คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

นมแม่ช่วยน้ำหนักมารดาลดลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  โดยทั่วไปสตรีมักวิตกกังวลเรื่องอ้วน ซึ่งจากค่านิยมในการบำรุงโดยให้มารดาเพิ่มการรับประทานอาหาร ซึ่งมักรับประทานอาหารเกินกว่าความต้องการของร่างกายระหว่างการตั้งครรภ์ สิ่งที่พบคือน้ำหนักขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์มากกว่าปกติ ซึ่งนอกจากจะเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ระหว่างการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเพิ่มความวิตกกังวลเรื่องอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกินที่จะพบเมื่อมารดาคลอดบุตรไปแล้ว การควบคุมอาหารให้ได้ครบหมู่และมีปริมาณที่พอดีในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอดจะช่วยป้องกันมารดาที่จะมีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนหลังคลอดได้ นอกจากนี้ การให้ลูกกินนมแม่จะช่วยให้มารดามีน้ำหนักลดลงได้ดี โดยหลังคลอดเมื่อมารดาให้นมลูกจะมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น และพบว่ามารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจะมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 500 กิโลแคลอรีต่อวัน1 ซึ่งผลของน้ำหนักที่ลดลงของมารดาจะเห็นได้ชัดที่หกเดือนและที่หนึ่งปีครึ่งหลังคลอด1,2

เอกสารอ้างอิง

  1. Dieterich CM, Felice JP, O’Sullivan E, Rasmussen KM. Breastfeeding and Health Outcomes for the Mother-Infant Dyad. Pediatric Clinics of North America 2013;60:31-48.
  2. Baker JL, Gamborg M, Heitmann BL, Lissner L, Sorensen TI, Rasmussen KM. Breastfeeding reduces postpartum weight retention. Am J Clin Nutr 2008;88:1543-51.

 

นมแม่ช่วยลดมดลูกเข้าอู่ได้ดีขึ้น

                รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                   การเข้าอู่ของมดลูก คือการที่มดลูกที่ขยายตัวจากการตั้งครรภ์ที่จะมีขนาดที่ใหญ่ คลำได้จากหน้าท้อง จะมีการหดตัวกลับเข้าสู่ขนาดใกล้เคียงกับก่อนการตั้งครรภ์ และอยู่ในช่องกระดูกอุ้งเชิงกราน ซึ่งจะไม่สามารถคลำได้จากทางหน้าท้อง การที่มดลูกลดขนาดลงและกลับเข้าสู่ตำแหน่งในอุ้งเชิงกรานก็จะเปรียบเทียบเป็นลักษณะที่คนโบราณเรียกกระบวนการนี้ว่า การเข้าอู่ กลไกนี้ต้องอาศัยการทำงานของฮอร์โมนออกซิโตซิน ดังนั้นการอธิบายกลไกนี้จะมีลักษณะเดียวกับการป้องกันการตกเลือดหลังคลอด คือการที่ทารกได้ดูดนมแม่ จะช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซินจากต่อมใต้สมองส่วนหลัง ซึ่งฮอร์โมนออกซิโตซินนี้จะมีบทบาทในการช่วยให้มดลูกหดตัวดี ซึ่งการหดรัดตัวที่ดีของมดลูกจะช่วยให้กลไกการหดรัดตัวของมดลูกกลับสู่ขนาดใกล้เคียงกับก่อนการตั้งครรภ์ทำได้ดี1

เอกสารอ้างอิง

  1. Dieterich CM, Felice JP, O’Sullivan E, Rasmussen KM. Breastfeeding and Health Outcomes for the Mother-Infant Dyad. Pediatric Clinics of North America 2013;60:31-48.

 

นมแม่ช่วยลดการตกเลือดหลังคลอดของมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 การที่ทารกได้ดูดนมแม่ จะช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซินจากต่อมใต้สมองส่วนหลัง ซึ่งฮอร์โมนออกซิโตซินนี้จะมีบทบาทในการช่วยให้มดลูกหดตัวดี ซึ่งหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงกลไกนี้อาจสังเกตุได้ขณะที่ลูกดูดนม มารดาจะรู้สึกปวดเกร็งที่ท้องน้อย นั่นก็เป็นอาการที่แสดงถึงผลของการให้ลูกดูดนมที่ช่วยให้มดลูกหดรัดตัวได้ การหดรัดตัวที่ดีของมดลูกจะลดความเสี่ยงในการเกิดลดการเสียเลือดและการตกเลือดหลังคลอด1 ซึ่งปัจจุบันยังพบว่า การตกเลือดหลังคลอดยังเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตของมารดา

เอกสารอ้างอิง

  1. Dieterich CM, Felice JP, O’Sullivan E, Rasmussen KM. Breastfeeding and Health Outcomes for the Mother-Infant Dyad. Pediatric Clinics of North America 2013;60:31-48.

นมแม่ช่วยลดความเจ็บปวดจากการเจาะเลือด

อ่านเพิ่มเติม นมแม่ช่วยลดความเจ็บปวดจากการเจาะเลือด

นมแม่ช่วยให้ลูกอารมณ์ดี

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ช่วงเวลาที่ลูกกินนมแม่นั้น มารดาได้ส่งผ่านความรักความอบอุ่นผ่านทางการสัมผัส การสบตา และการพูดจาระหว่างการให้นม ซึ่งหากมารดาได้ใช้โอกาสนี้ในการสื่อสารและถ่ายทอดอารมณ์ไปยังทารก เชื่อว่าทารกจะสัมผัสและรับรู้ได้ อย่างไรก็ตาม อารมณ์ของทารกเป็นสิ่งที่วัดยาก มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการกินนมแม่กับอาการหงุดหงิดร้องกวนของทารก ซึ่งพบว่า ระยะเวลาของการกินนมแม่แปรผกผันกับการหงุดหงิดหรือร้องกวนของทารกที่อายุเก้าเดือน (OR = 0.98, 95% CI: 0.97-0.99)1 ซึ่งหมายความว่า ทารกที่กินนมแม่นานจะหงุดหงิดหรือร้องกวนน้อยกว่าทารกที่กินนมแม่ในช่วงสั้น ๆ โดยอาจจะตีความเป็นนัยว่า ทารกที่กินนมแม่นานจะมีอารมณ์ดีมากกว่า

เอกสารอ้างอิง

  1. Taut C, Kelly A, Zgaga L. The Association Between Infant Temperament and Breastfeeding Duration: A Cross-Sectional Study. Breastfeed Med 2016;11:111-8.