คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

ความเสี่ยงของการใช้สารอาหารอื่นแทนนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               ความเสี่ยงจากการไม่ได้กินนมแม่ เกิดจากการขาดการได้รับภูมิคุ้มกันที่มีในนมแม่ ซึ่งเป็นผลให้มีการเจ็บป่วยบ่อย และการขาดความสมดุลของการได้รับสารอาหารที่จำเป็นที่จะช่วยในการพัฒนาการเจริญเติบโตของสมองและการพัฒนาการของลำไส้   สำหรับความเสี่ยงของการใช้สารอาหารอื่น ๆ แทนนมแม่ 1 ได้แก่

  • นมผงดัดแปลงสำหรับทารกอาจจะปนเปื้อนจากความผิดพลาดในการผลิต
  • นมผงดัดแปลงสำหรับทารกอาจจะไม่สะอาด มีเชื้อโรคที่ทำให้ทารกติดเชื้อและเสียชีวิตได้
  • น้ำที่ใช้ล้างขวดนมอาจจะไม่สะอาด หรือน้ำที่ใช้ผสมนมอาจปนเปื้อน
  • ความผิดพลาดในการผสมหรือชงนม โดยอาจจะผสมข้นหรือจางเกินไป ทำให้ทารกเจ็บป่วยได้
  • คนในครอบครัวอาจจะผสมนมเจือจางเพื่อให้ใช้ได้นมขึ้น
  • นมผงดัดแปลงสำหรับทารกอาจจะทำให้ทารกที่ร้องไห้สงบลงได้ แต่จะนำไปสู่ปัญหาเรื่องน้ำหนักเกิน และการใช้อาหารแก้ปัญหาเมื่อมีความรู้สึกทุกข์ใจ
  • น้ำหรือชาที่ให้แทนนม อาจทำให้ทารกกินนมได้น้อยลงเป็นผลให้น้ำหนักตัวขึ้นน้อย
  • การซื้อนมผงดัดแปลงสำหรับทารกเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นสำหรับครอบครัว ซึ่งหมายถึงการทำให้ค่าใช้จ่ายในด้านอาหารของสมาชิกในครอบครัวลดลงด้วย
  • การตั้งครรภ์ถี่อาจจะเป็นภาระของครอบครัวและสังคม
  • ค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลสูงขึ้นในการจ้างบุคลากร การใช้วัสดุการแพทย์และยาเพื่อใช้ในการดูแลการเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้น

            ความเสี่ยงในการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกแทนนมแม่อาจลดลงได้จากความตั้งใจ ใส่ใจในการดูแลการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกแทนนมแม่และการดูแลเรื่องความสะอาดในการเตรียม อย่างไรก็ตาม ยังมีความแตกต่างของผลประโยชน์และส่วนประกอบของนมผงดัดแปลงสำหรับทารกกับนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

นมแม่อาจช่วยภาวะกระดูกพรุนในวัยทองของมารดาได้

                รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

           มารดาบางคนอาจมีความกังวลเรื่องภาวะกระดูกพรุนในระหว่างการตั้งครรภ์และให้นมลูก หากมีการรับประทานแคลเซียมในปริมาณที่ไม่เพียงพอ ร่างกายจะไปดึงแคลเซียมจากกระดูกมาใช้ แต่มีการศึกษาพบว่าแม้ในระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีผลต่อระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในร่างกายมารดา โดยยิ่งระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่นานจะมีผลต่อการสูญเสียมวลกระดูก ซึ่งการสูญเสียมวลกระดูกจะพบภาวะกระดูกพรุนได้ แต่ก็เป็นพียงชั่วคราว1 และเมื่อมารดาหยุดการให้นมลูก มวลกระดูกจะกลับสู่ปกติหรือเพิ่มขึ้นและอาจส่งผลในการป้องกันภาวะกระดูกพรุนในวัยทองได้ ซึ่งควรมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต2

เอกสารอ้างอิง

  1. Hwang IR, Choi YK, Lee WK, et al. Association between prolonged breastfeeding and bone mineral density and osteoporosis in postmenopausal women: KNHANES 2010-2011. Osteoporos Int 2016;27:257-65.
  2. Grimes JP, Wimalawansa SJ. Breastfeeding and postmenopausal osteoporosis. Curr Womens Health Rep 2003;3:193-8.

นมแม่ช่วยคุมกำเนิดในมารดาได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 ในสมัยโบราณ การที่จะให้สตรีเว้นระยะของการมีบุตรสามารถทำได้โดยการให้ลูกกินนมแม่ ซึ่งต่อมาเมื่อมีการศึกษาวิจัยเพิ่มขึ้น พบว่าการให้ลูกกินนมแม่จะช่วยในคุมกำเนิด โดยเหตุผลที่ช่วยในการคุมกำเนิดอธิบายจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยชะลอการตกไข่และการมีประจำเดือน1 จึงมีการเรียกวิธีการคุมกำเนิดนี้ว่า “วิธีการคุมกำเนิดโดยการให้นมลูก (Lactation Amenorrhea Method; LAM)” ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสามารถช่วยให้มารดาเว้นระยะการมีบุตรได้ โดยประสิทธิภาพของวิธีการคุมกำเนิดโดยการให้นมลูกจะสูงถึงร้อยละ 98 ในการป้องกันการตั้งครรภ์2 โดยมีข้อสังเกตที่จำเป็นต้องมีในการเลือกวิธีการคุมกำเนิดวิธีนี้ 3 ข้อ ได้แก่

         ประการที่หนึ่งคือ มารดาต้องไม่มีประจำเดือน

          ประการที่สอง มารดาต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวทั้งกลางวันและกลางคืน และไม่เว้นช่วงการให้นมลูกที่นานเกินไป

          ประการที่สาม คือ ใช้ได้ในหกเดือนแรกหลังคลอด

          หากมารดาพบว่าไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไข 3 ประการได้ ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดจะลดลง3 มารดาควรคุมกำเนิดด้วยวิธีการคุมกำเนิดอื่นเพิ่มเติมด้วยเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในป้องกันการตั้งครรภ์4 ซึ่งปัจจุบันอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกหลังคลอดในประเทศไทยพบร้อยละ 23 การนำวิธีการคุมกำเนิดโดยการให้นมลูกไปใช้ในช่วงหกเดือนแรกจะช่วยลดการใช้ยาเพื่อคุมกำเนิด อย่างไรก็ตาม ควรให้คำปรึกษามารดาถึงเงื่อนไขการปฏิบัติที่เหมาะสม เนื่องจากมารดายังขาดความรู้และความเข้าใจว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการคุมกำเนิดได้5 การรณรงค์ในเรื่องนี้อาจช่วยอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวให้สูงขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Gross BA, Burger H. Breastfeeding patterns and return to fertility in Australian women. Aust N Z J Obstet Gynaecol 2002;42:148-54.
  2. Fabic MS, Choi Y. Assessing the quality of data regarding use of the lactational amenorrhea method. Stud Fam Plann 2013;44:205-21.
  3. Turk R, Terzioglu F, Eroglu K. The use of lactational amenorrhea as a method of family planning in eastern Turkey and influential factors. J Midwifery Womens Health 2010;55:e1-7.
  4. Shaaban OM, Hassen SG, Nour SA, Kames MA, Yones EM. Emergency contraceptive pills as a backup for lactational amenorrhea method (LAM) of contraception: a randomized controlled trial. Contraception 2013;87:363-9.
  5. Ozsoy S, Aksu H, Akdolun Balkaya N, Demirsoy Horta G. Knowledge and Opinions of Postpartum Mothers About the Lactational Amenorrhea Method: The Turkish Experience. Breastfeed Med 2018;13:70-4.

นมแม่ช่วยลดการเกิดมะเร็งเต้านมในมารดา

                รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในสตรี และเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ การที่มารดาให้ลูกกินนมแม่ช่วยลดการเกิดมะเร็งเต้านมได้ มีคำอธิบายถึงกลไกที่ช่วยลดการเกิดมะเร็งเต้านม1  ดังนี้

  • เกิดจากการที่ขณะมารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่มีการตกไข่ ทำให้ลดความโอกาสหรือระยะเวลาในการได้รับฮอร์โมนเพศของสตรีลง
  • เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเต้านมที่พัฒนาไปสู่ระยะที่สมบูรณ์ในขณะที่ให้นมแม่
  • เกิดจากการลดการได้รับสารพิษจำพวก organochlorine ในระหว่างที่มารดาให้นมแม่
  • เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในการแสดงออกของ growth factor เบต้าที่มีผลในการต่อต้านเซลล์มะเร็ง

                จากงานวิจัยที่เป็นการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) พบว่า การให้ลูกนมกินนมแม่ช่วยลดมะเร็งเต้านมได้ โดยมารดาเคยให้ลูกกินนมแม่ช่วยลดการเกิดมะเร็งเต้านมได้ถึงราวร้อยละ 10-15 ขณะที่มารดาที่ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวช่วยลดการเกิดมะเร็งเต้านมได้ราวร้อยละ 28-501,2 ซึ่งระยะเวลาที่ให้นมลูกยิ่งนานยิ่งลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมมากขึ้น โดยบางรายงานพบว่าหากมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานมากกว่าหกเดือนจะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมได้ดีกว่า3,4 อย่างไรก็ตาม ในมารดาที่เคยให้นมลูกไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใดก็มีผลในการป้องกันมะเร็งเต้านมได้2 

เอกสารอ้างอิง

  1. Zhou Y, Chen J, Li Q, Huang W, Lan H, Jiang H. Association between breastfeeding and breast cancer risk: evidence from a meta-analysis. Breastfeed Med 2015;10:175-82.
  2. Unar-Munguia M, Torres-Mejia G, Colchero MA, Gonzalez de Cosio T. Breastfeeding Mode and Risk of Breast Cancer: A Dose-Response Meta-Analysis. J Hum Lact 2017;33:422-34.
  3. Gonzalez-Jimenez E, Garcia PA, Aguilar MJ, Padilla CA, Alvarez J. Breastfeeding and the prevention of breast cancer: a retrospective review of clinical histories. J Clin Nurs 2014;23:2397-403.
  4. Nagata C, Mizoue T, Tanaka K, et al. Breastfeeding and breast cancer risk: an evaluation based on a systematic review of epidemiologic evidence among the Japanese population. Jpn J Clin Oncol 2012;42:124-30.

 

นมแม่ช่วยลดการเกิดมะเร็งไทรอยด์ในมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ไทรอยด์เป็นต่อมที่สร้างฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเผาพลาญพลังงานในร่างกาย และยังมีหน้าที่อื่นร่วมด้วย ต่อมไทรอยด์จะอยู่คอ ซึ่งจะสังเกตว่ามีการเคลื่อนขึ้นลงตามการกลืน เมื่อเกิดความผิดปกติของเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในต่อมไทรอยด์ และเปลี่ยนแปลงไปมะเร็ง อาการที่ตรวจพบคือ การคลำได้ก้อนที่คอบริเวณตำแหน่งของต่อมไทรอยด์ อาจมีอาการเสียงแหบ หายใจหรือกลืนลำบาก และเจ็บที่ลำคอได้ มะเร็งไทรอยด์พบในผู้หญิงบ่อยกว่าในผู้ชายถึง 3 เท่า การที่มารดาเคยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งไทรอยด์ลงร้อยละ 9 และการเพิ่มการให้ลูกกินนมแม่ทุกหนึ่งเดือนจะลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งไทรอยด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 41

เอกสารอ้างอิง

  1. Yi X, Zhu J, Zhu X, Liu GJ, Wu L. Breastfeeding and thyroid cancer risk in women: A dose-response meta-analysis of epidemiological studies. Clin Nutr 2016;35:1039-46.