รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
คำถามที่คุณแม่ต้องตอบก่อนที่จะเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือ คุณแม่ต้องรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่? และ ควรเริ่มการเรียนรู้และมีการดูแลส่งเสริมการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่เมื่อไร? สิ่งนี้แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์อาจจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาหรือให้คำตอบกับมารดาได้ มารดาควรเริ่มมาพบแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์เมื่อตั้งทราบว่าตั้งครรภ์ และมีการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องในระยะฝากครรภ์ มารดาต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของร่างกายและการปฏิบัติตัวให้เหมาะสมระหว่างตั้งครรภ์ แต่สิ่งที่ต้องเริ่มเตรียมมารดาสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือควรมีการเริ่มอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ อย่างไรก็ตาม ควรมีการสอบถามมารดา โดยเปิดโอกาสให้มารดาได้ตัดสินใจในเรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และเตรียมขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้มารดามีความพร้อมในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
น้ำนมเหลือง (colostrum) ฟังจากชื่อแล้วดูไม่ค่อยดี ทั้งที่จริง ๆ แล้วน้ำนมเหลือง ควรจะใช้คำเรียกที่เหมาะสมกว่าคือ หัวน้ำนม เพราะเป็นน้ำนมในระยะแรกที่แม้มีปริมาณน้อยแต่มีภูมิคุ้มกันสูง ซึ่งหัวน้ำนมจะพบใน 1-3 วันแรกหลังคลอดเท่านั้น หลังจากนั้นองค์ประกอบของน้ำนมจะเปลี่ยนแปลงไป มีปริมาณน้ำตาลแลคโตสสูงขึ้น เปลี่ยนเป็นสีขาวและเป็นน้ำนมปกติประมาณ 10-14 วันหลังคลอด การสร้างน้ำนมในระยะแรกจะสัมพันธ์กับฮอร์โมนเป็นหลัก1 แต่เมื่อปรับเปลี่ยนเป็นน้ำนมปกติแล้ว การสร้างน้ำนมจะขึ้นอยู่กับการดูดนมจนเกลี้ยงเต้าของทารก การที่มีระดับอินซูลินที่สูงซึ่งจะควบคุมเมตาบอริซึมของน้ำตาลได้ดีเป็นปัจจัยที่ทำให้การสร้างน้ำนมระยะแรกเกิดได้เร็วกว่า2 ขณะที่มารดาที่มีความเครียดในระหว่างการคลอดมีผลต่อการน้ำนมมาช้า3
เอกสารอ้างอิง
Kulski JK, Hartmann PE, Martin JD, Smith M. Effects of bromocriptine mesylate on the composition of the mammary secretion in non-breast-feeding women. Obstet Gynecol 1978;52:38-42.
Nommsen-Rivers LA, Dolan LM, Huang B. Timing of stage II lactogenesis is predicted by antenatal metabolic health in a cohort of primiparas. Breastfeed Med 2012;7:43-9.
Dewey KG. Maternal and fetal stress are associated with impaired lactogenesis in humans. J Nutr 2001;131:3012S-5S.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า ขนาดของเต้านมนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณไขมันและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เต้านม ส่วนในการสร้างน้ำนมนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณต่อมสร้างน้ำนม โดยทั่วไปต่อมน้ำนมในมารดาที่เต้านมเล็กหรือใหญ่มักเริ่มต้นเท่ากัน และเต้านมของมารดามักดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับลูกตนเองเสมอในการให้นมแม่ จากการเต้านมของมารดามีความหลากหลายในเรื่องขนาด มารดาที่มีขนาดเต้านมเล็กอาจมีความวิตกกังวลว่าตนเองจะให้นมลูกเพียงพอไหม การให้ความเข้าใจกับมารดาในเรื่องเต้านมนั้นมีความสำคัญ ควรชี้ให้เห็นว่า ปริมาณของน้ำนมของมารดาไม่ได้ขึ้นกับขนาดของเต้านม และขนาดของเต้านมที่เล็กไม่มีผลต่อการมาช้าของน้ำนม1 และไม่ควรใช้คำพูดที่วิพากย์ว่า “เต้านมเป็นปัญหา” จะทำให้มารดาตื่นตระหนกและวิตกกังวลได้ 2
เอกสารอ้างอิง
Nommsen-Rivers LA, Chantry CJ, Peerson JM, Cohen RJ, Dewey KG. Delayed onset of lactogenesis among first-time mothers is related to maternal obesity and factors associated with ineffective breastfeeding. Am J Clin Nutr 2010;92:574-84.
ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การสร้างน้ำนมแม่ จะเริ่มเมื่อมารดามีอายุครรภ์ประมาณ 16-20 สัปดาห์ โดยต่อมเต้านมจะมีความพร้อมในการสร้างน้ำนม โดยเซลล์ต่อมน้ำนมที่สร้างน้ำนมจะมีการสะสมไขมัน น้ำตาลแลคโตส เคซีน (casein) และอัลฟาแลคโตอัลบูมิน (α-lactoalbumin)1 อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการตั้งครรภ์จะไม่มีการหลั่งน้ำนมเนื่องจากมารดาจะมีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนที่สร้างจากรกสูงคอยยับยั้งการหลั่งน้ำนม ดังนั้นโดยปกติมักไม่เห็นมีน้ำนมไหลออกในช่วงตั้งครรภ์ ในช่วงนี้เต้านมจะมีการขยายขนาดและมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น น้ำหนักของเต้านมในสตรีปกติจะมีน้ำหนักราว 200 กรัม โดยที่ขณะตั้งครรภ์เต้านมจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 500 กรัม2
เอกสารอ้างอิง
Neville MC, Morton J, Umemura S. Lactogenesis. The transition from pregnancy to lactation. Pediatr Clin North Am 2001;48:35-52.
ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
เต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลงในระยะตั้งครรภ์จนถึงให้นมบุตร ซึ่งสามารถแบ่งเป็นสองช่วงหลัก คือระยะสร้างต่อมน้ำนม (mammogenesis) และระยะสร้างน้ำนม (lactogenesis) โดยในระยะเริ่มตั้งครรภ์จะเป็นระยะสร้างต่อมน้ำนม ซึ่งจะมีการพัฒนาการสร้างเซลล์สร้างน้ำนมที่มีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกันพร้อมกับมีการแตกแขนงของท่อน้ำนมออกมากขึ้นในเนื้อเยื่อเต้านม เต้านมจะขยาย ตึงคัดและเจ็บ หัวนมจะมีสีเข้ม คล้ำขึ้น เมื่อการตั้งครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่สอง จึงเริ่มมีการสร้างน้ำนม แต่โดยทั่วไปจะยังไม่มีน้ำนมไหลออกมา จนกระทั่งถึงระยะหลังคลอด จากกลไกของฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงจะกระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำนม โดยการที่จะส่งเสริมให้น้ำนมมาดี ควรช่วยให้ทารกเริ่มกินนมแม่เร็วตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด จัดท่าให้นมที่เหมาะสม ให้นมบ่อย ๆ และให้นมจนเกลี้ยงเต้า 1
เอกสารอ้างอิง
ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)