รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
โดยทั่วไป ในห้องคลอดมักจะให้มารดางดน้ำและอาหารระหว่างการรอคลอด การปฏิบัติเช่นนี้จำเป็นหรือไม่ เนื่องจากระหว่างการรอคลอด หากใช้เวลานาน มารดาที่ไม่ได้รับประทานอาหารหรือได้รับเพียงน้ำเกลือที่ให้ที่อาจมีน้ำตาล แต่ก็มักมีพลังงานต่ำ ไม่เพียงพอแก่ความต้องการของมารดา โดยเฉพาะเมื่อต้องเบ่งคลอด มารดาอาจอ่อนเพลีย เป็นลม หรือหน้ามืดได้ง่าย ตามข้อมูลทางการแพทย์ อัตราการผ่าตัดคลอดที่ควรเป็นคือร้อยละ 15 หากเรางดน้ำและอาหารเพื่อเตรียมความพร้อมหากมีความจำเป็นต้องผ่าตัดคลอดในมารดา 100 คน จะมีมารดาถึง 85 คนที่ต้องงดน้ำงดอาหารโดยไม่จำเป็น ซึ่งจะทำให้มารดาอ่อนเพลีย มีผลเสียต่อการคลอดและการเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ดังนั้น เมื่อการดูแลการคลอดมักพิจารณาดูแลมารดาตามความเสี่ยง ในมารดาที่มีความเสี่ยงต่ำ การจัดบริการอาหารว่างและน้ำ หากมารดาอยู่ในระยะรอคลอดระยะแรก (latent phase) การอนุญาตให้มารดารับประทานอาหารว่างเล็กน้อยหรือน้ำสามารถทำได้1 เนื่องจากการงดน้ำงดอาหารจะสร้างความเครียดให้กับมารดา ห้องคลอดจึงมีความจำเป็นต้องมีการจัดบริการอาหารว่างและน้ำสำหรับมารดาในกรณีนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย
เอกสารอ้างอิง
O’Sullivan G, Scrutton M. NPO during labor. Is there any scientific validation? Anesthesiol Clin North America 2003;21:87-98.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
สมัยก่อน ห้องคลอดเป็นห้องที่น่ากลัว เพราะนอกจากจะมีเสียงร้องที่เจ็บปวดจากการเจ็บครรภ์ของมารดาแล้ว ยังมีกลิ่นคาวของน้ำคร่ำ และกลิ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ซึ่งล้วนแล้วส่งเสริมให้มารดาเกิดความเครียด ความกลัว และความวิตกกังวลเมื่อต้องเข้าห้องคลอดเพื่อรอคลอด ปัจจุบัน โรงพยาบาลมักมีการปรับปรุงสร้างบรรยากาศ และสร้างความคุ้นเคยให้กับมารดาและครอบครัวโดยการจัดทัวร์ห้องคลอดเพื่อช่วยลดความวิตกกังวลของมารดาที่ต้องมาคลอด การสร้างบรรยากาศในห้องคลอด ห้องรอคลอดควรมีบรรยากาศที่สงบ เงียบ การเปิดเพลงควรให้เป็นทางเลือกสำหรับมารดาเนื่องจากอาจช่วยลดความเจ็บปวดระหว่างการรอคลอดได้1 ,2 แสงไฟควรจัดให้สามารถปรับระดับความสว่างได้ หากมารดาต้องการการพักผ่อน อากาศควรอยู่ในอุณหภูมิที่พอเหมาะ ไม่ร้อนหรือเย็นจัดเกินไป3 ในห้องรอคลอดไม่ควรมีกลิ่นคาวน้ำคร่ำหรือคาวเลือด สำหรับการใช้กลิ่นเครื่องหอมหรือกลิ่นเทียนหอม ควรเป็นทางเลือกเนื่องจากประโยชน์ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ยังไม่ชัดเจน เมื่อมารดารู้สึกผ่อนคลายจากบรรยากาศที่ดีในห้องคลอด การใช้ยาแก้ปวดระหว่างการคลอดจะลดลง ซึ่งเป็นผลดีต่อการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกหลังคลอด
เอกสารอ้างอิง
Hosseini SE, Bagheri M, Honarparvaran N. Investigating the effect of music on labor pain and progress in the active stage of first labor. Eur Rev Med Pharmacol Sci 2013;17:1479-87.
Phumdoung S, Good M. Music reduces sensation and distress of labor pain. Pain Manag Nurs 2003;4:54-61.
Laptook AR, Watkinson M. Temperature management in the delivery room. Semin Fetal Neonatal Med 2008;13:383-91.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การจัดสถานที่ของห้องคลอดมีความสำคัญต่อการคลอดและการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งพื้นที่ของห้องคลอดควรมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการที่บุคลากรทางการแพทย์จะสามารถช่วยเหลือให้มารดาคลอดอย่างปลอดภัยและสามารถช่วยเหลือมารดาและทารกหากพบภาวะแทรกซ้อนได้ โดยมารดาควรอยู่ในห้องคลอดหรือห้องที่จัดไว้สำหรับการรอคลอดและการคลอดในห้องเดียวกัน หากสามารถจัดสถานที่ให้มีการแยกสัดส่วนที่เฉพาะ เป็นส่วนตัว หรือมีบรรยากาศคล้ายที่บ้านทำให้มารดาสงบและผ่อนคลายจะช่วยให้มารดารู้สึกดี จะช่วยให้มารดาผ่อนคลาย และอาจช่วยลดการใช้ยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกหรือออกซิโตซินขณะคลอดได้1 ,2 ซึ่งการที่มารดาผ่อนคลาย สามารถคลอดปกติทางช่องคลอดได้ จะช่วยในการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Hodnett ED, Stremler R, Weston JA, McKeever P. Re-conceptualizing the hospital labor room: the PLACE (pregnant and laboring in an ambient clinical environment) pilot trial. Birth 2009;36:159-66.
Nikodem C. Review: a home-like birth environment has beneficial effects on labor and delivery. ACP J Club 2002;137:29.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
มารดาควรได้รับการเตรียมตัวในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะก่อนการคลอด เพื่อให้มารดามีความรู้ความเข้าใจ และมีความพร้อมที่จะเริ่มนมแม่ได้ทันทีหลังคลอด ซึ่งการเตรียมความพร้อมให้กับมารดาในระยะก่อนคลอด มีกระบวนการจัดการดังนี้
ควรมีการอภิปรายแผนการดูแลระหว่างการคลอดกับมารดาและครอบครัวเมื่อการตั้งครรภ์ใกล้กำหนดคลอด เพื่อลดความวิตกกังวล หลีกเลี่ยงการชักนำการคลอดหรือการผ่าตัดคลอดโดยขาดข้อบ่งชี้
ควรมีการจัดการแนะนำห้องคลอดและทำความรู้จักกับเจ้าหน้าที่ที่ห้องคลอดเพื่อสร้างความคุ้นเคย จัดบริการทางเลือกให้สามีสามารถเข้าร่วมขณะดูแลการคลอดได้โดยการผ่านการอบรมระยะสั้น และจัดบริการการให้คำปรึกษาหรือโทรศัพท์สอบถาม หากมีอาการสงสัยว่าเจ็บครรภ์คลอด
ควรมีการสอนสิ่งที่ต้องปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะหลังคลอด1 ได้แก่ การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ และการเริ่มให้ทารกดูดนมตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด
เอกสารอ้างอิง
Pereira CR, Fonseca Vde M, Couto de Oliveira MI, Souza IE, Reis de Mello R. Assessment of factors that interfere on breastfeeding within the first hour of life. Rev Bras Epidemiol 2013;16:525-34.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การเริ่มต้นที่ดีจะทำให้มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น คำพูดนี้เป็นจริงรวมทั้งในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย การช่วยให้มารดาได้เริ่มให้นมลูกตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด หากทำได้ดีและสามารถเริ่มการให้นมลูกได้ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดจะช่วยให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้นได้ เนื่องจากการเริ่มให้ลูกดูดนมตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดจะกระตุ้นโพรแลกตินที่มีปริมาณสูงในระยะแรกหลังคลอด ซึ่งหากร่วมกับการให้นมมากกว่า 8 ครั้งต่อวันจะทำให้ระดับโพรแลกตินที่เป็นฮอร์โมนที่สำคัญในการสร้างน้ำนมคงมีระดับที่สูงและเป็นผลดีต่อการสร้างน้ำนม แต่หากมารดาเริ่มให้นมลูกช้ากว่า 6 ชั่วโมงแรกหลังคลอดมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรมีการบริหารจัดการการดูแลระหว่างการคลอดและหลังคลอดเพื่อเอื้อให้มารดาสามารถเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีและเร็ว จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Chaves RG, Lamounier JA, Cesar CC. Factors associated with duration of breastfeeding. J Pediatr (Rio J) 2007;83:241-6.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)