

ความสัมพันธ์ของ vasopressin กับมารดาและทารก

             รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 Vasopressin เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากไฮโปธารามัสและหลั่งจากต่อมใต้สมองส่วนหลังเช่นเดียวกับออกซิโทซิน มีความสัมพันธ์ของฮอร์โมนนี้กับออกซิโทซินในมารดาและทารกในทิศทางที่ตรงกันข้าม คือ มักพบ vasopressin สูงในมารดาที่มีอายุน้อยกว่า ดัชนีมวลกายมากกว่า ทารกหลังคลอดมีน้ำหนักลดลงมากกว่า และอาจจะเกี่ยวข้องกับการคลอดที่ช้ากว่าด้วย ขณะที่ออกซิโทซิน มักพบในมารดาที่มีอายุมากกว่า ดัชนีมวลกายน้อยกว่า ทารกหลังคลอดมีน้ำหนักลดลงน้อยกว่า และระยะการคลอดที่สั้น ดังนั้น ความรู้พื้นฐานนี้อาจนำไปใช้ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในอนาคต1

ความสัมพันธ์ของออกซิโทซินกับมารดาและทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ออกซิโทซิน เป็นฮอร์โมนที่มีความสัมพันธ์กับสตรีในช่วงวัยเจริญพันธุ์จนมีคำเรียกว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก โดยที่ออกซิโทซินจะมีความสำคัญกับการเจริญพันธุ์ตั้งแต่ การรู้สึกถึงจุดสุดยอดของสตรีเมื่อสตรีมีเพศสัมพันธ์ เมื่อสตรีตั้งครรภ์และเข้าสู่ระยะของการคลอด ออกซิโทซินจะมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการหดรัดตัวของมดลูกในระหว่างการคลอด การพบออกซิโทซินสูงในมารดาระหว่างการคลอดจะสัมพันธ์กับระยะเวลาของการคลอดที่สั้น เมื่อสตรีคลอดบุตรแล้ว ออกซิโทซินจะช่วยให้มดลูกเข้าอู่และช่วยในการหลั่งของน้ำนมขณะทารกดูดนม การที่ทารกกินนมแม่ได้ดี ทำให้ทารกน้ำหนักลดหลังคลอดน้อยลง1 ดังนั้น การเรียนรู้ให้มีความเข้าใจกับฮอร์โมนออกซิโทซินอย่างลึกซึ้งจึงมีความจำเป็น เพื่อเข้าใจบทบาทและความสำคัญของออกซิโทซินที่มีผลต่อสุขภาวะของการเจริญพันธุ์ของสตรี

เอกสารอ้างอิง

  1. Erickson EN, Carter CS, Emeis CL. Oxytocin, Vasopressin and Prolactin in New Breastfeeding Mothers: Relationship to Clinical Characteristics and Infant Weight Loss. J Hum Lact 2019:890334419838225.