คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

หลังคลอดใหม่ มารคาไม่ควรยกของหนักจริงไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

           ข้อมูลนี้เป็นจริง เนื่องจากมารดาที่คลอดปกติแม้จะไม่มีแผลบริเวณหน้าท้อง แต่หลังคลอดใหม่ยังมีการหย่อนของเส้นเอ็นที่ยึดตัวมดลูกร่วมกับขนาดมดลูกจะมีขนาดใหญ่ ดังนั้น เมื่อยกของหนัก (ของหนัก หมายถึงของที่หนักตั้งแต่ 4.5 กิโลกรัมขึ้นไป) การเกร็งผนังหน้าท้องจะเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ทำให้มดลูกที่ไม่กลับเข้าที่เกิดการหย่อนลงไปต่ำกว่าปกติ ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดภาวะกระบังลมหย่อนเมื่อมารดาอายุมากขึ้น โดยหากหย่อนมากจะพบปากมดลูกโผล่ออกมาจากช่องคลอดได้ ดังนั้น ควรรอให้มดลูกเริ่มมีขนาดเล็กลงและเส้นเอ็นที่ยึดมดลูกตึงยึดมดลูกให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมได้ดีขึ้นราว 1 สัปดาห์ สำหรับในกรณีที่ผ่าตัดคลอด การยกของหนักจะทำให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อผนังหน้าท้องที่มีบาดแผลจากการผ่าตัดคลอด ทำให้เกิดการเจ็บหรือหากรุนแรงอาจมีภาวะแผลแยกได้ โดยแผลที่ผ่าตัดแนวยาวตามลำตัวจะมีอาการปวดระบมมากกว่าแผลผ่าตัดแนวขวาง1 ดังนั้น หากผ่าตัดคลอด การยกของหนักควรจะทำเมื่อแผลผ่าตัดยึดกันได้ดีราวร้อยละ 80 ซึ่งจะใช้เวลาราว 4 สัปดาห์หลังการผ่าตัด

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

หลังคลอดใหม่ มารคาไม่ควรขึ้นบันไดจริงไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               ข้อมูลนี้เป็นจริง เนื่องจากมารดาที่คลอดปกติจะมีแผลบริเวณปากช่องคลอดหรือแผลจากการตัดฝีเย็บ เมื่อต้องยกขาขณะขึ้นบันได มารดาจะปวดหรือขัด หากสามารถทำได้ ควรแนะนำมารดาควรนอนชั้นล่างของบ้านและมีห้องน้ำอยู่ใกล้ ๆ หรือในห้องเพื่อดูแลเรื่องน้ำคาวปลาและดูแลแผล1 สำหรับมารดาที่ผ่าตัดคลอดหากแผลผ่าตัดในแนวเดียวกับลำตัวหรือแนวตั้ง การขึ้นบันไดจะมีการเกร็งของกล้ามเนื้อหน้าท้องที่อาจมีผลทำให้เกิดการเจ็บระบมได้ แต่หากแผลผ่าตัดคลอดในแนวขวางหรือแนวบิกินี จะมีการปวดจากการเกร็งหน้าท้องน้อยกว่า ควรรอประมาณ 1-4 สัปดาห์หลังคลอดขึ้นอยู่กับขนาดและความรุนแรงของแผล และเมื่ออาการปวดระบมแผลดีขึ้น การขึ้นบันไดก็สามารถทำได้

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

หลังคลอด มารดาควรปฏิบัติตัวอย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 โดยทั่วไป มารดาจะสามารถจะปฏิบัติกิจกรรมประจำวันได้ โดยร่างกายของมารดาจะค่อย ๆ กลับมาปกติเหมือนในระยะก่อนการคลอดทีละน้อย ในมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มารดาควรจะมีเวลาพักระหว่างวันและในช่วงที่ทารกหลับ เนื่องจากต้องตื่นมาให้นมทารกในช่วงกลางคืน การพักผ่อนไปพร้อมกับทารกจะทำให้มารดาไม่อ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้า ควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนัก การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาหนักที่หนักเกินไป การยกของหนักเกินกว่า 4.5 กิโลกรัมโดยอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของแผลจากการผ่าตัดคลอด หรือทำให้เกิดการภาวะกระบังลมหย่อนในช่วงที่กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่ยึดมดลูกยังไม่มีแรงยึดตึงมดลูกกลับเข้าที่ สำหรับการเดินช้า ๆ การแกว่งแขน การเต้นแอโรบิก  หรือการออกกำลังกายเบา ๆ สามารถทำได้1-3 โดยผลของการออกกำลังกาย เช่น โยคะ และพิลาทิส (pilates) จะช่วยในเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิต ลดความอ่อนเพลีย ลดอาการซึมเศร้าและเพิ่มคุณภาพชีวิตของสตรีหลังคลอด โดยไม่มีผลต่อการให้ปริมาณน้ำนมและการให้นมบุตร4,5 ในประเทศไทยความเชื่อเรื่องการอยู่ไฟ การอาบน้ำร้อน การไม่สระผม การห้ามโดนลมและการกินน้ำอุ่น ยังคงพบได้จากธรรมเนียมปฏิบัติที่ถ่ายทอดกันมา ซึ่งต้องการการสื่อสารและการสร้างความเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติตัวหลังคลอด6

เอกสารอ้างอิง

  1. Zourladani A, Zafrakas M, Chatzigiannis B, Papasozomenou P, Vavilis D, Matziari C. The effect of physical exercise on postpartum fitness, hormone and lipid levels: a randomized controlled trial in primiparous, lactating women. Arch Gynecol Obstet 2014.
  2. Ko YL, Yang CL, Chiang LC. Effects of postpartum exercise program on fatigue and depression during “doing-the-month” period. J Nurs Res 2008;16:177-86.
  3. Davies GA, Wolfe LA, Mottola MF, et al. Exercise in pregnancy and the postpartum period. J Obstet Gynaecol Can 2003;25:516-29.
  4. Ko YL, Yang CL, Fang CL, Lee MY, Lin PC. Community-based postpartum exercise program. J Clin Nurs 2013;22:2122-31.
  5. Dritsa M, Da Costa D, Dupuis G, Lowensteyn I, Khalife S. Effects of a home-based exercise intervention on fatigue in postpartum depressed women: results of a randomized controlled trial. Ann Behav Med 2008;35:179-87.
  6. Kaewsarn P, Moyle W, Creedy D. Traditional postpartum practices among Thai women. J Adv Nurs 2003;41:358-66.

การประเมินการให้นมลูกโดยใช้กราฟการเจริญเติบโตของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การประเมินการให้นมลูกโดยใช้กราฟการเจริญเติบโตของทารก กราฟการเจริญเติบโตของทารก จะมีอยู่ในสมุดประจำตัวทารกที่โรงพยาบาลแจกให้แก่มารดาและครอบครัวก่อนการที่มารดาและทารกจะได้รับการอนุญาตให้กลับบ้าน ซึ่งอาจต้องมีการสอนหรือการแนะนำการใช้กราฟการเจริญเติบโตสำหรับการประเมินการให้นมลูก โดยที่ก่อนการใช้กราฟประเมินการให้นมลูก มารดาควรสังเกตว่ากราฟที่มีอยู่ในสมุดประจำตัวของทารกนั้นเป็นกราฟการเจริญเติบโตมาตรฐานของทารกขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization Growth Curve Standards) ที่ใช้สำหรับทารกที่กินนมแม่หรือไม่ เพราะหากใช้กราฟที่ใช้ข้อมูลของทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก อาจมีความผิดพลาดในการประเมินทารกที่กินนมแม่ นอกจากนี้ วิธีการใช้กราฟการเจริญเติบโตเพื่อการประเมินการกินนมแม่ที่เพียงพอมีข้อจำกัดที่ต้องใช้ช่วงเวลาที่ห่างกันพอควรในการติดตามดูน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงไปของทารกว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่1

เอกสารอ้างอิง

  1. Breastfeeding and the use of human milk. Pediatrics 2012;129:e827-41.

 

การประเมินการให้นมลูกโดยการชั่งน้ำหนักทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              การประเมินการให้นมลูกโดยการชั่งน้ำหนักทารก วิธีการทำโดยการใช้การชั่งน้ำหนักทารกก่อนและหลังการกินนมแม่ (test weighing)1 โดยเครื่องชั่งจำเป็นต้องมีความละเอียดในการอ่านค่าน้ำหนัก ซึ่งมักต้องอ่านค่าน้ำหนักหน่วยเป็นกรัมพร้อมจุดทศนิยม 2 ตำแหน่ง ดังนั้น การชั่งน้ำหนักเพื่อประเมินการให้นมลูกที่บ้าน อาจมีข้อจำกัดเรื่องไม่มีเครื่องชั่งน้ำหนักที่มีความละเอียดมากพอ วิธีนี้จึงมักใช้ที่โรงพยาบาล ในหอผู้ป่วยทารกวิกฤต โดยในทารกคลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักตัวน้อย

เอกสารอ้างอิง

  1. Funkquist EL, Tuvemo T, Jonsson B, Serenius F, Nyqvist KH. Influence of test weighing before/after nursing on breastfeeding in preterm infants. Adv Neonatal Care 2010;10:33-9.